เศรษฐี-ซีอีโอผนึกกู้โควิด-19 จี้รัฐประกาศไทม์ไลน์ฟื้นประเทศ

มหาเศรษฐี-ซีอีโอธุรกิจ ตอบรับช่วยรัฐบาล แก้วิกฤตโควิด-19 “หมอเสริฐ”เสนองบ 100 ล้านช่วยสร้างแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง “ธรรศพลฐ์”-ไทยแอร์เอเชีย ขอซอฟต์โลนอุ้มสายการบิน บิ๊กเมืองไทยแคปปิตอล หนุนผ่อนล็อกดาวน์บาลานซ์ “เศรษฐกิจ-สาธารณสุข” ชี้ธุรกิจหยุดคิดเรื่องขยายกิจการ อมตะฯเน้นอัดฉีดกระตุ้นบริโภคประเทศ เอเซียโกลเด้นไรซ์ดันหาตลาดข้าวจีทูจี

แม้จะมีทั้งเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์ แต่นักธุรกิจ เศรษฐีเมืองไทยทั้งติดและไม่ติดอันดับ 20 มหาเศรษฐีไทย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ส่วนใหญ่ขานรับและพร้อมให้ความร่วมมือรัฐบาลร่วมแก้วิกฤตไวรัสโควิด-19 และช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันก็เรียกร้องและให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลกู้วิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบรุนแรงในขณะนี้

เสนอช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้ง

ขณะที่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถอดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และผู้ก่อตั้งสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส มหาเศรษฐีอันดับ 11ของไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี อยากขอความเห็นและความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนช่วงไวรัสโควิด-19 ในฐานะที่มีความพร้อมด้านการบิน และการแพทย์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข ในการนำเครื่องบินไปรับส่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก เพื่อเดินทางไปรักษาคนไข้ติดเชื้อในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต และส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

“ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีร้องขอมา ผมคิดว่าปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องพบเจออีกต่อจากโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ ผมจึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งใต้ดินมีน้ำจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้”

“ผมอยากจะช่วยออกเงินให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดิมเดือดร้อน มาช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ ให้ชาวบ้าน มีน้ำไว้ใช้ เราอาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น ผมมีเครื่องมือและรถแบ็กโฮในการก่อสร้างโดยไม่ได้ทำอะไรอยู่มาก สามารถนำมาใช้เพื่อการนี้ได้ ผมตั้งงบฯไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาล ซึ่งผู้มีความสามารถหลายคนก็บริจาคกันไปมากแล้ว”

สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ยังสามารถจะขุดลอกแม่น้ำยมให้มีความลึกได้มากกว่านี้ หรือลึกลงไปราว 20 เมตร เพื่อเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ และเก็บกักน้ำไว้ในยามน้ำแล้งได้ เมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่ต้องปล่อยให้น้ำฝนไหลผ่านลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์ อนาคตข้างหน้าน้ำจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ทำที่เก็บกักน้ำไว้ ผมคิดว่าข้อเสนอของผมน่าจะช่วยรัฐบาล และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มาก

ข้อคิดมหาเศรษฐีอันดับ 10

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล ( MTC) มหาเศรษฐีอันดับที่ 10 ของประเทศ ตามการจัดอันดับของฟอร์บส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัว ไม่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการและการดูแลเศรษฐกิจไทยตอนนี้มองว่า

รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว โดยการดูแลระบบเศรษฐกิจจะต้องรักษาสมดุลระหว่าง “เศรษฐกิจ “และ “สาธารณสุข” หากจะมีการผ่อนคลายและปลดล็อกพื้นที่ในบางจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ เปิดช่องให้ธุรกิจ ร้านค้ากลับมาเปิดดำเนินการได้ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากการทำมาหากิน ซึ่งภาครัฐสามารถทำได้ แต่จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีสำหรับระบบสาธารณสุข ต้องมีการติดตามจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด

“ระบบเศรษฐกิจต้องแลกกับระบบสาธารณสุข หากมาถึงจุดที่สามารถบาลานซ์ได้ ภาครัฐอาจทยอยผ่อนคลาย หรือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีช่องทางหายใจได้บ้าง แต่ยังต้องเฝ้าระวังติดตามใกล้ชิด เพราะถ้าปิดยาวนานเกินไปจะทำให้ประชาชนอึดอัดและไม่มีรายได้”

สำหรับ “ภาคธุรกิจ” ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 การดำเนินธุรกิจจะต้องดูแลประคองตัวเอง โดยการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดสต๊อกสินค้า และหยุดความคิดที่จะขยายกิจการและลงทุนในกิจการใหม่ และอย่าคิดทำอะไรเกินตัว โดยจะต้องเก็บรักษากระแสเงินสดไม่ให้ขาด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญในการประคองตัวให้รอดพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลดูแลหุ้นกู้กลุ่มที่ต่ำกว่า investment grade ด้วย เพราะหากกลุ่มนี้ไม่สามารถชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้ จนกลายเป็นปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ก็จะกระทบไปสู่ผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย และภาคสถาบันการเงิน

