ครม.อนุมัติ 429 ล้าน ควบคุมลัมปีสกิน ในโค-กระบือ

ครม.อนุมัติงบฯกลาง 67 วงเงิน 429 ล้าน ควบคุมลัมปีสกินในโค-กระบือ

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปีสกินในโค กระบือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

พร้อมขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 429,757,831 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปีสกินในโค กระบือ ดังนี้

1. ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกิน ชนิดเชื้อเป็น จำนวน 7,850,000 โดส เป็นเงิน 421,020,000 บาท ประกอบด้วย

1.1 วัคซีนโรคลัมปีสกิน สำหรับโค-กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 10 โดส/ขวด จำนวน 5,000,000 โดส เป็นเงิน 315,000,000 บาท

1.2 วัคซีนโรคลัมปีสกิน สำหรับโค-กระบือ ขนาดบรรจุไม่เกิน 25 โดส/ขวด จำนวน 2,850,000 โดส เป็นเงิน 106,020,000 บาท

Advertisment

2. ค่าจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์สำหรับฉีดวัคซีนและการรักษา จำนวน 8,737,831 บาท
จำนวนวัคซีนดังกล่าวสามารถฉีดให้โค-กระบือได้ 7.85 ล้านตัว กระจาย 70 จังหวัด หรือประมาณร้อยละ 64 ของจำนวนโคกระบือทั่วประเทศ

การดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินในประเทศโดยใช้วัคซีนเป็นมาตรการหลัก ซึ่งตามแผนการใช้วัคซีนในสัตว์จะต้องฉีดวัคซีนต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และมีข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในสัตว์ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การเข้มงวดควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะนำโรค

Advertisment

รวมทั้งการเฝ้าระวังและการรายงานการเกิดโรคที่รวดเร็ว ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบมีรายงานโคป่วยตาย ซึ่งส่วนใหญ่พบการเกิดโรคในกลุ่มลูกโคที่เกิดใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในแนวทางการควบคุมป้องกันโรคลัมปีสกินในประเทศไทยต่อไป กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปีสกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมีข้อพิจารณาให้มีการกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวต่อไป ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด เป็นต้นด้วย