“ประยุทธ์” เซตทีมกุนซือคุมเศรษฐกิจ แทนกลุ่ม 4 กุมาร สั่งการตรงทุกกระทรวง

ตั้งศูนย์กู้วิกฤตเศรษฐกิจ “ศบศ.” อุดสุญญากาศปรับ ครม. “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะบัญชาการ ดึงภาคเอกชน-ที่ปรึกษาเป็นทีมหลักแทนรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร ดันเลขาฯสภาพัฒน์แม่งาน ปฏิบัติการเชิงรุกแก้ปัญหาทั้งระบบ รวบอำนาจบริหารจัดการ-สั่งการตรงทุกกระทรวงไม่ผ่านรัฐมนตรี ธปท.เผยจีดีพีถึงจุดต่ำสุด Q2 ไม่มีระบาดรอบ 2 เห็นการฟื้นตัวปี 2565

วิกฤตเศรษฐกิจที่ยังลามไม่หยุดทำให้ภาคธุรกิจ สถานประกอบการได้รับผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดตัวแทนภาคเอกชนเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ (ศบศ.) ทำหน้าที่บริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจ โดยบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเป็นเอกภาพ และให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์

ตั้งเลขาฯสภาพัฒน์แม่งาน

แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ. จะมีรูปแบบการบริหารและปฏิบัติการเช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. โดยในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบคล้ายกับ ศบค.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คุมทีมทั้งหมดผ่านคณะที่ปรึกษาทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข โดยไม่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขึ้นมารองรับอีกฉบับ แต่การทำงานจะกระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การบริหารงานมีส่วนที่คล้ายกันกับ ศบค. ในความหมายคือการสั่งการ ลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ภายใต้กลไกที่มีอยู่แล้ว ให้กระชับขึ้น สายการบังคับบัญชาสั้นขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นายกฯสั่งตรงไม่ผ่านรัฐมนตรี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นคณะทำงานแบบไม่เป็นทางการ (unofficial) ลักษณะของการทำงานร่วมกัน มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาฯสภาพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมแนวและวิธีการแก้ปัญหาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐมนตรี

ที่ปรึกษานายกฯมีอำนาจเต็ม

คณะทำงานชุดนี้เป็นคณะทำงานชุดเล็ก special task force ปฏิบัติการเชิงรุก มีองค์ประกอบในคณะทำงานไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเรื่องใดเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเชิญแต่ละหน่วยงานมาให้ข้อมูลเป็นครั้งคราวได้

โดยจะมีการเรียกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเข้ามาให้ข้อมูล และรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติได้ทันที เช่น อาจจะเชิญสภาอุตสาหกรรม, หอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็นครั้งคราว

แหล่งข่าวกล่าวถึงวิธีการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะทำงานชุดนี้เป็นเหมือนทีมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระดับสูงสุด กลั่นกรองงานให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสามารถบัญชาได้ทันที พร้อมวิธีปฏิบัติ สั่งการผ่านกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำทันที ไม่ต้องไปศึกษาต่อ จึงคล้ายกับการทำงานของ ศบค.ที่รวมศูนย์สั่งการมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี”

“นายทศพร ซึ่งเป็นตัวหลักในคณะกรรมการจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ให้นายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านกลไกของระบบราชการ ไม่ใช่เฉพาะการรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรวบรวมปัญหาของประชาชนในวันนี้ เช่น ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจชาวบ้านด้วย”

ตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจรากหญ้า

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรายหนึ่งกล่าวว่า คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทั้งในระบบและนอกระบบเห็นว่าปัญหาขณะนี้มีผลกระทบในวงกว้างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะนี้เป็นเอฟเฟ็กต์กับประชาชนระดับรากหญ้า คนทำงาน คนทำมาหากิน ชาวบ้านทั่วไปอย่างกว้างขวาง

“ผลสะเทือนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีรายละเอียดมากกว่าปี 2540 ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอย่างเดียว แต่ต้องลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย จึงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยดูแลสังคม ขณะเดียวกันก็ดูแลเศรษฐกิจ ปากท้องเข้าไปด้วย”

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรายนี้กล่าวถึงรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเชิญองค์กรและผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจมาฟัง มารายงานข้อมูลเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะไม่ใช่มาฟังอย่างเดียว แต่จะเริ่มนำข้อมูลที่ฟังมาประมวลเป็นภาคปฏิบัติ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบจึงให้สั่งการให้คนที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที

เน้นสั่งการตรงทำทันที

กรรมการชุดนี้ไม่ใช่เรื่องของการคิดนโยบายใหม่ แต่คิดวิธีการแก้ปัญหา เช่น ชาวบ้านขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำมาหากิน จะทำอย่างไรไม่ให้

เข้าสู่หนี้นอกระบบ เมื่อได้คำตอบแล้ว จะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งการทางตรงให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ หรือให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯไปทำทันที เรื่องใดที่เห็นว่าควรเข้า ครม.เศรษฐกิจ หรือ ครม.ชุดใหญ่ก็ให้เลขาธิการสภาพัฒน์เป็นแม่งาน เป็นเชิงปฏิบัติ ลงมือทันที ไม่ใช่แค่การพูดหารือกัน

