
ประวัติ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา 6 นายกรัฐมนตรี คุมทีมเจรจา สงครามการค้า ที่เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ หลังประธานาธิบดี ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศชักธงขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าจาก 185 ประเทศทั่วโลก
ประเทศไทยแม้อยู่ในเงาของจีน และพันธมิตรอาเซียน หลบไม่พ้นเรดาร์อำมหิตทางเศรษฐกิจการค้า โดนตั้งกำแพงภาษีสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์
นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า กลุ่มชาติที่เป็นพันธมิตรกับจีน ล้วนโดนรีดภาษีหนักที่สุดเรียงตามลำดับ ความสนิทชิดเชื้อมาตั้งแต่ยุคทศวรรษก่อนหน้า อาทิ กัมพูชาและลาวถูกขึ้นภาษีหนักที่สุดในอาเซียน อัตรา 49% และ 48% ตามลำดับ
ตามด้วยเวียดนาม 46% และเมียนมา 44% ขณะที่ไทย พันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารของสหรัฐถูกจัดไว้ในพิกัด 36% ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนที่ถูกจัดเก็บต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย และบรูไน 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
พันศักดิ์ : เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
กลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ ที่โดนรีดภาษีหนัก ล้วนเคยอยู่ในในกลุ่ม “อินโดจีน” ในยุค 2531-2534 ซึ่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ภายใต้ข้อเสนอมาสเตอร์พีช ของที่ปรึกษาสมองเพชร “พันศักดิ์ วิญญรัตน์”
นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า 37 ปีก่อน กลั่นจากทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” นำโดยอดีตนักหนังสือพิมพ์-นักคิด นอกจาก “พันศักดิ์” แล้วยังมี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, ณรงค์ชัย อัครเศรณี และชวนชัย อัชนันท์
นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า นำไปสู่การยุติความขัดแย้งทางชายแดน มีโครงการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในไทยและอาเซียนหลายโครงการ ดันพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับฉายา “มิสเตอร์อินโดจีน” พร้อมกับการสร้างคอนเน็กชั่นใหม่ ๆ ให้กับนักธุรกิจไทยกับกลุ่มอำนาจที่คุมโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ที่สานสัมพันธ์มาถึงทุกวันนี้
ประวัติพันศักดิ์ วิญญรัตน์ คุมทีมเจรจาภาษีทรัมป์
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ นายประยูร วิญญรัตน์ ผู้ซึ่งใฝ่ฝันจะเป็นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่หลังจากจบการศึกษาจากอังกฤษได้ทำงานในกระทรวงการคลัง ระหว่างนั้นพ่อของพันศักดิ์ได้รู้จักกับบุญชู โรจเสถียร ซึ่งเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ชักชวนเข้าสู่วงการธนาคาร และได้เป็นผู้ร่วมบริหารกับ ชิน โสภณพนิช
พี่ชายของพันธ์ศักดิ์ เป็นนักธุรกิจ ชื่อ สรดิษ วิญญรัตน์ เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) และมีพี่สาวคือ ศรี ตุลานันท์ (สมรสกับ เดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ)
พันศักดิ์ พนักงานธนาคาร-นักหนังสือพิมพ์
ชีวิตส่วนตัวการศึกษา พันศักดิ์ เกิดในช่วงหลังสงคราม 19 สิงหาคม 2486 (อายุ 82 ปี) เริ่มเรียนหนังสือที่ วชิราวุธวิทยาลัย แล้วไปจบปริญญาตรีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) เริ่มทำงานครั้งแรกในฝ่ายวิชาการ ธนาคารกรุงไทย ต่อมาไปเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World (ต่อมารวมกับ Bangkok Post) และเป็นนักข่าวให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ
พันศักดิ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่มีชื่อเสียงขั้นสุด เมื่อเขาอยู่ในสังกัด “หนังสือพิมพ์ จัตุรัสรายสัปดาห์” หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์จัตุรัสถูกสั่งปิด พันศักดิ์ ในฐานะบรรณาธิการ ถูกจำคุกในข้อหาภัยสังคม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา และบันทึกกันไว้ว่า เขาได้รับการปล่อยเพราะจากการเจรจาของสหรัฐอเมริกา
เคยเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Asia Times ในเครือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รวมถึงเป็นคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ในเครือ เดอะ เมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป
พันศักดิ์ เคยใช้ชีวิตและทำงานที่สหรัฐอเมริกากว่า 10 ปี มีภรรยาคนแรกเป็นชาวอเมริกัน และมีคู่สมรสเป็นชาวไทย คือ อรัญญา วิญญรัตน์
พันศักดิ์ กับ 6 นายกรัฐมนตรี 3 ผู้นำชินวัตร
พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหาร 3 คน คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกรัฐประหารในปี 2534, นายทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารปี 2549, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหารปี 2557 และล่าสุดคือประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
พันศักดิ์ ในฐานะที่ปรึกษานายทักษิณ ชินวัตร ก่อเกิดนโยบายประชานิยม สร้างประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ภายใต้โมเดลนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track) ต่อมาถูกเรียกในเวทีนานาชาติว่า “ทักษิโณมิกส์” ปี 2544-2548 ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี สูงสุดในปี 2546 อัตราสูงสุด 7.2 % ต่ำสุดในปีสุดท้ายของรัฐบาล 2548 อัตรา 4.2%
ตลอดเวลาที่พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เขาใช้ชีวิตกุนซืออยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้ใช้ที่ทำการบ้านพิษณุโลกเลยสักวัน กระทั่งวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ตระกูลชินวัตร ถูกเว้นวรรคให้เข้าสู่อำนาจชั่วคราว แต่นำพรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้ง ดันนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551 ครั้งนั้น พันศักดิ์ ได้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลด้วย
เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ดำรงตำแหน่ง 5 สิงหาคม 2554-7 พฤษภาคม 2557 รวม 2 ปี 9 เดือน 2 วัน พันศักดิ์ ก็ดำรงสถานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประจำการที่บ้านนรสิงห์ ทำเนียบรัฐบาล สร้างผลงานด้วยการเสนอให้ไทยลงทุนรถไฟความเร็วสูง หลายเส้นทาง 1 ในนั้นคือส้นทางเชื่อมต่อจากลาวเข้าไทย และโครงการรถไฟไทย-จีน
หลังรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร พันศักดิ์ ก็ไม่ปรากฏตัวทั้งในทางธุรกิจ และทางการเมือง
11 ปีผ่านไป ตระกูลชินวัตร กลับเข้าสู่ลู่การเมือง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ดันนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ยุคนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน คณะรัฐมนตรี แต่งตั้งพันศักดิ์ เป็นตัวตั้งตัวตีใน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” ตามคำสั่งลงวันที่ 13 กันยายน 2566 มีรายชื่อคณะกรรมการ อาทิ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการ, พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ, หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล กรรมการ, ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ, ชุมพล แจ้งไพร กรรมการ, ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการ, มาริสา สุโกศล หนุนภักดี กรรมการ
ล่วงไป 7 เดือน 26 วัน ของการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จบสิ้นลง นายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตร คนที่ 3 ก้าวขึ้นสู่อำนาจ 18 สิงหาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่กี่วันคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประจำบ้านพิษณุโลก ก็ประกาศว่า มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา พิจารณาเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งมี 5 คน ดังนี้
1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา
2. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา
3. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา
4. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา
5. พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา
มีอำนาจและหน้าที่
- วิเคราะห์และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
- ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสาร ให้ข้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- ปฏิบัติงานอื่นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ภาษีทรัมป์ ทัศนะส่วนตัว “พันศักดิ์”
พันศักดิ์ วัย 82 ปี ยังสูบบุหรี่ ดื่มน้ำหวาน นั่งทำงานที่อาคารไม้ชั้นเดียว ด้านขวามือตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งเป็นเเรือนใหญในบ้านพิษณุโลก ต่างจากจุดที่เคยนั่งเมื่อครั้งเป็นทีมบ้านพิษณุโลก ที่เขานั่งประจำการที่บ้านหลังใหญ่
2 วันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีกับ 185 ประเทศทั่วโลก แม้มีผู้พาดพิงถึง “พันศักดิ์” หลายครั้ง ว่าเขาคือคนที่คุมทีมเจรจา และวางกรอบการดีลกับ “ภาษีทรัมป์” ตั้งแต่หลังทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากว่า 4 เดือนแล้ว
แต่แมสเสจจากพันศักดิ์ มีเพียงในเฟซบุ๊ก ชื่อ “Pansak Vinyaratn” ที่โพสต์ข้อความ ประกอบภาพแอปเปิล ENVY วางอยู่ในจานบนโต๊ะทำงาน ว่า..
