ย้อนไทม์ไลน์ 5 ปี ซื้อเรือดำน้ำ “หยวนคลาส” 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน

ย้อนไทม์ไลน์ 5 ปี ซื้อเรือดำน้ำ “หยวนคลาส” 3 ลำ 3.6 หมื่นล้าน

มหากาพย์เรือดำน้ำ ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง หลังคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน ในคณะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564

อนุกรรมาธิการชุดนี้มี “สุพล ฟองงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 5 ต่อ 4 ซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ จากประเทศจีน วงเงิน 22,500 ล้านบาท ในจังหวะที่เสียงประท้วงของม็อบ นักเรียน นักศึกษา ดังอื้ออึงนอกอาคารรัฐสภา

5 เสียงที่เห็นชอบมาจากมือของฝ่ายรัฐบาล 1.นายสุพล 2.นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย 3.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 4.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ 5.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนผู้ที่ลงมติไม่เห็นชอบประกอบด้วย 1. ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 2. ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย 3. นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และ 4.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล

หลังลงมติ กมธ.ซีกฝ่ายค้าน ลากไส้บรรยากาศการประชุมในห้องพิจารณางบประมาณ ทั้ง “ยุทธพงศ์” แห่งเพื่อไทย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในโควตาพรรคก้าวไกล ออกมาเล่าเป็นฉาก ๆ

โดยเฉพาะอากัปกิริยา – คำอุทานของประธาน “สุพล” การรับโทรศัพท์ที่ “โจ้-ยุทธพงศ์” แฉว่า ปลายสายเป็นของ “บิ๊ก ป.” ทำเอาทัวร์ลงทั้งรัฐบาล

ไล่เลียงไทม์ไลน์จัดซื้อเรือดำน้ำ

6 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ฉาง ว่าน ฉวน มนตรีแห่งรัฐและ รมว.กลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

28 เมษายน 2558 ครม.อนุมัติหลักการให้จัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ จากนั้นกองทัพเรือสำรวจอู่ต่อเรือดำน้ำชั้นนำของโลก พบว่ามี 6 แห่ง แต่ ข้อเสนอที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุดอยู่ที่จีน

กรกฎาคม 2559 กระทรวงกลาโหม อนุมัติความต้องการเรือดำน้ำ 3 ลำ

18 เมษายน 2560 เมื่อ ครม. พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำแบบเงียบๆ กระทั่งเป็นข่าวในไม่กี่วันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ ตอบสื่อปมเรือดำน้ำว่า “ต้องมีให้เพื่อนบ้านเกรงใจ”

มติ ครม.ได้อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T)จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพัน ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำรวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี

จากนั้น “พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ” ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ “พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์” เสนาธิการทหารเรือ (ตำแหน่งขณะนั้น) ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทน ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจีกับรัฐบาลจีน โดยลำแรกจะส่งมอบในปี 2566

4 พฤษภาคม 2560 กองทัพเรือได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในประเทศจีน

7 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยกองทัพเรือได้ชงคำของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท

8 มกราคม 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในส่วนของมาตรา 8 งบกระทรวงกลาโหม “นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายขอให้ตัดงบซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3

พฤษภาคม 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลขอให้แต่ละหน่วยงานโอนงบประมาณ 2563 มาแก้ปัญหาโควิด -19 โดยกองทัพเรือได้คืนงบจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวด้วย

กระทั่ง ล่าสุดในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กองทัพเรือได้ขออนุมัติงบผูกพันเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้ง 2 ลำอีกครั้ง

ใช้งบผูกพันไม่ได้ของบใหม่

ในการตั้งโต๊ะแถลงด่วนของกองทัพเรือทันที ที่วังนันทอุทยาน กองบัญชาการกองทัพเรือ ในช่วงบ่ายวันที่ 24 สิงหาคม นำโดย พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ กล่าวว่า โครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ซึ่งเป็นโครงการจัดหารือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท

และจัดซื้อไปแล้ว 1 ลำ 13,500 ล้านบาท ทยอยจ่าย 7 ปี ระหว่าง 2560 – 2566 การจัดหาให้ครบ 3 ลำ ไม่ใช่งบผูกพันเรื่องใหม่ในปี 2564 หากแต่เป็นรายการเสริมสร้างกำลังกองทัพ 2563-2569 ทยอยตั้งงบประมาณรายปีตามงบที่กองทัพเรือได้รับตามปกติ ไม่ได้ขอเพิ่มแต่อย่างใด และตราไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 แล้ว

มีการชำระเงินรายปี 2563 3,375 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท และ ปี 2569 จำนวน 3,500 ล้านบาท รวม 22,500 ล้านบาท

โดยปกติแล้วการจัดหาควรดำเนินการตามตกลงในงบประมาณปี 2563ไปเรียบร้อยแล้ว แต่เกิดโควิด– 19 รัฐบาลขอให้หน่วยงานราชการพิจารณาคืนงบประมาณ กองทัพเรือจึงเจรจาทำความเข้าใจกับจีนที่จะดำเนินโครงการต่อไป

แต่กองทัพเรือจะขอคืนงบประมาณก้อนแรก จึงของดการจ่ายเงิน 3,375 ล้านบาท เป็นการชะลอโครงการ นำไปรวมกับงบประมาณอื่นๆ ที่กองทัพเรือปรับลดลงได้ โอนคืน 4,130 ล้านบาท ทำให้กองทัพเรือแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดการจัดหาใหม่ ขณะนี้มีกำหนดเบื้องต้นที่จะลงนาม จีทูจี ในเดือนกันยายนนี้

ลำที่ 2-3 ได้ส่วนลดเพิ่ม

พล.ร.ต. อรรถพล เพชรฉาย องผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือจัดหายุทโธปกรณ์ เลขานุการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าวว่า การที่มีผู้ให้ข่าววาการลงนามจีทูจี โดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น ตอบได้หมดทุกประเด็น

ทางรัฐบาลจีนได้รับทราบพยายามจัดหาเป็นระยะ การเจรจาอยู่บนพื้นฐานเรือดำน้ำ 3 ลำมาโดยตลอด การเจรจาจัดซื้อลำที่ 1 ข้อตกลงเรือลำแรก จัดซื้อจัดหา จีทูจี สหรับลำที่ 2-3 ตั้งงบประมาณไปแล้ว เป็นหน้าที่ของกองทัพที่ต้องดำเนินการต่อไป โดยเราซื้อ 2 ลำพร้อมกัน ถูกกว่าลำแรกซึ่ง 13,000 ล้านบาท ค่าตัวเรือ 12,000 ล้านบาท

ส่วนลำที่สอง 11,250 ล้านบาท ได้ส่วนลดเพิ่มอีกได้ให้อุปกรณ์เพิ่ม แผ่นยางหุ้มตัวเรือ ระบบสื่อสารดาวเทียม อาวุธปล่อยนำวิถี ทุ่นระเบิดตอปิโด รวม 2,100 ล้านบาท และขอให้เพิ่มในลำแรกด้วย ปี 2569-2570 จะได้เรือดำน้ำเหมือนกัน 3 ลำ

ขณะที่ พล.ร.ท.เฉลิมศักดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ยืนยันว่า การมีเรือดำน้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้าน ในทะเลจีนใต้ กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ 22,500 บาท ชำระปี 2564 วงเงิน 3,925 ล้านบาท เมื่อเทียบผลประโยชน์ทางทะเลของไทยต่อปี 0.093% เท่านั้น กองทัพเรือพิจารณาอย่างรอบคอบ คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ ยุทธการ