เลือกตั้งท้องถิ่น : เทียบฟอร์มพรรคใหญ่-ทีมธนาธร เปิดศึกชิงอำนาจ

เลือกตั้งท้องถิ่น

สิ้นสุดการรอคอยสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 ตุลาคม 2563 มีมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัด โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งตามความเหมาะสมภายใน 60 วัน

เป็นการเลือกตั้ง-วัดใจ ฝ่ายประชาชนและนักเลือกตั้งทุกระดับ ในรอบ 6 ปีหลังรัฐประหาร รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งงชาติ (ศสช.)

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศไทม์ไลน์ อย่างเป็นทางการ ว่า  “เนื่องจากด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ทำให้ดำเนินการได้เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น”

“ครม. จึงมีมติให้เริ่มมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นสนามแรกก่อน เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่า ส่วนการกำหนดวันเวลานั้นเป็นเรื่องของ กกต. ส่วนการเลือกตั้งในส่วนอื่น ขอให้มีความพร้อมมากกว่านี้ ในปี 2564” 

“เราอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้ โปร่งใส เป็นธรรม ไม่ทุจริต ได้คนดีมาทำงานท้องถิ่น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณล่วงหน้า พร้อมกำหนดวัน-เวลา ไว้ว่า “ถ้าจะเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างน้อยหนึ่ง ในเดือนธันวาคมน่าจะเหมาะสม เพราะเข้าสู่ปีงบประมาณ 2564 จะทำให้ไม่กระทบต่อการงบประมาณปี 2563”

วัน ว.เวลา น. จึงถูกล็อกไว้ปลายปี 2563 วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563 หรือ วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปักธงในปฏิทิน “วันหย่อนบัตร” ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ วันที่ 13 ธันวาคม 2563 เนื่องจากเป็น “วันหยุดยาว 8 วัน”

สำหรับสถานภาพของสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และประกาศ คสช.จนถึงปัจจุบัน ภายใต้งบประมาณรายจ่าย ปี 2564 มีทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้าน

สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครอง ทั้งประเทศ มีทั้งหมด 7,850 แห่ง ประกอบด้วย

  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง
  • เทศบาล 2,469 แห่ง
  • เทศบาลนคร 30 แห่ง
  • เทศบาลเมือง 192 แห่ง
  • เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง
  • องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง
  • และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง (กรุงเทพมหานคร-พัทยา)

ทันทีที่เสียงระฆังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ดังขึ้น จากทำเนียบรัฐบาล ผู้คุมกฏ-กติกา ทั้งกระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างพากันเข้าไลน์แสดงความพร้อมในที่ตั้ง อาทิ

กระทรวงมหาดไทย

1. ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้งสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร

2. การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล กรณีหมู่บ้านใดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

3. การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการล่วงหน้า

โดยเฉพาะการจัดเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้พร้อมแล้ว

คณะกรรมการการเลือกตั้ง

1. ออกระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว

2. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดครบทุกแห่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

3. ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว

4. ดำเนินการอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จำนวน 10,749 คน ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในเดือนกันยายน 2563 สำหรับการอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะดำเนินการเมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เช็คความพร้อมพรรคการเมืองขาประจำ-ขาใหญ่ และ “คณะบุคคล” ที่จะส่งตัวแทน-เครือข่ายเพื่อเตรียมความพร้อม-ปูทางก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่

กลุ่มการเมืองที่เป็นนกรู้-ออกตัวแรง รวมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมากที่สุด ต้องยกให้ “คณะก้าวหน้า” ของอดีตแกนนำอนาคตใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” “ปิยบุตร แสงกนกกุล” และ “พรรณิการ์ วานิช” ประกาศชิงชัย-ปูพรม จัดเตรียมนักเลือกตั้งภูธร ทั่วทุกหัวเมือง ตั้งแต่ 90 วันที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในช่วง 30 วัน ก่อน ครม. จะประกาศการเริ่มต้นฤดูกาล-การเลือกตั้ง “คณะก้าวหน้า”เคลื่อนไหวพบประประชาชน-ฐานเสียง ขึ้นเหนือลงใต้ อย่างไม่ขาดสายทั่วทุกสารทิศ เคาะประตูหาเสียงการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเข้มข้น

