“ประยุทธ์” คุมงบ 7 ปี 20 ล้านล้าน ผ่าแผนกองทัพ-มหาดไทยซื้อเฮลิคอปเตอร์

วันที่ 1-3 กรกฏาคม 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทีมคณะรัฐมนตรีแถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ต่อสภาผู้แทนราษฎร

แต่หากรวบ 3 รายการ จะมีเม็ดเงินไว้ใช้สอยสู้สถานการณ์วิกฤตทั้งเศรษฐกิจ และไวรัสโควิด-19 กว่า 8.4 ล้านล้านบาท ในช่วงปีเดียว

สำหรับงบประมาณ 3 ก้อน ประกอบด้วย

ก้อนแรก งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท กันไปใช้เป็นงบโควิด-19 จำนวน 8.8 หมื่นล้าน ผ่าน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563

ก้อนที่สอง จาก พ.ร.ก.เงินกู้โควิด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

และก้อนที่สาม จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่เข้าวาระ 1 ขั้นรับหลักการวันนี้

@ ตั้งงบกลาง 6 แสนล้าน

แกะไส้ในงบประมาณ 64 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ที่น่าสนใจคือ “งบกลาง” ที่ตั้งไว้สูงที่สุดถึง 614,616,246,500 บาท มากกว่าปี 2563 ที่ตั้งไว้ 518,770,918,000 บาท และมากกว่าปี 2562 ที่ตั้งไว้ 471,532,000,000 บาท

ไส้ในของ “งบฯกลาง” อันเป็นที่รู้กันว่า ตลอดช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.-รัฐบาลทหารผสมพลเรือนหลังเลือกตั้ง 2562 มักล้วงกระเป๋า “งบฯกลาง” ในส่วน “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสารพัดแพ็กเกจที่ออกมาก่อนหน้านี้

“งบฯฉุกเฉินหรือจำเป็น” ของงบปี 64 ตั้งไว้ 99,000,000,000 บาท เท่ากับปี 2562 แต่มากกว่าปี 2563 จำนวน 3,000,000,000 บาท ที่มีอยู่ 96,000,000,000 บาท แปลว่า คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ สามารถใช้งบฉุกเฉินสำหรับภารกิจต่างๆ เกือบแสนล้าน

ไม่นับงบโควิด -19 ที่แยกออกมาต่างหาก เป็น “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” อีก 40,325,629,700 บาท

@ งบ 32 หน่วยงาน ศธ.- มท.นำโด่ง

ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณรองลงมาใน 10 อันดับต่อจาก “งบฯกลาง” ประกอบด้วย 2.กระทรวงศึกษาธิการ 358,360,958,600 บาท 3.กระทรวงมหาดไทย 328,013,017,700 บาท 4.กระทรวงการคลัง 268,718,598,700 บาท 5.กระทรวงกลาโหมอยู่ในลำดับ 5 ของบฯไว้ 223,463,652,100 บาท

6.ทุนหมุนเวียน 221,981,911,700 บาท 7.กระทรวงคมนาคม 193,554,304,900 บาท 8.หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 154,729,877,100 บาท 9.กระทรวงสาธารณสุข 140,974,738,700 บาท 10.หน่วยราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 131,106,474,800 บาท

11.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 129,414,957,000 บาท 12.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 12,878,974,700 บาท 13.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 93,153,012,400 บาท 14.กระทรวงแรงงาน 69,838,179,100 บาท 15.สำนักนายกรัฐมนตรี 40,510,668,700 บาท 16.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 29,935,098,600 บาท 17.กระทรวงยุติธรรม 27,223,169,700 บาท 18.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 23,413,640,600 บาท 19.หน่วยงานของศาล 2,815,235,200 บาท 20.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 22,555,620,100 บาท

21.องค์กรอิสระ และอัยการ 17,840,370,200 บาท 22.หน่วยงานรัฐสภา 9,944,557,100 บาท 23.ส่วนราชการในพระองค์ 8,980,889,600 24.สภากาชาดไทย 8,871,553,800 บาท 25.กระทรวงวัฒนธรรม 8,760,163,200 บาท 26.กระทรวงดีอีเอส 8,604,755,200 บาท 27.กระทรวงการต่างประเทศ 8,475,251,400 บาท 28.กระทรวงพาณิชย์ 7,247,177,400 บาท 29.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,268,863,100 บาท 30.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,788,169,300 บาท 31.กระทรวงพลังงาน 2,390,713,200 บาท และ 32.หน่วยงานอื่นของรัฐ 569,199,600 บาท

@ ฝ่ายค้านเตรียม 80 ขุนพลซักฟอก

งบทั้ง 32 หน่วยงานถูก “จับจ้อง” จากฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่เตรียมขุนพลอภิปรายกว่า 80 คน

