“กอบศักดิ์” เผยคสช.เน้นปฏิรูปที่ “ฐานราก” รบ.ที่ผ่านมาทำไทยป่วย “หัวโตแต่แขนขาลีบ”

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ปฏิรูปแนวใหม่ ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน” ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศไทยและยุทธศาสตร์ชาติ ทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเร่งรัดเอาตอนนี้ อาทิ เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กระทรวง ทบวง กรม มีการตั้งกรรมการปฏิรูป กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศไปหลายๆเรื่องซึ่งทุกคนไม่ค่อยเข้าใจ เช่น เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องการเมือง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด แต่ขณะนี้ทุกคนไม่ทันเฉลียวใจ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โดยจะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้กระบวนการการเลือกตั้งจะแตกต่างไปจากเดิมพอสมควร เช่น การใช้สัดส่วนผสม คือ การเลือกหนึ่งคนหนึ่งโหวต หรือวันแมนวันโหวตนั้น ก็เป็นหลักการใหม่ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองไทยที่เราไม่เคยทำกันมา เมื่อก่อนเป็นหนึ่งคนลงได้สองโหวต ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ไม่ว่าพรรคไหนมีฐานเสียงแค่ไหนก็จะได้มีตัวแทนในสภา เช่น พรรคหนึ่งมีฐานเสียง 30 เปอร์เซ็นต์เขาก็จะมีตัวแทนในสภา 30 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ จาก 500 คนก็จะมี 150 คน แต่จะไม่มีกรณีที่มีฐานเสียง 30 เปอร์เซ็นต์แล้วมีคนในสภา45เปอร์เซ็นต์เหมือนในอดีต เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะทำให้สภาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และมีตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงตามสัดส่วนจริงที่เกิดขึ้น เรื่องการเมืองถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ไม่ว่าการเลือกตั้งส.ว. การเลือกตั้งส.ส. กฎ ระเบียบของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องผลกระทบของรัฐธรรมนูญต่อการปฏิรูป เรื่องมาตรา 77 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทำให้ทุกกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) นั้นจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายรอบมาก ทำให้ประชาชนส่งข้อคิดเห็นต่างๆเข้ามา ซึ่งตรงนี้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ ออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเชื่อว่าหลายคนยังไม่ได้ให้ความสำคัญหรือเฉลียวใจในเรื่องนี้มากนัก แต่รัฐบาลนี้ดำเนินการไปแล้ว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ ที่ดำเนินการคืบหน้าไปมากมีข้อเสนอเข้ามายังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ประมาณ2,000ข้อ และมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆนั้นเพื่อให้เกิดความสำเร็จ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ต้องการชี้ให้เห็นว่าเรื่องการปฏิรูปนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเริ่มต้นคิด หรือเพิ่งเริ่มต้นทำ และผลงานการปฏิรูปก็มีหลายอย่างมาก 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการไปมากพอสมควร เช่น 15 โครงการเพื่อประชาชน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และปลดล็อค และเราจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เรายังเหลือโค้งสุดท้ายที่เหลือ 8 เดือนสุดท้ายนี้เราจะดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปที่เหมาะสม และตอบโจทย์ประชาชนได้

ปัญหาของประเทศไทย คือ ประเทศไทยเข้มแข็งแต่ข้างบน ที่เรามีปัญหาขนาดนี้ เช่นสองมาตรฐาน เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ก็เพราะในอดีตประเทศไทยตั้งใจใช้โมเดลการพัฒนาให้ข้างบนไปก่อนแล้วค่อยๆ ไหลเรียงลงไปข้างล่าง ปรากฏว่าเราทำมา 50 ปี หัวขบวนไปโลด แต่ข้างล่างค่อยๆ ตามมาอย่างช้าๆ ซึ่งพอไปดูพบว่า พอทำในลักษณะนี้ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยเพิ่มขึ้น

แล้วที่น่าเสียใจที่สุดเหมือนประเทศไทยเป็น “โรคตานขโมย” โดยที่เราไม่รู้ตัว คือ เป็นโรคที่หัวโต พุงโล ก้นปลอด แล้วตัวแขนขาลีบ เปรียบได้จากกรุงเทพโต อีอีซีโต แต่ชนบทลีบไปหมด ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศมา 50 ปี ชนบทอ่อนแอทุกหย่อมหญ้า ประชาชนเหลือแต่คนแก่และเด็ก และมีแต่หนี้ ยืนไม่ไหวแล้ว และนับวันก็ยิ่งจะลำบากต่อไป รัฐบาลชุดนี้จึงตั้งใจว่า เราต้องมีโครงการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยพัฒนาตามลำดับขั้น เริ่มจากข้างล่างก่อนแล้วขึ้นไปข้างบน แต่ปรากฏว่ารัฐบาล 50 ปีที่ผ่านมา พัฒนาข้างบนไปก่อนเพื่อลงไปสู่ข้างล่างแต่ก็ไม่ถึงเสียที ดังนั้นนี่คือสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจแล้วมี 15 โครงการเกิดขึ้นเพื่อเร่งเครื่องทำให้ทันในรัฐบาลนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงประชาชน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า คำถามที่ทุกคนชอบถามคือทำไมต้องปฏิรูป การปฏิรูปสำคัญอย่างไร จะเห็นได้ว่าประชาชนชอบพูดว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เลือกตั้งก่อนปฏิรูป นั้นตนเห็นว่าเป็นการปั่นกระแสทางการเมืองว่าต้องมีการเลือกตั้งหรือปฏิรูปก่อนกัน แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการปฏิรูปต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งแต่ต้องทำการปฏิรูป เพราะประเทศไทยเราเริ่มช้ากว่าคนอื่น 3-4 ปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีปัญหาเราโตไม่ค่อยออก ส่งออกไม่ค่อยได้

เราเริ่มตกอันดับการขายข้าว ตกอันดับเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน แม้แต่เรื่องการศึกษา และอื่นๆที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่ ซึ่งต้องทำในคราวนี้ที่เป็นโอกาสเปิดขึ้นมา เพราะถ้าไม่เริ่มเมื่อกลับไปสู่กระบวนการการเมืองปกติ ปัญหาที่เคยมีมาก่อนอาจจะกลับคืนมาก็ได้ จะเห็นว่าภาคเอกชนให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เขาจะมีกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นคนที่บริหารการเปลี่ยนแปลงได้ดีคือคนที่จะชนะเลิศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามอดีตประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งตอนนั้นประเทศไทย เปลี่ยน พลิกโฉมทุกอย่าง และเป็นรากฐานของการพัฒนาถึงขณะนี้ ดังนั้นถึงยุคที่เราต้องปฏิรูปครั้งใหญ่อีกรอบหนึ่ง และถ้าเราทำได้ประเทศไทยจะมีกลไกในการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อยุคสมัย รัฐบาลนี้จึงดำเนินการ

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์