พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ : ผู้แทนพรรค คสช. สวมรอยผู้คุมกติกาลงสนามเลือกตั้ง

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็น 1 ในคนการเมืองที่โชกโชนในสมรภูมิการเมืองทั้งใน-นอกสภา เป็นอดีต “หัวหมู่” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ-แกนนำ กปปส.

วันนี้ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” หันหลังให้พรรคที่เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนการเมือง-บ่มเพาะวิชามากว่า 18 ปี

ทว่ากำลังจะเดินหน้าต่อในเส้นทางการเมืองลู่ใหม่ ในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในร่มเงาทำเนียบรัฐบาล

สะท้อนเสียงชาวบ้าน

เขาออกตัวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง เพราะงานที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมาย คือ การแก้ไขปัญหาของประชาชน การรับเรื่องร้องเรียน-ร้องทุกข์ของประชาชน และการสะท้อนปัญหาของประชาชน เพราะเคยเป็นผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาก่อน

ช่วง 4 ปีที่ผ่าน ความรู้สึก-เสียงสะท้อนของประชาชนในเรื่องปากท้อง-เศรษฐกิจไม่ดี เป็นเสี้ยนหนามตำ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-ทีมเศรษฐกิจ” มาโดยตลอด เขาจึงมีหน้าที่ต้องสะท้อนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้รับรู้-รับเห็นความจริงทั้งสองด้าน

“ความรู้สึกของประชาชนว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีจะโตก็เป็นความรู้สึกที่สะท้อน ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ต้องรับฟังและต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด แต่อย่างน้อยเมื่อเศรษฐกิจข้างบนโตจะเกิดการจ้างงาน เงินกระจายจะลงสู่เศรษฐกิจฐานล่างแน่นอน”

“แต่ผลงานที่ทำมา 3-4 ปี ไม่มีอะไรที่ทำแล้วได้ประโยชน์ทันทีภายในวันเดียว อาจต้องใช้เวลาเป็นปี อาจจะออกผลปีหน้าซึ่งอาจจะหลังการเลือกตั้งแล้วก็ได้ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดว่าเป็นการหาเสียงและผลต้องออกมาก่อนเลือกตั้ง”

เป็น “ผู้แทน” รัฐบาล-คสช.

“4 ปีที่ผ่านมา ผลงานของรัฐบาลเยอะมาก แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ที่เข้ามาไม่ได้เป็นการเมือง ความแตกต่างระหว่างรัฐบาลที่เข้ามาแบบนี้และไม่ใช่การเมือง คือ ไม่ได้หาเสียง เทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเมืองทำอะไรก็ต้องป่าวประกาศ มีตัวแทน ส.ส.ในต่างจังหวัด อำเภอ เพื่อบอกว่า นี่ ผลงานเรานะ เอางบฯมาให้นะ”

“แต่พอเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ทำงานอย่างเดียว ไม่มีการสื่อสารลงไปสู่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไม่มี ส.ส. ไม่มีตัวแทนลงไปพูดเพื่อทำคะแนน”

“และด้วยการทำงานรวดเร็ว เด็ดขาดของทหาร ทำงานอย่างเดียว ไม่มีการประชาสัมพันธ์ แม้กระทั่งการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนในภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย ๆ”

“ดังนั้นผมจะเข้ามาทำหน้าที่สร้างการรับรู้ผลงานของรัฐบาล แม้เวลาที่เหลือไม่ได้เยอะ ไม่กี่เดือน คนก็ถามว่าจะเข้ามาทำอะไร แต่ผมมองว่าเรื่องที่จะทำไม่ได้เกี่ยวกับเวลา ทำแล้วจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่มาทำดีกว่าไม่ทำ”

เร่งเครื่องโค้งสุดท้าย

เขาวิเคราะห์ว่า แม้รัฐบาลจะมีสื่อของรัฐทุกช่องทาง-ออกรายการเดินหน้าประเทศไทยทุกวัน-พบประชาชนทุกคืนวันศุกร์ แต่ผลงานของรัฐบาลที่ลงแรงไปประชาชนกลับไม่ได้ยิน

“ท่านรัฐมนตรีก็ดี ท่านายกฯก็ดี ด้วยความเป็นทหาร มีความตั้งใจทำงาน โดยไม่ได้คิดถึงว่าจำเป็นไหมที่ต้องมาสื่อสาร อธิบายให้ประชาชนเข้าใจมาก เพราะคิดว่าการตั้งใจก้มหน้าก้มตาทำงานก็เป็นความตั้งใจที่ดี ก็เลยมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะแก้ปัญหา โดยไม่ได้คิด”

“ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง อาจถนัดหน่อยในการหาเสียง ทำผลงานอะไรก็ไปป่าวประกาศให้ประชาชนได้รู้ว่าทำ เพราะอยากได้คะแนน แต่รัฐบาลนี้ทำงานมา 4 ปี ไม่ได้คิดเรื่องโหมดของการหาเสียงเลย มุ่งหน้าทำงานอย่างเดียว”

ถึงแม้การเข้ามาร่วมหอลงโรงกับรัฐบาล-คสช. จะไม่ได้คิดถึงเรื่องการเมือง แต่เขายอมรับว่า ย่อมมีเรื่องการประสานงานการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งเมื่อรัฐบาลเร่งเครื่องในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จึงถูกมองว่าเป็นการ “หาเสียง” เพื่อต้องการ “ไปต่อ”

