“สมคิด”เร่งเกมก่อนเลือกตั้ง โรดโชว์ดึงทุนจีนปั๊มเศรษฐกิจ-ส่งออก

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)

“สมคิด” โรดโชว์ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ พบผู้นำรัฐบาลจีน ดึงลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ไทย เจรจาแจ็ก หม่า, หัวเว่ย ลงทุน 5G ฉวยจังหวะนักลงทุนหนีปัญหากีดกันการค้า ถอยร่นกำเงินลงทุนอาเซียน เผยญี่ปุ่นดีลจีนลงทุนอีอีซี ส่งบีโอไอจับนักลงทุน พาณิชย์ควง65 เอกชน ซี.พี.-เซ็นทรัล บุกเจรจาผู้นำเข้ายักษ์จีน ปักธงเพิ่มตัวเลขการค้าไทย-จีนเท่าตัวใน 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะเดินทางโรดโชว์เศรษฐกิจการค้า การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 3-8 พ.ย. 2561 คาดว่าจะเป็นการโรดโชว์ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

โดยจะมีการพบปะผู้บริหารระดับสูงของจีน เจรจาการค้า และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan Pearl River Delta : PPRD) ที่ครอบคลุม 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง และฮ่องกง มาเก๊า รวมเป็น 11 เมือง นอกจากนั้น อีอีซียังสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับโครงการ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊าได้อีกด้วย ทั้งนี้ PPRD และ GBA ต่างเป็นส่วนหนึ่งของ Belt and Road Initiative

“สมคิด” เจรจา 2 ผู้นำจีน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “จีนจะจัดงาน China International Import Expo (CIIE) ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจทั่วโลกพบปะกับบริษัทผู้นำเข้าของจีน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน จึงได้เชิญผมไปกล่าวปาฐกถา และให้กระทรวงพาณิชย์นำนักธุรกิจไปพบปะกับผู้นำเข้าที่สำคัญฝ่ายจีนด้วย”

ที่กรุงปักกิ่ง นายสมคิด และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.กระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมหารือกับนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ และนายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี

จีนจับมือญี่ปุ่นลงทุนอีอีซี

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า “ขณะนี้จีน ญี่ปุ่น มีนโยบายร่วมมือกันเพื่อลงทุนในประเทศที่ 3 การประชุมใหญ่ร่วม 2 ประเทศครั้งแรกที่ปักกิ่ง ผู้นำทั้งฝ่ายจีนและญี่ปุ่นกล่าวถึงวาระการลงทุนในเขตอีอีซี ในประเทศไทยไว้ด้วย ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา มีผลทำให้นักลงทุนกำลังลงมาที่กลุ่มอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้า ในการนี้จึงให้บีโอไอไปกระตุ้น และชักจูงนักลงทุน พร้อมพบปะนักธุรกิจที่กว่างโจวด้วย”

พบแจ็ก หม่า-หัวเว่ย-ซี.พี.พรึ่บ

ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ นายสมคิดและทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเข้าร่วมงาน CIIE ตามคำเชิญของนายหวัง หย่ง ซึ่งในงานนี้ นายสมคิดจะกล่าวปาฐกถาพิเศษในเวที The Trade and Investment ร่วมกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ

นายสมคิดและคณะจะเข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัท Cai Niao ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ในเครืออาลีบาบา พร้อมทั้งหารือร่วมกับนายแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ในงานเดียวกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด จะเข้าเยี่ยมคารวะด้วย ทั้งนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์, สมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ ร่วมเดินทางไปในงานครั้งนี้ด้วย

สบช่องเทรดวอร์ดึงนักลงทุน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมจะเดินทางไปร่วมโรดโชว์กับคณะรองนายกรัฐมนตรีซึ่งที่เซี่ยงไฮ้จะมีงาน CIIE แสดงศักยภาพของตลาดจีน เพื่อรับมือกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปทำการค้าร่วมกับจีน ขณะที่บีโอไอจะโรดโชว์โครงการเมกะโปรเจ็กต์สำคัญในอีอีซี

“ในส่วนของดีอีจะเน้นไปดูกิจการโชห่วยของจีนที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยต่อยอดได้สร้างความเข้มแข็ง รวมถึงดูงานของไชน่าโพสต์ด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการค้ากับจีน รวมถึงหาช่องทางส่งเสริม SMEs ร้านค้าชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการใช้เทคโนโลยี”

