“เผ่าภูมิ” ลูกหม้อ “ภูมิธรรม” “เพื่อไทย” ผนึกกำลัง…ฝ่ามรสุมขาลง

สัมภาษณ์พิเศษ

ใน 30 คนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกผลักดันมาสู่เบื้องหน้าฉากการเมือง ไม่แพ้นักการเมืองรุ่นเก๋า คือ “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” ด้วยวัยแค่ 36 ปี นาทีนี้ “เผ่าภูมิ” เป็นรองเลขาธิการพรรค 2 สมัย-และคณะทำงานผู้นำฝ่ายค้าน (สมพงษ์ อมรวิวัฒน์) และเป็น “ทีมเศรษฐกิจ” หน้าใหม่ของพรรค เป็นมือ-ไม้ และกำลังหลักของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันพลิกบทไปอยู่หลังฉาก เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค-ผู้นำฝ่ายค้านในสภา หลายวาระ-หลายกรณี “เผ่าภูมิ” จึงถูกผลักขึ้นมากลางสปอตไลต์ พูดแทน “ภูมิธรรม” ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “เผ่าภูมิ” ในจังหวะโคจรมาอยู่ในเพื่อไทย ที่เป็นช่วง “ขาลง” ไม่ใช่ “ขาขึ้น” เขายังมีหวังกับพรรคที่สังกัดอยู่หรือไม่…

แต่ก่อนอื่น “เผ่าภูมิ” เริ่มต้นฉายเส้นทางการเข้าสู่งานการเมืองว่าหลังจากเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of Illinois at Chicago สหรัฐอเมริกา กลับมารับราชการที่สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ 1 ปีเศษ พบว่ากว่าจะผลักดันให้เกิดนโยบายที่อยากผลักดันได้จริง คงใช้เวลา 20 ปี จึงคิดว่าเส้นทางในพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า

“หลังจากได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์บอกนาม) จึงได้ทำงานที่พรรคตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ 22 พ.ค. 2557โดยเข้ามาทำงานช่วยภูมิธรรม เวชยชัย ขณะที่เป็นเลขาธิการพรรค”

เหตุผลที่เลือกเข้ามาอยู่ในเพื่อไทยเขาตอบว่า “เพื่อไทยมีอัตลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ในเชิงซับซ้อน สร้างการผลิตใหม่ ๆ โครงสร้างใหม่ ๆ ให้กับสังคม เป็นพรรคที่พยายามสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นมุมมองสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิด”

ภูมิธรรมทำคลอดการเมือง

ซึ่งผู้ให้กำเนิดทางการเมือง หนีไม่พ้น “ภูมิธรรม” ที่เขาเรียกสั้น ๆ ว่า “พี่อ้วน”

“คนที่ใกล้ชิดและคนที่ให้ผมทุกอย่าง คือ พี่อ้วน รู้สึกว่าชอบใจ คลิกกับคนคนนี้ เป็นคนที่มีความคิดเชิงยุทธศาสตร์เยอะ เวลาคุย 1 2 3 4 เขาคิดไป 10 คิดไปไกลกว่าเราสเต็ปหนึ่ง บางทีเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ผมเป็นสายวิทยาศาสตร์ มาผสมกับสายรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ผมขาด ดังนั้น มาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ตัวเองกลมกล่อมขึ้น แต่ก่อนเป็นคนอะไรที่ตรง ตามหลักการ แต่มาปรับให้เข้ากับบริบท ทำให้เราสมดุลมากขึ้น เมื่อเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ในพรรค”

“พี่อ้วนเป็นนักยุทธศาสตร์ เขามีความสลับซับซ้อนทางความคิดสูง ทุกการวางแผน การขับเคลื่อนของพรรค คิดทั้งหมด แต่ผมมีมุมมองการเมืองไม่เยอะมีแต่เรื่องเศรษฐกิจ พี่อ้วนแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจกับผม ผมก็แลกเปลี่ยนการเมืองกับท่าน เป็นส่วนผสมที่ลงตัว”

หลังประจำการในทีมเศรษฐกิจได้เกือบ 4 ปี ถึงคราวต้องคิดแคมเปญเลือกตั้ง “เผ่าภูมิ” เล่าว่า ที่อยากผลักดันมาตั้งแต่เป็นข้าราชการ และได้ คิด-ค้นกับทีมเศรษฐกิจในพรรค คือ พยายามสร้างนโยบายบรรทัดฐานใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ประชานิยมแบบเก่า ๆ ที่เน้นแจกเงิน