To celebrate the coming fresh economic relationship between United States and Siam, I bought a sexy looking American apple named ENVY …
Test report…crunchy, not too sweet , beautiful gentle flagrant, reminiscent of East Coast roses,
ชั้นเชิงลีลาภาษาของระดับกุนซือนายกรัฐมนตรี ถึง 6 คน ยากที่จะคาดได้ว่าเขาต้องการสื่อสารกับใคร และต้องการบอกอะไรกับผู้ติดตามเป็นเพื่อน 827 คน
ชั้นเขิงภาษาของประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ Chat GPT จับประเด็นไว้น่าสนใจ ว่า..
เป็นข้อความที่ “พูดเล่นแบบมีนัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ” ซึ่งสามารถตีความได้หลายระดับ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาบริบทว่าเขาเป็นคนที่มีบทบาทในเชิงนโยบายและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของนโยบายสหรัฐภายใต้ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มปกป้องผลประโยชน์สหรัฐผ่านการขึ้นภาษี (tariffs) และกีดกันการค้า
ลองวิเคราะห์แยกเป็นประเด็นได้แบบนี้
1. “To celebrate the coming fresh economic relationship…”
นี่คือการแสดงนัยว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกำลังจะ “สดใหม่” หรือมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นระหว่างไทย (Siam) กับสหรัฐ ซึ่งอาจสื่อถึงการเจรจาหรือข้อตกลงบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น
• ความร่วมมือด้านการค้าหรือการลงทุน
• การลดอุปสรรคทางการค้า หรือการเจรจาต่อรองบางอย่างที่ประสบผลสำเร็จ
2. “I bought a sexy looking American apple named ENVY…”
คำว่า ENVY มีความหมายสองชั้น
• Envy เป็นชื่อแอปเปิลสายพันธุ์พรีเมียมจากสหรัฐที่ดูดี รสชาติดี ราคาแพง และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคุณภาพและความหรูหรา
• ในเชิงวาทกรรม อาจสื่อถึง “ความอิจฉา” หรือ “แรงดึงดูด” ที่ไทยอาจมีต่อสินค้าอเมริกัน หรือในทางกลับกัน อเมริกาก็อาจเริ่มหันมาสนใจ “ผลไม้แห่งเอเชีย” (เช่นไทย) มากขึ้น
3. การบรรยายรสชาติ: “crunchy, not too sweet, beautiful gentle flagrant, reminiscent of East Coast roses”
ลักษณะการพูดคล้าย “ไวน์โน้ต” – ใช้ภาษาวรรณศิลป์ในการบรรยายรสชาติของแอปเปิล ซึ่งอาจเป็นนัยแฝงทางการทูตว่า
• ของสหรัฐอาจไม่ได้หวานจัด (ไม่ประจบสอพลอ) แต่มี “คุณภาพที่ชัดเจน”
• กลิ่นอายแบบ East Coast roses อาจเชื่อมโยงกับ “ภาคตะวันออกของสหรัฐ” ซึ่งเป็นแหล่งที่มีวัฒนธรรมคลาสสิกและสัมพันธ์เก่าแก่กับต่างชาติ เช่น นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี.
Chat GPT สรุปความหมายโดยรวม ข้อความการโพสต์ของพันศักดิ์ ไว้ว่า
- แสดงท่าทีต้อนรับ และส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการค้ากับสหรัฐ
- เป็นการบอกใบ้ว่าไทยกำลังมองหาโอกาสเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ กับอเมริกา (อาจเป็นการเจรจาทางการค้า, การลงทุน หรือเทคโนโลยี)
- แอบสื่อว่าการค้าภายใต้นโยบายของทรัมป์ แม้จะไม่ “หวาน” หรือผ่อนปรนมาก แต่ก็ยังมีคุณค่าที่น่าลอง และควรบริโภคอย่างชาญฉลาด