ไทม์ไลน์ 3 เดือนแก้โควิดระบาด มาตรการ “บิ๊กตู่” ก่อนจบที่เคอร์ฟิว

87 วัน นับจากมี “ผู้ติดเชื้อ” ไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในไทย “รายแรก” เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกระดับกฎหมาย-มาตรการยับยั้ง “ไวรัสมรณะ” จากเบา-ไปหาหนัก

26 กุมภาพันธ์ 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563

มีผลให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อลำดับที่ 14 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

หลังจากนั้น นายอนุทิน-ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในฐานะรักษาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่น ตลอดจนออกระเบียบ-ประกาศเพื่อปฏิบัติ

5 มีนาคม 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโควิด-19 พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.สาธารณรัฐเกาหลี 2.สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊าและฮ่องกง 3.สาธารณรัฐอิตาลี และ 4.สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

9 มีนาคม 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย

13 มีนาคม 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง พ.ศ. 2563 ต้องเป็นห้องแยกเฉพาะสำหรับรักษาผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ติดต่อง่ายโรคที่มีอัตราป่วยตายสูง หรือรักษายาก

17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 15 มาตรการเร่งด่วน อาทิ

1.ผู้เดินทางมาจากประเทศ-พื้นที่ระบาดต่อเนื่อง ถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน

2.ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องมีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 USD

3.ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ

4.เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ (13-15 เมษายน) 5.ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ได้แก่ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า และปิดชั่วคราว 14 วัน ได้แก่ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

6.งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน หรือปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

7.งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา 8.ให้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล เพื่อให้บุคลากรทำงานที่บ้าน (work from home)

9.ให้สถานที่ทำงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ลดความแออัด โดยเหลื่อมเวลาทำงาน-พักรับประทานอาหาร และจัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร (social distancing)

24 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์อาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี-ขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ข้อ 1 การห้ามเข้าพื้นที่-สถานที่เสี่ยง

ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค “เป็นการชั่วคราว” อาทิ สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ทั่วราชอาณาจักร จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น

ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการอาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบันเทิง พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมลฑณ 5 จังหวัด และสมุทรสาคร

สถานที่อื่นนอกจากนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด ศาสนสถาน สถานีขนส่งโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า-ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต

ข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางอากาศ-ทางน้ำ-ทางบก รวมถึงปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรน

ข้อ 4 การห้ามกักตุนสินค้า ยา-เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

ข้อ 5 การห้ามชุมนุม-ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน รวมถึงการเสนอข่าว

27 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 357/2563 เรื่อง เลื่อนกำหนดการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 ถึง 12 เม.ย. 63 ออกไปเป็น ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2563

2 เมษายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน เวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น.

เว้นแต่มีความจำเป็น-ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