จำคุก “วัฒนา เมืองสุข” 50 ปี ปิดคดีบ้านเอื้ออาทร

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร” โดยศาลพิพากษาจำคุกนายวัฒนา ความผิดตามมาตรา 148 จำนวน ของประมวลกฎหมายอาญา 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี

ส่วนนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง มีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปีจำคุกจริง 50 ปี

จำคุก น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ปรับจำเลยที่ 8 2 แสนกว่าบาท และจำคุกนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14

อย่างไรก็ดีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาแล้ว แต่คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน

คดีนี้เป็นหนึ่งในคดีมหากาพย์ทุจริตในยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ต่อเนื่องมาเป็นทศวรรษ คือ “คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่ยุคคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

และ คตส. ส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนต่อ กระทั่ง ช่วงปี 2560 ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด “วัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมจำเลยคนอื่นๆ อีก 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบนจากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 82.6 ล้านบาท

ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ แต่ได้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ โดยชี้มูลตั้งแต่ปี 2552

ทว่า อัยการพบความไม่สมบูรณ์ในสำนวน ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ขึ้นมา กระทั่ง 9 พฤษภาคม 2561 อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยจำเลย 1- 14 ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข 2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ด กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549, 3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย,

4.นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, 5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง, 6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด,

7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ, 8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน, 9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน,

10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย, 11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, 12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย, 13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และ 14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

ก่อนหน้านี้ “วัฒนา” ได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 5 ล้านบาท โดยแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ

คดีดังกล่าวใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลนานกว่า 2 ปี กระทั่งถึงวันพิพากษา (24 ก.ย.63)  “วัฒนา” ได้เดินทางมาถึงศาลฎีกาฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า พร้อมบุตรสาว และให้สัมภาษณ์ว่า

“สู้มา 14 ปีก็รอวันนี้ รัฐประหาร 2 ครั้งได้มา 10 คดี คดีนี้เป็นคดีสุดท้าย เกิดจากรัฐประหาร 2549 จนกระทั่ง 2557 คดีไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร ตนมีความมั่นใจ คดีมีพิรุธในทุกขั้นตอน หากผลคำพิพากษาไม่เป็นตามที่คาดนั้น ก็ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย ฝากให้ช่วยผลักดันรัฐธรรมนูญ อยากให้คืนอำนาจให้ประชาชนไปเขียนรัฐธรรมนูญเอง บ้านเมืองจะได้หมดยุคการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ หลักนิติธรรมจะได้กลับสู่บ้านเมือง สิ่งที่สู้มาตลอด โดนจับโดนอุ้มก็เพราะสู้มาเรื่องนี้” วัฒนา กล่าว