เทศบาลถังแตก ภาษีท้องถิ่นหดตัว 90 % ส่อไร้เงินเดือน จ่อปลดพนักงาน

เศรษฐกิจเงียบเหงา

มหาดไทยขยายเวลาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปถึง ต.ค. 63 รายได้ท้องถิ่นหดตัว 90% สะเทือนเงินเดือน-ปลดพนักงาน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องแนวทางปฏิบัติ ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 หลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ส.ค. 2563 และผ่อนชำระ 3 งวดได้ในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อรัฐประกาศให้ท้องถิ่นเก็บภาษีใหม่ ปัญหาตามมามากมายเรียกว่าได้รับผลกระทบทั้งประเทศ จากที่ตั้งเป้าจะเก็บภาษีได้ 120 ล้านบาทก็หายไปทันที 100 กว่าล้านบาท เหลือส่วนที่เก็บได้ 10% คือ 12 ล้านบาท

แล้วเมื่อมาเก็บจริง ๆ ก็มีเงื่อนไขผ่อนปรน สรุปจัดเก็บได้แค่ 3-4 ล้านบาท ทำให้โครงการที่ต้องพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องชะลอโครงการถึง 80-90% และต้องดึงเงินสะสมมาจ่ายในโครงการเหล่านี้ด้วย รวมแล้วเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่นได้รับผลกระทบร่วม 200 ล้านบาท จากการประเมินก็กระทบถึงปี 2564 ด้วย

เช่นเดียวกับ จังหวัดนครสวรรค์ นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศบาลนครนครสวรรค์ เปิดเผยว่า นครสวรรค์จะมีผู้เสียภาษีดังกล่าว 40,000 ราย จากที่เคยเก็บได้ 90 ล้านบาท คาดว่าปีนี้เก็บได้ 4 ล้านบาท งานพัฒนาต่าง ๆ คงต้องหยุดโครงการและมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือน คิดว่าเทศบาลทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกัน

ตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปยังผู้เสียภาษีทั้งหมดแล้ว แต่จดหมายบางส่วนถูกตีกลับ 7,000-8,000 ราย เพราะไม่มีคนรับเอกสาร ต้องให้พนักงานลงพื้นที่ไปส่งเองตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพราะแบกภาระค่าไปรษณีย์ไม่ไหว ซึ่งจ่ายไปไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทแล้ว

ส่วนเมืองท่องเที่ยว อย่างภูเก็ตก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีป่าตอง เปิดเผยว่า ปีนี้คงจัดเก็บภาษีที่ดินฯได้ไม่เกิน 25 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 50% เพราะคนที่ต้องเสียภาษียังไม่มีเงินมาชำระ และเมื่อส่งเอกสารไปแล้วก็ถูกตีกลับจำนวนมาก เพราะคนที่ต้องเสียภาษีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่เมืองป่าตอง

“เทศบาลทำเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังกรมส่งเสริมท้องถิ่น และนำเรื่องส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้รัฐบาลช่วยชดเชยจำนวนเงินที่หายไป อย่างหาดป่าตองเคยเก็บได้กว่า 380 ล้านบาท”

ด้านสันนิบาตเทศบาลภาคใต้เปิดเผยว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศโดยเฉพาะ อบต.และเทศบาลกำลังประสบปัญหาสถานการเงิน หากไม่มีเงินสำรอง อาจจะต้องมีการปลดพนักงาน หรือชะลอการรับโอนข้าราชการ ในปีงบประมาณ 2564 จะประสบปัญหามาก เพราะเงินรายได้จะหายไปมา


“ค่าใช้จ่ายสำหรับนมโรงเรียน และอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ขาดไปหายร้อยละ 20-40 ซึ่งอาจมาจากช่วงโควิดโรงเรียนหยุด” รายงานข่าวระบุ