แบงก์หวั่น ศบศ.แทรกแซง

ด้านแหล่งข่าวภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในที่ประชุมปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสนอนายกฯให้ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ.ขึ้น โดยนายกฯมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ไปจัดทำรายละเอียดว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายอะไรมารองรับ ประเด็นสำคัญที่ยังมีบางส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คือศูนย์จะมีขอบเขตการทำงานอย่างไร จะเข้าไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของเอกชนให้ไม่มีอิสระหรือไม่

“เหตุผลสำคัญที่มีผู้เสนอให้ตั้งศูนย์เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงมาก การแก้ไขมีอุปสรรคเพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น เอกชนเรียกร้องหลักเป็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ออกมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการปล่อยกู้ ผู้ประกอบการจึงยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ในส่วนของผู้ที่เห็นด้วยก็จะเป็นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี และตัวแทนนักธุรกิจสาย ปตท. รวมทั้งนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ทางกลุ่มแบงก์แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะถ้าปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตามมา จะกระทบสภาพคล่องแบงก์”

ดันกุนซือ เป็น”ทีมเศรษฐกิจใหม่” แทน 4 กุมาร

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ภาคเอกชนยังกังวลเกี่ยวกับการทำงานในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล กรณีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำรัฐบาล เพราะรัฐมนตรีกลุ่ม 4 กุมาร ที่มีรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้า นั้นเคยคุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งหมด เมื่อออกมาตรการก็จะออกจากทีมนายสมคิดเป็นหลัก ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงต้องดึงทีมที่ปรึกษาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ทั้งนี้ในทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ซึ่งจะทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจทีมใหม่ ประกอบด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับการยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน นายปรีดี ดาวฉาย นอกจากนี้มีชื่อนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รวมอยู่ด้วย

ย้ำไม่ต่ออายุช่วยลูกหนี้รายย่อย

ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะครบกำหนดเดือน มิ.ย.นี้ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงินไม่เกิน 100 ล้าน ที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ ธปท.จะไม่ต่ออายุมาตรการเป็นการทั่วไป มองว่าลูกหนี้บางกลุ่มยังมีความสามารถชำระหนี้ได้ หากออกมาตรการขั้นต่ำเป็นการทั่วไป จะมีผลข้างเคียงและกระทบวินัยทางเครดิต

ขณะที่มาตรการที่ ธปท.ออกมาในเรื่องของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ใช้วงเงินซอฟต์โลนแล้ว 1.03 แสนล้านบาท แม้ห่างไกลเป้าหมาย แต่ภายใต้ พ.ร.ก.สามารถขยายระยะเวลาหรือต่ออายุมาตรการได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน และอยู่ระหว่างศึกษาตามข้อเสนอของธนาคารพาณิชย์ที่เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันหรือมีบทบาทในการรับความเสี่ยงเพิ่มเติมหลังจาก 2 ปี

เศรษฐกิจดิ่ง-ปี”64 GDP โต 5%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2563 ว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจหลัง ธปท.ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค. จาก -5.3% มาสู่ระดับ -8.1% ในเดือน มิ.ย. จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่เดิมขยายตัวอ่อน ๆ แต่ปัจจุบันถดถอยรุนแรง ส่งผลต่อการส่งออกของไทย 2.การระบาดของโควิด-19 กระทบการบริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป เดิม มี.ค.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 15 ล้านคน แต่คาดว่าจะเหลือ 8 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแล้ว 7.6 ล้านคน เหลืออีก 1.3 ล้านคน ซึ่งหวังว่าจะมาจาก Travel Bubble ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องถึงปี 2564 3.มาตรการการเงิน-การคลังของภาครัฐที่ออกมามีขนาดใหญ่พอสมควร แต่ช็อกที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่ไม่สามารถชดเชยได้ จึงปรับประมาณการ โดยปี 2564 จะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ 5%

เข้าสู่ภาวะปกติปี”65

อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ต้องจับตาใกล้ชิด ตัวเลขเดือน พ.ค.ว่างงานกว่า 3 แสนคน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเร็วและค่อนข้างชัน โดยเฉพาะภาคบริการและภาคผลิตที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน ส่งผลให้เด็กจบใหม่ปีนี้จะเข้าตลาดแรงงานยาก ต้องมีการพัฒนาทักษะ

“เศรษฐกิจดิ่งลึกในไตรมาสที่ 2 และเป็นจุดต่ำสุด และจะเห็นการฟื้นตัวตามลำดับตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์มาสู่เฟส 5 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขที่มีวัคซีน หากไม่มีการระบาดรอบ 2 หรือเกิดการล็อกดาวน์ขนาดใหญ่อีกครั้ง”

ชี้ดอกเบี้ย 0% เกิดยาก

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงอยู่ที่ 0% นั้น มองว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะหากดูการส่งผ่านนโยบายการเงินภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง และให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะเห็นว่าธนาคารส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งกระดาน อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ศึกษาว่าดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากจะมีผลต่อเศรษฐกิจ การออม และการลงทุน เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจะมีผลต่อระดับศักยภาพการเติบโต รวมถึงนโยบายรักษาอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งนั้น (yield curve control) ตอนนี้ศึกษาอยู่ เป็นการเตรียมเครื่องมือให้พร้อม