ทั้งนี้ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า จะเน้นในทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่มีการจัดซื้อเครื่องบิน และกระทรวงคมนาคมที่ทั้ง 2 กระทรวงมีงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงกว่าทุกกระทรวง โดยในกระทรวงคมนาคมเมื่อดูในรายละเอียด เป็นงบประมาณก่อสร้างถนนทั้งสิ้น ซึ่งรัฐบาลต้องตอบว่า การก่อสร้างถนนตอบโจทย์กับการเป็น New normal อย่างไร

“ปัญหาในประเทศขณะนี้ต้องสร้างอาชีพในระยะสั้นและระยะกลางอย่างเร่งด่วน แล้วการสร้างถนนใช่หรือไม่ ส่วนที่บอกว่าแก้ปัญหาโควิดนั้น ทำอย่างไรการตัดงบบางส่วนมาใส่ในงบกลางหรือไม่ ที่เรียกว่าแก้ปัญหาโควิด ในส่วนงบของกระทรวงกลาโหมปีนี้ก็ลดลงพอสมควร แต่เมื่อดูรายละเอียดก็ยังพบงบในสิ่งที่ไม่จำเป็น และสามารถลดได้อยู่ ทั้งนี้ยังมีงบอีกหลายๆ ส่วน ที่มีการล็อกสเปกเมื่ออ่านดูแล้วก็ทราบว่าเอกชนรายใดจะได้งาน ซึ่งตรงนี้จะมีการอภิปรายให้เห็นเช่นกัน”

@ ปภ.มหาดไทย ซื้อเฮลิคอปเตอร์ 1.9 พันล้าน

แกะรอยงบซื้อเครื่องบิน ตามลายแทงของฝ่ายค้าน พบว่าบรรจุอยู่ในงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดย ปภ.ร่วมกับกองทัพบกในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน Helicopter ขนาดไม่น้อยกว่า 12 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสาธารณภัย วงเงิน 1,921,356,000 บาท ในงบ 64 แต่ถ้านับทั้งโครงการ เป็นงบผูกพัน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 วงเงิน 5,764,068,300 บาท

@ ซ่อนกลงบกองทัพ

ขณะงบฯที่ถูกคนการเมืองในฝ่ายค้าน-นักเคลื่อนไหวนอกทำเนียบ จับตาเป็นพิเศษคือ “งบฯกองทัพ” ก็ถูกปรับลดลงจากปี 2562 และ 2563

ไส้ในกองทัพในส่วนของงบฯ 64 นั้น กระทรวงกลาโหม ขอตั้งงบฯ 223,463,652,100 บาท มากสุดอยู่ที่กองทัพบก 107,661,700,600 บาทกองทัพเรือ 48,289,133,500 บาท กองทัพอากาศ 40,080,665,400 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 16,710,804,800 บาท สำนักงานปลัดกระทรวง 9,860,351,400 บาท และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 861,016,400 บาท

ทว่า “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล ที่เกาะติดงบฯความมั่นคง กล่าวว่า “แม้งบฯกองทัพจะถูกปรับลดลง จากงบฯปี 2563 แต่เมื่อดูจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ที่ถูกปรับลดงบประมาณลงไปก่อนหน้านี้ และเพิ่งผ่านสภาไป ปรากฏว่างบฯกองทัพในปี 2564 กลับปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่าใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เท่ากับว่ากองทัพปรับลดงบประมาณลงใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 แล้วรัฐบาลก็คืนเงินนั้นกลับไปให้กองทัพอีกที”

“ในขณะที่งบฯช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างหนักกลับไม่มี มีแต่งบฯ โครงการของราชการ เช่น ดูงาน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องการ”

@ บิ๊กตู่ทำงบ 20.4 ล้านล้าน

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ทำงบประมาณมาแล้ว 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่งบ 2558 – ปัจจุบัน รวม 20,428,000 ล้านบาท

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท
2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2,720,000 ล้านบาท
3. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2,733,000 ล้านบาท
4. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท
5. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3,000,000 ล้านบาท
6. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท
7. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท

และยังมีการ “ทำงบกลางปี” เพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในช่วงรัฐบาล คสช. รวม 399,000 ล้านบาท

1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงิน 59,000,000,000 บาท โดยนำงบจากการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม 4G ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ

2.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 190,000,000,000 บาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล และเพื่อชดเชยเงินคงคลัง

3.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 150,000,000,000 บาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวนไม่เกิน 100,358,077,000 บาท และเพื่อ “ชดใช้เงินคงคลัง” เป็นจำนวน 49,641,923,000 บาท และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เบ็ดเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณในมือนับรวมถึง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 64 เป็นเงิน 20,827,000 ล้านบาท ที่จะมีการอภิปรายตลอด 3 วัน ตั้งแต่ 1-3 ก.ค.นี้