ศาลนัดไต่สวนพยานคดี”มาร์ค-สุเทพ”ฟ้อง”ธาริต”ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มี.ค.61 เป็นต้นไป เหตุสลายชุมนุม นปช.ปี 53

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจหลักฐานในคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157 และ 200

กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554-13 ธันวาคม 2555 จำเลยทั้งสี่ได้สรุปสำนวนกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เท่านั้น

โดยในวันนี้จำเลยทั้งสี่ ทนายความจำเลย และทนายความโจทก์เดินทางมาศาล อย่างไรก็ตาม นายธาริต จำเลยที่ 1 เดินทางมาศาลและกลับออกจากศาลบริเวณด้านหลังอาคารหลบเลี่ยงสื่อมวลชน

ศาลได้สรุปคำฟ้องและอธิบายข้อกล่าวหาของโจทก์ให้จำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยทั้งสี่ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีนี้ในชั้นไต่สวนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง แต่ศาลฎีกามีคำสั่งกลับให้รับฟ้อง คดีมีมูลตามข้อกล่าวหา ทนายความโจทก์แถลงต่อศาลขอนำพยานโจทก์เข้าเบิกความประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตัวโจทก์ และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมพยานอื่นเพิ่มเติมซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือนที่ออกคำสั่งในเหตุการณ์ รวมทั้งหมด 8 ปาก ใช้เวลาประมาณ 5 นัด ส่วนทนายความจำเลยแถลงต่อศาลขอนำพยานจำเลยเข้าเบิกความ รวมทั้งหมด 13 ปาก ใช้เวลาประมาณ 8 นัด เพื่อนำสืบข้อเท็จจริงเหตุที่จำเลยแจ้งข้อกล่าวหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผลกับโจทก์ สืบเนื่องจากที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไต่สวนการตายว่ามีผู้ชุมนุมถูกกระสุนจากทหาร หากจำเลยไม่แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานบุคคลตามที่เสนอ โดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ รวม 5 นัด ในวันที่ 6-9 และ 13 มีนาคม 2561 เวลา 09.00 น. นัดสืบพยานจำเลย รวม 8 นัด ในวันที่ 27-30 มีนาคม 2561 และ 24-27 เมษายน 2561 เวลา 09.00 น. สามารถขอเพิ่มเติมพยานได้ โดยกำชับว่าหากต้องการเพิ่มเติมให้ระบุบัญชีพยานแต่เนิ่น และให้จำเลยทั้งสี่มาศาลตามนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ในชั้นไต่สวน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ระบุว่าขณะเกิดเหตุทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และฉบับแก้ไขนั้น เห็นว่าคดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและสั่งให้พนักงานอัยการกล่าวโทษนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาคัดค้าน และศาลฎีกาได้มีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 โดยเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาที่กล่าวหาโจทก์ทั้งสองดังกล่าว ดีเอสไอได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 แล้ว ซึ่งเป็นการยอมรับมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสี่และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษย่อมทราบและเข้าใจบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ว่าดีเอสไอทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุม นปช. ในข้อหาก่อการร้าย โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ และ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลกลับมาให้ดีเอสไอทำการสอบสวนแยกต่างหากแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนมามีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์