บีบ พปชร.ยอมทุกตำแหน่ง ปชป.ไม่ทิ้งคำสัญญา-ภท.มัดจำกระทรวงใหญ่

เกมต่อรองเก้าอี้รัฐบาลยิ่งร้อนแรง หลังจบศึกยกแรก การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ 2

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินสายสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)-พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เข้าร่วมรัฐบาล ที่มี พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้ง “รัฐบาลผสม 19 พรรค” เสียงปริ่มน้ำ 253-254 เสียง

ตัวแทนกลุ่ม-มุ้ง ทั้ง “สุริยะ-สมศักดิ์” แห่งสามมิตร และ “กลุ่ม กทม.” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พันธมิตร “สี่กุมาร” นายอุตตม-นายสนธิรัตน์ กางนโยบาย แนบท้ายโผรัฐมนตรีรัฐบาลใหม่ประจันหน้า

“ในเรื่องนโยบาย เอามาทาบกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนตำแหน่งยังมีเวลาในการลงรายละเอียด พูดคุยกันได้ วันนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การหารือกันต่อไป” อุตตมเปิดเผยหลังส่งเทียบเชิญ-สู่ขอประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

ประชาธิปัตย์ ที่มี “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค และ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคเป็น “มือดีล”

นอกจากต้อง “ปิดดีล” โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ยังต้องขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “วาระหลังเลือกตั้ง” ให้ได้เพื่อตอบคำถาม “คนในพรรค” และ “คนนอกพรรค” กว่า 3.9 ล้านเสียง ก่อนจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ-สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

“นอกจากเรื่องนโยบายที่ต้องทำงานร่วมกันแล้ว เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเบื้องต้นเราเห็นพ้องต้องกันว่า ในส่วนที่เป็นประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาและแก้ไขร่วมกัน นโยบายที่จะนำไปให้กับ พปชร.ที่เป็นแกนนำ คือ ต้องเขียนไว้ในคำแถลงนโยบาย ต้องมีความชัดเจน” นายเฉลิมชัย พ่อบ้านประชาธิปัตย์-มือดีลร่วมรัฐบาลชงแก้รัฐธรรมนูญ มัดจำ-วัดใจพลังประชารัฐให้บรรจุไว้ในคำแถลงนโยบาย

แม้เกมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี-กระทรวงเกรดเอยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะมีอย่างน้อย 2 เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี 3 กระทรวงเกรดทองที่ “ให้ไม่ได้” ได้แก่ 1.รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง 2.รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ 3.รมว.กระทรวงมหาดไทย 4.รมว.กระทรวงคมนาคม และ 5.รมว.กระทรวงการคลัง

ทว่านโยบาย “แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” ที่ประชาธิปัตย์ต้องแบก ผ่านตำแหน่งโควตารัฐมนตรี 7 เก้าอี้ 1 ประธานรัฐสภา ได้แก่ 1.รองนายกรัฐมนตรี 2.รมว.พาณิชย์ 3.รมว.พลังงาน 4.รมว.ศึกษาธิการ 5.รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 6.รมช.มหาดไทย 7.รมช.เกษตรและสหกรณ์ ยังไม่ได้ข้อยุติ

“การแก้ปัญหาเกษตรกร เรามีบทเรียนมาแล้วว่า ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เล่นด้วยกับนโยบายที่สั่งการลงไป ทำให้นโยบายไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อลงไปแก้ปัญหาในพื้นที่” นิพนธ์ มือดีลพรรคสีฟ้าแจกแจงเหตุผลต้องการเก้าอี้กระทรวงมหาดไทย

ด้านพรรคภูมิใจไทยที่ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.อย่างเป็นทางการ แม้ได้เก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 อย่างเป็นทางการ โดย “ครูแก้ว” ศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เข้าวิน เป็นออปชั่นพิเศษที่ “ซื้อใจ” ให้ร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นโควตาพิเศษ ไม่เกี่ยวกับโควตารัฐมนตรี ที่จะต้องได้ 7 เก้าอี้ 1 รองประธานสภา

โดยข่าวที่ถูกปล่อยออกมาจากพรรคสีน้ำเงินยังคงต้องการคุมกระทรวงหลักที่หาเสียงไว้คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย แต่จะได้ว่าการหรือช่วยว่าการต้องรอลุ้น

มีข่าวว่าที่ได้เก้าอี้ “ว่าการ” เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คือ ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข-รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนตำแหน่งในคมนาคม ที่ถือว่าเป็นกระทรวงเกรดเอ ยังต้องแย่งชิงกับพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ยอมปล่อย และยังต้องต่อรองอย่างหนัก มีข่าวว่าครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ จะส่งน้องชาย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรค มานั่งเป็น รมว.คมนาคม แล้วขยับ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข

ส่วนตำแหน่งที่ยังอยากหวังคือ เก้าอี้ รมช.มหาดไทย 2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นที่หมายปองของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน

พรรคที่ “ลงตัว” ที่สุดในยามนี้ คือ “ชาติไทยพัฒนา” ซึ่งมีข่าวว่าได้โควตา จะได้เก้าอี้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีชื่อ “วราวุธ ศิลปอาชา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นตัวเต็ง และ ประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี จะนั่งตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์

ยิ่งใกล้วันโหวตนายกฯ การต่อรองยิ่งหนัก ยิ่งดุเดือดเป็นทวีคูณ


คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่!!  “อุตตม” เทียบเชิญ ชาติไทยพัฒนา “สมศักดิ์” ทีเล่นทีจริง ยกเก้าอี้รองนายกฯให้ “ประภัตร” – “กาญจนา” ถ่อมตัว พรรคเล็กขอ 1 กระทรวงปากท้อง