แอร์ไลน์ขอซอฟต์โลน 2.5 หมื่นล้าน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ขณะนี้อยากให้รัฐบาลมีแผนสำหรับปลดล็อกธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเตรียมแผนสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง เช่นเดียวกับธุรกิจสายการบินที่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือ

“โดยทั้ง 8 สายการบินขอวงเงินกู้ซอฟต์โลนรวม 2.4-2.5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย วันที่ 1 มกราคม 2564 และขอเงินกู้งวดแรกภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำมาประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงาน”

“แอร์เอเชีย” ขอไทม์ไลน์ชัด

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันทุกสายการบินอยู่ในภาวะลำบากเหมือนกันหมด เพราะทยอยหยุดบินกันมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ มีนาคม และหยุดให้บริการทั้งหมดในเดือนเมษายนนี้ ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่ทุกเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก็ใช้เพื่อดูแลพนักงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงานเป็นหลัก ซึ่งหากภายในเดือนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ทุกสายการบินเหนื่อยหนักแน่นอน เพราะเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะถึงนี้เงินหมดสต๊อกกันแล้ว

“ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผมว่ารัฐบาลเองก็ต้องมีความชัดเจน วันนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด เมื่อทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน ผู้ประกอบการสายการบินก็สามารถวางแผนทำการบินได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ในขณะนี้คือร้องเพลงรอเท่านั้น” นายธรรศพลฐ์กล่าว

แนะมองหาจุดเด่น “อาหาร”

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ออริจิ้น มองว่า ไทยต้องหาจุดเด่นที่จะกลับมา เพราะกว่าท่องเที่ยวจะฟื้นน่าจะปีกว่า น่าจะไปโฟกัสที่อาหาร เนื่องจากไทยเป็นครัวโลก ถ้าเราทำตรงนี้ได้จะช่วยในการนำเงินตราเข้าประเทศ ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาฯ ตนอยากให้รัฐหันกลับมาสนับสนุนการใช้ของในประเทศ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด เช่นเดียวกับการลดหย่อนจากการเสียภาษีบ้าน คอนโดฯ ราคาแพง ๆ บ้าง คือ ซื้อแพงก็ลดหย่อนได้เยอะ เป็นต้น

อมตะหนุนกระตุ้นบริโภคในประเทศ

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบริหารธุรกิจในยุคโควิด-19 บริษัทยังคงมีการติดต่อกลุ่มลูกค้าและนักลงทุน เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการทำตลาด ต้องอย่าให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนนับจากนี้ รัฐบาลจะต้องมี 2 สิ่งสำคัญ คือ 1.เสถียรภาพของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาได้ดี โดยเฉพาะนโยบายดูแลเรื่องของแรงงาน 2.นโยบายส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ นอกจากนี้รัฐบาลต้องเริ่มต้นจากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มาก โดยใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเอง ทำให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว

ขออัดฉีดเงินกู้ผู้ส่งออก 20 อุตสาหกรรมหลัก

นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐควรเร่งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องธุรกิจส่งออก 20 อุตสาหกรรมหลักก่อน และจัดสรรเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการแต่ละรายในวงเงิน 10-15% ของยอดรายได้ เพื่อให้สามารถรักษาฐานการผลิตหลักของไทยไว้ได้ จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย

“ตอนนี้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง รอได้แค่ไม่เกิน 3 เดือน ยกตัวอย่างในกลุ่มสมาชิกตอนนี้ปิดตัวชั่วคราวไปแล้ว 70% เหลืออีก 30% ที่พอยังมีออร์เดอร์และมีสต๊อกทำต่อได้ แต่หากสถานการณ์ฟื้นกลับมาทันช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นก็จะกลับมารับออร์เดอร์ได้”

ลดต้นทุนเงิน-หาตลาดจีทูจีข้าว

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการด้านอาหารของแต่ละประเทศเพิ่มสูงขึ้น ข้าวถือเป็นหนึ่งในอาหารหลักของประชากรกว่าครึ่งโลก จึงเป็นโอกาสของไทย ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก อาจทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่ยากจน และคู่ค้าที่เป็นเทรดเดอร์ขาดสภาพคล่องจึงอยากขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจส่งออกข้าวในด้านการลดต้นทุนทางการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ย หรือลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แก่ผู้ส่งออก นอกจากนี้ในวิกฤตโควิด-19 ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น มีความต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ รัฐบาลจึงควรให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ ด้วยการเจรจาขายข้าวในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น