“มันเป็นจังหวะและโอกาสมากกว่า การที่ 4 ปีที่ผ่านมาตั้งใจทำงานอย่างเดียว ไม่ได้เป็นเรื่องผิดหรือเรื่องแปลก คนอาจจะมองว่าเข้ามาตอนนี้เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้ง”

“ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า เมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะเป็นใครก็ตาม จะไปต่อหรือไม่ ประชาชนเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสิน ไม่มีใครบอกได้ว่า ใครจะไปต่อ หรือใครจะไม่ได้ไปต่อ ทุกอย่างต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง”

“เพื่อความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะไปต่อ หรือไม่ไปต่อก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ผลงานและความตั้งใจของรัฐบาลที่ทำมา 4 ปี ควรมีการสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบในข้อมูลที่เป็นจริง”

“ท้ายสุดเมื่อถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนจะชั่งน้ำหนักเอง แต่ก่อนจะถึงวันนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล โดยการนำผลงานและสิ่งที่ทำไปให้ประชาชนได้รู้ แต่ถ้าไม่สื่อสารให้ประชาชนรู้เลย อาจจะไม่เป็นธรรมกับรัฐบาลมากนัก”

ทหารทำให้บ้านเมืองสงบ

เมื่อ “นักการเมืองรุ่นเก่า” กำลังจะถูก “นักการเมืองรุ่นใหม่” disrupt การเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองในรัฐบาลทหารเพิ่มขึ้น อาจจะเพื่อตั้งรับนักการเมือง disrupt ทหารที่คิดจะลงมาเล่นการเมืองเช่นกันหรือไม่ เขาเห็นต่าง

“ผมมองกลับกัน วันนี้รัฐบาลที่เข้ามาในตอนต้นเป็นรัฐบาลทหาร ต้องมองที่มาที่ไปของรัฐบาลทหารว่า ที่ผ่านมาประเทศเกิดวิกฤตอะไรบ้าง เมื่อเข้ามาแล้ว เขาทำให้บ้านเมืองสงบอย่างไรบ้าง”

“วันนี้พอบ้านเมืองสงบมาได้พักหนึ่ง ก็ไปคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสริม เช่น เศรษฐกิจเป็นอย่างไร จะทำงานการเมืองกันได้ไหม การเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร จะมีเรื่องผลประโยชน์หรือไม่ แต่ลืมว่า ความสงบในบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญ”

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศต้องสงบสุขก่อนมาอันดับ 1 ถึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในด้านอื่น ๆ ได้ หลังจากนั้นถึงจะระดมคนที่มีความสามารถแต่ละด้านเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านอื่น ๆ”

แม้ออกตัวว่า “จ็อบดิสคริปชั่น” คือ การเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล-สะท้อนปากเสียงประชาชน ให้เข้าหูประมุขฝ่ายบริหารบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ทว่าปฏิเสธได้ยากที่จะไม่ต้องรับแรงกระแทก-ชี้แจงแทนรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ ปมสืบทอดอำนาจ ภายหลังเปิดตัว-เปิดชื่อ พปชร.

เคลียร์ทุกหมวกก่อนเลือกตั้ง

ข้อกล่าวหาว่า การมีรัฐมนตรี-คนในรัฐบาลเป็นหัวหน้า-เลขาธิการสวมหมวกพรรคการเมือง รวมถึงตัว “พุทธิพงษ์” ก็สวมหมวก กก.บห.พปชร.อีกใบ จึงถูกจับตามอง-สปอตไลต์ฉายจับจะถูกมองว่าสวมหมวก 2 ใบ-เอาเปรียบพรรคการเมืองคู่แข่ง ควรจะลาออกหรือไม่

“คำถามนี้ยังเร็วเกินไป คำถามนี้ควรถามเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมาก่อนว่าจะรักษาการต่อไปหรือไม่ หรือจะสวมหมวกใบเดียว”

“ตอนนี้ยังไม่ได้ยินท่านนายกฯบอกว่าจะไปอยู่พรรคไหนเลย ท่านบอกเพียงสนใจการเมือง ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ว่าจะสังกัดพรรคไหน สมาชิกพรรคใด”

ในฐานะที่ปรึกษางานการเมือง เขาชั่งน้ำหนักบวก-ลบ ระหว่างประกาศว่าจะอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง กับรอเทียบเชิญพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯคนนอกของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า

“คงตอบแทนท่านยากมาก เพราะยังไม่แน่ใจว่าท่านจะทำงานการเมืองต่อไปหรือไม่ จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร แต่ถ้าท่านตัดสินใจทำงานการเมือง แน่นอนย่อมเป็น 2 ทางนี้”

“สองทางนี้มีทั้ง ข้อดี-ข้อเสีย ต้องดูสถานการณ์ในวันนั้นว่า คนคนนั้นควรจะเป็นใคร และสถานการณ์ในวันนั้นของการเมืองในแต่ละพรรค สถานการณ์เกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเป็นจริง คาดการณ์ไม่ได้เลย”

ไม่ใช่กรรมการ-เป็นผู้เล่น

เขาแก้ต่างให้กับรัฐบาล-คสช. หากจะลุกออกจาก “กรรมการ” ลงมาเป็น “ผู้เล่น” อาจถูกโจมตีจากทุกพรรคการเมือง

“ผมไม่ได้มองว่า ท่านนายกฯเป็นกรรมการ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง สมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้ารัฐประหารก็ตั้งพรรค (มาตุภูมิ) รัฐบาลเลือกตั้งหัวหน้าพรรคก็มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี”

“อย่ามองว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้วทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกคนก็กลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปได้”