“หลักคิดในการทำนโยบายช่วงเลือกตั้งของเพื่อไทย สร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าพยายามใช้นโยบายที่ใช้งบฯไม่เยอะ แต่มีประสิทธิภาพสูง คีย์เวิร์ดคือ “แรงจูงใจ” ใช้งบประมาณในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดในประเทศ เช่นความเหลื่อมล้ำมีปัญหางบประมาณต้องนำไปสร้างแรงจูงใจให้ลดความเหลื่อมล้ำไม่ใช่มีเงินนำเงินลงไปโปะที่คนจน เราต้องเอาเงินไปสร้างแรงจูงใจให้คนจน ให้เขาผลิตสิ่งของที่สามารถทำให้เขาสร้างรายได้ได้”

“เช่น นโยบายหวยบำเหน็จ มองว่า1.ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และเป็นสังคมสูงวัยที่ยังจน ไม่มีเงินเก็บ สร้างรายได้ไม่ได้ เพื่อไทยคิดว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้เบี้ยคนชราอย่างเดียว เพราะรัฐบาลจ่ายอย่างเก่งรายละ 2 พันบาท และคนชราสร้างรายได้ให้กับตัวเองไม่ได้ จึงคิดว่าระหว่างที่เขาทำงานได้อยู่ ทำอย่างไรให้ออมเงินได้ จึงนำนโยบายหวยบำเหน็จมาสร้างแรงจูงใจในการออม โดนหวยกินก็ไม่เป็นไร เพราะเงินซื้อหวยทั้งหมดคืนให้ตอนอายุ 60 ปี”

“หรือกองทุนคนเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนงานของคนเกิดขึ้นน้อย เพราะคนไม่กล้าเปลี่ยนงาน ภูมิใจในทักษะเดิมไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งที่ความสามารถของเขาอาจทำอะไรได้ดีกว่านั้น จึงใช้งบประมาณในการเปลี่ยนงานของคนง่ายขึ้น เราสนับสนุนให้คนมีความกล้าเปลี่ยนงาน มีการฝึกอบรมอาชีพที่เป็นเป้าหมายในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ”

“โครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการที่รับช่วงต่อจากนโยบายแบบเก่า โดยพัฒนาให้คนมีศักยภาพมากขึ้น ต่างจากการประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีโครงการที่รับช่วงต่อหรือไม่ เพราะถ้าชาวนามีรายได้ต่ำ เราเอาเงินไปเสริม แต่หลังจากนั้น ถ้าไม่ทำอะไรที่พัฒนาขึ้น ก็แปลว่าชาวนาผลิตสินค้าที่มีปัญหาไปเรื่อยๆ และรับเงินอุดหนุนไปเรื่อยๆ”

ชี้เป้าปัญหาเศรษฐกิจไทย

“แต่ปัญหาของไทยคือความสามารถในการแข่งขันต่ำ เพราะไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขัน ถ้าปล่อยให้บริษัทชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบนแข่งขันกันได้เยอะ ๆ นำไปสู่การพัฒนา สร้างนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง แต่ติดตรงที่มีระบบใบอนุญาต การเข้าถึงแหล่งทุนจำกัดอยู่ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศต้วมเตี้ยม และมีปัญหา”

“ในการคลี่คลายตรงนี้ต้องสร้างให้คนแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม ใครที่อ่อนแอต้องอุ้มให้เขาแข่งขันได้ เชื่อว่าบริษัทใหม่จากชาวนาเอ สามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ จะแข่งได้เลยคงไม่เกิด แต่ต้องพยายามให้เขามีจำนวนมากขึ้น ผลิตของที่มีคุณภาพ เมื่อแข่งขันกันได้ ศักยภาพการแข่งขันของประเทศก็จะสูงขึ้น”

ท่ามกลางวิกฤตเทรดวอร์ที่ส่งผลไปทั้งโลก “เผ่าภูมิ” แนะนำผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้มองเป็นโอกาส “เมื่อประเทศคู่ค้าของเรามีรายได้ลดลง เราจะส่งออกได้ลดลง แต่ในปัญหามีโอกาส เช่น ประเทศคู่ค้าหลักเรื่องสงครามการค้า ไม่สามารถส่งออกสินค้าปลายน้ำได้ ประเทศไทยทำไมไม่ใช้โอกาสเหล่านั้นสร้างอุตสาหกรรมไทย ด้วยการใช้งบประมาณทุ่มไป สินค้าจีนตรงไหนที่เราพอผลิตได้ ทำไมไม่ช่วงชิงตรงนั้น เมื่อเขามีปัญหาหนัก ตรงนี้เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่เรากลับไปบ่นว่าการค้าของโลกมีปัญหา จึงทำให้ส่งออกของประเทศมีปัญหา”

