ยึดอำนาจ-คุมกฎหมาย 40 ฉบับ ประยุทธ์ : รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

รายงานพิเศษ

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” เข้าควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 “ผมจะเข้ามาบัญชาการ การจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติ อย่างเต็มตัว” “ผมจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้ และรายงานตรงต่อประชาชน”

ยกศูนย์โควิด-19 ยกเว้นมาตรา 6   

เมื่อลั่นวาจา “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” จึงยกเว้นบางมาตรา คือ มาตรา 6 ที่กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่มีรองนายกฯ ซึ่งนายกฯ มอบหมายเป็นประธาน

และ “ยกระดับ” ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นหน่วยงาน
พิเศษ มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ใช้ชื่อย่อว่า “ศบค.” มีอำนาจ “เบ็ดเสร็จ” ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 แก้ปัญหารัฐบาลผสม-ต่างคนต่างทำ

หลังจากนั้น ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ
และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “ผู้กำกับ” การปฏิบัติงานของ “หัวหน้ารับผิดชอบ” ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน

ยื่นดาบ 5 รองนายกฯ  

โดย “รองนายกรัฐมนตรี” ทั้ง 5 คน เป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับ” การปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี เรียงลำดับการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี-ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

สอดรับกับ “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” นักรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี-โฆษกรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้มีบทบาทสำคัญในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในการต่อต้านการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

“นายกฯ ต้องเซฟตัวเอง โดยมอบหมายงานให้รองนายกฯ ในปี’53 ได้กันคุณอภิสิทธิ์ออกไป เพราะนายกฯมีอำนาจเต็ม ไม่จำเป็นต้องมาตรงนี้ คอยติดตามงานอีกที คนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน หวังดีประสงค์ร้าย” ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังการประชุม ศบค.นัดแรก “พล.อ.ประยุทธ์” จึงมอบอำนาจ 5 รองนายกฯ รับผิดชอบ ดังนี้

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูความมั่นคง 2.นายวิษณุ เครืองาม ดูกฎหมาย 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเศรษฐกิจ 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูพาณิชย์ และ 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล ดูสาธารณสุข

กำกับ “หัวหน้าผู้รับผิดชอบ” ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับสาธารณสุขทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมสินค้า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้มีสัญชาติไทยในต่างประเทศ

ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงมี “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็น “โฆษก ศบค.”

พ่อบ้านทำเนียบ ขึ้นตรง “บิ๊กตู่”

โดยมี “พ่อบ้านทำเนียบ” หน่วยขึ้นตรง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “ผู้ประสานงานทั่วไป” ได้แก่ “พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี “ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยมีหน้าที่-อำนาจ 1.บังคับบัญชาและสั่งการส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาโควิด-19 และ 2.ดำเนินการอื่นที่นายกฯมอบหมาย

เพิ่มอำนาจ ป.วิอาญาและ “สนธิกำลัง” พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร เป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ปฏิบัติหน้าที่ตามหัวหน้าผู้รับผิดชอบ 5 ปลัดกระทรวง+ผบ.สส. แก้ปัญหาโควิด-19

“ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง-ตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

แต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ทหารยศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรีขึ้นไป หรือข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป

คุมกฎหมาย 40 ฉบับ

“พล.อ.ประยุทธ์” ยังอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ยึดอำนาจ” รัฐมนตรี “ชั่วคราว” เกี่ยวกับการอนุญาต-อนุมัติ-สั่งการ-บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน-แก้ไข-ปราบปราม-ระงับยับยั้ง 40 ฉบับ อาทิ

พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ. 2499 พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560

พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562  พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527


พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรียกคืนอำนาจจากรัฐมนตรี-นักการเมือง มีสงครามโควิด-19 เป็น “เดิมพัน”