ส่วนการดึงดูดการลงทุนจากจีนที่กระทรวงจะผลักดันคือ โครงการสมาร์ทซิตี้ IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) ดิจิทัลพาร์คที่ศรีราชา และ 5G ซึ่งในเบื้องต้นทางผู้บริหารระดับสูงของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ได้ขอเข้าพบ พร้อมยืนยันว่าจะมีการหารือเรื่องการลงทุนกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยหัวเว่ยยินดีที่จะฝึกอบรมทักษะขั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ทั้งในด้านอินฟราสตรักเจอร์และแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรไทย 100 คนภายใน 1 ปี

“โครงการทดสอบ 5G ในไทยถือเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ทุกบริษัทที่สนใจเข้ามาร่วมทดสอบและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งนอกจากหัวเว่ยแล้วก็พร้อมเปิดรับบริษัทอื่น ไปจีนหนนี้ก็จะไปชวนบริษัทอื่นมาด้วย โดยจะเริ่มทดสอบในปี 2562-2563 ถือเป็นช่วงระหว่างรอประกาศมาตรฐาน 5G จาก ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) เพื่อให้เริ่มเดินหน้าได้ทันทีได้เมื่อมาตรฐานชัดเจน”

บีโอไอโรดโชว์แผนอีอีซี 

สำหรับการโรดโชว์ โดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่นครกว่างโจว เพื่อดึงดูดนักลงทุนสู่เขตอีอีซี ซึ่งมีนักธุรกิจสายอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากเสิ่นเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ เข้าร่วมในงาน Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC โดยมี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงดีอี และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เข้าร่วมนำเสนอแผนงานและทิศทางการพัฒนาอีอีซี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า การเดินทางโรดโชว์แผนการลงทุนครั้งนี้ นอกจากเจาะเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนใน 11 เมืองแล้ว ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

เพิ่มการค้า 140,000 ล้านเหรียญ 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเดินทางร่วมงานมหกรรม CIIE ครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งงานครั้งนี้รวบรวมผู้นำเข้าจากทั่วโลกรวมถึงไทยเข้าร่วมงาน จึงนับว่าสร้างโอกาสและขยายการค้าในตลาดจีนให้เติบโตมากขึ้นในอนาคต

การเดินทางเยือนครั้งนี้จะมีการลงนามบันทึกตกลง (MOU) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในครั้งที่ผ่านมา วางเป้าหมายมูลค่าการค้าร่วมกันให้ได้ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 จากปัจจุบัน 73,670 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในโอกาสนี้ คณะนายสนธิรัตน์จะเยี่ยมชมอูเล่โมเดล โดยพบกับนายลิชาร์ด ลี ผู้บริหารคนใหม่ของอาลีบาบา และร่วมปาฐกถาในงาน Alibaba Summit พร้อมกันนี้จะมีผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัลเดินทางเข้าร่วมงาน CIIE เพื่อขยายตลาดสินค้าออนไลน์ด้วย

โดยมี 65 บริษัทไทยเข้าร่วมด้วย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไทยฮั้ว, ทวินโลตัส จำกัด (มหาชน), กลุ่มศรีตรัง และบิวตี้เจมส์ กลุ่มบริษัทด้านอัญมณี, ด้านการยาง ร่วมคณะเพื่อเจรจาตรงกับกลุ่มบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ของจีน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะเป็นการยกระดับกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม new S-curve การลงทุนในโครงการอีอีซี ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเงินการค้าในระดับเศรษฐกิจภูมิภาค

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ด้านการเข้ามาลงทุนในไทย และหากเกิดความร่วมมือกันเกิดขึ้นก็จะทำให้ไทยเป็นฐานสำคัญในการลงทุนของจีนได้ในอนาคต ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 39,395 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 12.97% จากเป้าส่งออกไปจีนที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 10% ส่วนเป้าหมายการส่งออกของจีน ปี 2562 วางไว้ว่าจะขยายตัว 12% สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

เร่งแพลตฟอร์มสตาร์ตอัพ

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมติดตามความคืบหน้าของการหารือก่อนหน้านี้ ที่นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เดินทางมาเยือนไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะต้องพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และมีแนวคิดที่จะสร้างแพลตฟอร์มด้านนวัตกรรม (Inno Space) โดยมหาวิทยาลัยซินหัว และแพลตฟอร์มด้านสตาร์ตอัพ

สำหรับการลงทุนจากจีน ปัจจุบันมาเป็นอันดับ 5 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 47 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 4,710 ล้านบาท รองจากญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์