ปารีณา เจอ ป.ป.ช. ฟัน 2 ข้อกล่าวหา แจ้งทรัพย์สินเท็จ-รุกที่ดิน

“ปารีณ ไกรคุปต์” เจอ ป.ป.ช.แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา กรณีแจ้งทรัพย์สินเท็จ-รุกที่ป่า เตรียมชี้แจงตามขั้นตอน 

วันที่ 7 กันยายน 2563 รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยความคืบหน้ากรณี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งไต่สวน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้น ขณะนี้คืบไปกว่าร้อยละ 90

โดย ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ปารีณา เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ น.ส.ปารีณา ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

“ส่วนกรณีบุกรุกที่ดิน แยกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ตำรวจทรัพยากร หรือตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ เนื่องจากตำรวจทรัพยากรได้พิจารณาเห็นว่า เป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกรุก

แต่ทาง ป.ป.ช.เห็นว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดในฐานะส่วนตัว และไม่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำในฐานะ ส.ส. ดังนั้น การกระทำจึงเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งในส่วนนี้เราได้ส่งเรื่องกลับไปให้ตำรวจทรัพยากรแล้ว” แหล่งข่าวรายเดิมระบุพร้อมกล่าวว่า

สำหรับกรณีที่มีการบุกรุกที่ดินนี้ ป.ป.ช.กำลังพิจารณาในแง่ของจริยธรรม ซึ่งพบว่าอาจมีประเด็นจงใจที่จะกระทำความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ตามกฎหมายระบุว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ขณะนี้ ป.ป.ช.จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ปารีณาแล้ว และหากไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความผิดจริง ก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ตามมาตรา 87 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 ที่ระบุไว้ว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้

“หากผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ” แหล่งข่าวระบุ


ข้อมูล มติชน