“สมคิด” เผยนักธุรกิจฮ่องกงสนลงทุนอีอีซีไอ-อีอีซีดี “แครี่ หล่ำ” เชิญฝ่ายไทยร่วมประชุมเส้นทางสายไหมใหม่ เดือนต.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายปีเตอร์ หล่ำ ประธานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกงเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า นายปีเตอร์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานฯคนใหม่และพากลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่มาเยือนไทย

เนื่องจากมีความสนใจการลงทุนในไทยโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(อีอีซีดี)

ขณะเดียวกัน นายปีเตอร์ได้แจ้งว่า นางแครี่ หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เชิญไทยเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อขยายการพูดคุยจากปีที่ผ่านมา

จากที่ฝ่ายไทยต้องการเชื่อมโยง Greater Bay Area (GBA) ซึ่งประกอบด้วยกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า โดยเฉพาะการร่วมมือในกับฮ่องกง ไซเบอร์พอร์ต เพื่อให้เกิดโครงการไทยแลนด์ ไซเบอร์พอร์ต ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพ ใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ผมได้นำเสนอว่าการร่วมมือระหว่างไทย ฮ่องกงและจีนนั้น ควรมีกลไกระดับสูงในรูปแบบคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อที่จะได้เชื่อมไทยเข้ากับฮ่องกงและกวางตุ้ง ซึ่งที่ผ่านมาติดในเรื่องพิธีการที่ประธานผ่านฮ่องกง เป็นระดับผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทางฝ่ายไทยจะเทียบเท่าระดับรัฐมนตรี แต่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งสูงไป แต่ผมได้แจ้งไปแล้วว่าผมไม่ถือ

และผมจะเข้ามาดูแลตรงนี้เองเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะประชุมครั้งแรกและมีการลงนามข้อตกลงในเดือนต.ค.นี้อย่างเป็นทางการ และผมได้เสนอว่านอกจากกลไกฝ่ายรับแล้ว ควรมีองค์ประกอบภาคเอกชนของ 2 ประเทศด้วยเพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง”

นายสมคิดยังได้กล่าวถึงการจัดทำผังเมืองของอีอีซีว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้และคิดว่าการเดินหน้าโครงการอีอีซีจะไม่สะดุด จะเดินหน้าต่อไปตามที่ได้ทำงานมา ส่วนเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง เป็นเรื่องภายในประเทศฮ่องกง เชื่อว่าจะคลี่คลายไปได้ไม่มีการสะดุด และไม่กระทบกับความร่วมมือระหว่างไทยและฮ่องกง

นายสมคิด ได้เปิดเผยด้วยว่า ทางผู้บริหารบริษัทเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าการขยายพื้นที่ลงทุน โครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและโรงผลิตแครกเกอร์สำหรับผลิตปิโตรเคมี มูลค่าการลงทุน 300,000 ล้านบาท ในเขตอีอีซี บริเวณใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนได้สอบถามไปยังสำนักงานส่งเสริมการลงทุนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับปากที่จะจัดหาที่ดินสำหรับตั้งโรงงานให้เสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้

จากนั้นจะทำกระบวนการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งใช้เวลา 1 ปีควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตรงนี้ไทยต้องรีบจัดการให้ ไม่เช่นนั้นเขาก็เลือกไปประเทศอื่นแทน