“จุดอ่อนอยู่ที่ทัศนคติมุมใหญ่ของรัฐบาล ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการแจก ให้เปล่าแบบหว่านแห เขาคิดว่าเศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยเงินไปกระตุ้นเป็นครั้ง ๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ผิด ต้องเอาเงินไปสร้างกลไกอะไรสักอย่าง ที่ทำให้คนสามารถไปสร้างเงินต่อ ไม่สามารถเอาเงินไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ทำได้อย่างเก่ง 5-7 ปีก็เก่งแล้ว เช่น นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐชิม ช้อป ใช้ เที่ยวเมืองรอง ตอนนี้ทำได้ แต่อีก 5-7 ปี ถ้าประชาชนไม่สามารถสร้างรายได้ขึ้นมา รัฐบาลก็เก็บภาษีไม่ได้ ที่สุดจะถึงเดดล็อกการคลัง”

เพื่อไทย-ไม่ขาลง

แต่อย่างน้อย “เผ่าภูมิ” เชื่อว่า เสียงสะท้อนของเพื่อไทยจะได้รับการรับฟัง มากกว่ายุคทหารแบบเบ็ดเสร็จ

“เป็นสัญญาณที่ดี พรรคได้สะท้อนความคิดต่าง ๆ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาจะได้รับการผลักดัน ต่างจากแต่ก่อนที่ตอนยึดอำนาจ เพื่อไทยพูดไม่มีใครฟัง เราหวังว่าวันหนึ่งจะได้นำนโยบายไปใช้ได้จริง ๆ เพราะนโยบายของเพื่อไทย ต่างจากกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง”

“ดังนั้น ไม่คิดว่าเป็นขาลงของเพื่อไทย เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนยังเชื่อในคำพูดของเรา เรายังซื่อสัตย์ต่อทุกคำพูดในการเลือกตั้ง พอเลือกตั้งเสร็จแม้ไม่มีอำนาจ เราไม่เคยเปลี่ยนคำพูด เป็นฐานสำคัญของเรา”

กับคำถามว่า พรรคเพื่อไทยมักมีปัญหาภายใน มีสารพัดเจ๊-หลายขั้วอำนาจ นายใหญ่-นายหญิง กำหนดทิศทางพรรค บางครั้งเกิดความขัดแย้ง แต่ “เผ่าภูมิ” เห็นต่าง

“ในทุกมิติของพรรค ถ้ามองว่าตรงนี้คือความขัดแย้ง เท่ากับว่าทุกอย่างเป็นความขัดแย้งทั้งหมด เพราะทุกคนเห็นต่าง แต่พูดคุยหาข้อสรุป สุดท้ายเพื่อไทยก็จะมีข้อสรุปเดียว”

“แต่ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของพรรค ต้องร่วมไม้ร่วมมือต่อสู้ไปด้วยกัน goal หลักของเพื่อไทยไม่ว่าเห็นเหมือน เห็นต่าง คือจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือ ทำให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน การเห็นค่าของมนุษย์ ดังนั้น วิธีการ เส้นทางอาจแตกต่างกันบ้าง แต่เมื่อ goal หลักอันเดียวกัน คิดว่าไม่มีปัญหา”

“เพื่อไทยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นในพรรคสูง เพื่อไทยประสบความยากลำบาก เราเดินทิศทางเดียวตลอด ไม่ใช่คนนี้เดินทางนี้ คนนี้เดินอีกทาง แล้วทะเลาะกัน แต่เราคุยกันเพื่อหาข้อสรุปแล้วเดินทางเดียวกัน ไม่เคยเห็นเพื่อไทยเดินสองแฉก”

“ผมมองเพื่อไทยในอนาคต เป็นพรรคที่กลมกล่อม ไม่ฉูดฉาดในมุมใดมุมหนึ่ง เป็นพรรคที่มีความเป็นผู้ใหญ่สูง มีฐานกว้างในหลาย ๆ กลุ่ม”

ส่วนคำถามที่ว่า สุดท้าย “ทักษิณ ชินวัตร” ยังคงเป็นคน “ทุบโต๊ะ” ตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย เขาแย้งว่า

“ผมอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทุกอย่างตัดสินใจโดย กก.บห.พรรค โหวตกัน คือคำตอบไม่น่ามีอะไรจากนั้น สมมุติโหวตเสร็จแล้ว พรรคเดินอีกทางหนึ่ง ผมยังไม่เคยเห็น ทั้งที่ผมผ่านการโหวตในหลาย ๆ เรื่องก็เดินไปตามที่โหวต”

“เพื่อไทยยังเป็นความหวังของผม”