“ธนาธร” มีวาระโผล่ไปภาคอีสาน เดี๋ยวผลุบลงภาคใต้ พูดคุยกับแกนนำมวลชน-ผู้ประสบปัญหาเดือดร้อน ประชาชนทุกท้องถิ่นนั้น ๆ ถึงสารพัดปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งเจาะกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐ

โดยเฉพาะการลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามันที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีรายได้นำโด่งทุกปี โดยเฉพาะ “ภูเก็ต-พังงา” นักท่องเที่ยวหดหาย ผู้ประกอบการเดือดร้อนหนักจากพิษโควิด-19 

ส่วน “ปิยบุตร” นำคณะก้าวหน้าออนทัวร์ภาคเหนือ “ลำปาง-ลำพูน-แพร่-เชียงใหม่-เชียงราย” รณรงค์เลือกตั้งท้องถิ่น ยึดนโยบายของอดีตพรรคอนาคตใหม่เดิม ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

หลังมติ ครม.ออก (6 ต.ค.) “พรรณิการ์” เคลื่อนไหวทันที โดยเผยว่า 2 เดือนที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าได้คัดเลือกผู้สมัคร อบจ. ได้เกือบ 40 จังหวัด ในทุกภาคของประเทศ และพร้อมจะเปิดทีมผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ต.ค.นี้

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ “เอก-ป๊อก-ช่อ” จะใช้ชื่อที่ใช้ในการเลือกตั้งว่า “คณะก้าวหน้า” แล้วต่อด้วย อปท.นั้น ๆ แต่จะหลีกทางในส่วนสนามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษท้องถิ่น อย่าง กทม.ปล่อยมือให้ “พรรคก้าวไกล” เป็นฝ่ายจัดการเดินเกมแทน

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ ว่า “สเป็กของคนที่จะมาลงสมัครในนามก้าวไกล ต้องเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า พร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลง เข้าใจปัญหาประชาชน กทม.เป็นอย่างดี ตั้งใจทำงาน มีนโยบายที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน”

ฟากพรรครัฐบาลอย่าง “พลังประชารัฐ” (พปชร.) “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดีอีเอส หัวหน้าก๊วนกทม.-ในฐานะรองหัวหน้าพรรคยังคง “อุบไต๋” ว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง “ผู้ว่ากทม.”

“เวลานี้ยังไม่มีใครทราบ หัวหน้าพรรคยังไม่ได้เรียกประชุม และยังไม่รีบตัดสินใจ เพราะมีการเช็คกระแสความนิยมของพรรคอยู่ประจำทุกเดือน”

อย่างไรก็ตาม “3 ทหารเสือ กปปส.” ของนายพุทธิพงษ์ – “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ “สกลธี ภัทรทิยกุล” ซึ่งปัจจุบันเป็น “รองผู้ว่ากทม.” ได้ “ฟอร์มทีม” ภายใต้สโกแกน 1+4 โดยเตรียมส่ง “ศรีภรรยา” ของนายณัฏฐพล – ทยา ทีปสุวรรณ เป็นแม่ทัพ-ผู้ว่ากทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ

ทว่าต้องรอสัญญาณจาก “ผู้มีบารมีนอกพรรค” บนตึกไทยคู่ฟ้า และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าหนุนหลัง “พระแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ลงสมัครผู้ว่ากทม. ในนามอิสระหรือไม่

ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ปักหมุดท้องถิ่นในพื้นที่อีสาน รวมถึงเตรียมการขยายอาณาเขตมาสู่ภาคใต้ด้วย เตรียมผู้สมัครลงเลือกตั้ง อบจ. ทั้งในจังหวัดระนอง สตูล พัทลุง รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ด้วย เพราะเป็นพื้นที่การเมืองใหม่ของพรรคที่มี “ตระกูลรัชกิจประการ” เป็นกำลังหลัก

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค บอกเพียงว่าได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ไว้เกือบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของทุกภาคแล้วว่าใครจะเป็นผู้สมัคร

แต่ที่ยัง “หาคนลงไม่ได้” คือ สนามเลือกตั้งกทม. ถึงแม้ว่าจะมีชื่อลอยมาทั้ง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบพื้นที่ กทม. อดีต ส.ส.กทม.ปชป.หลายสมัย

“ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมไปถึง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจสมัยใหม่

ข้ามมาฝั่งพรรคผู้นำฝ่ายค้าน อย่าง “เพื่อไทย” มีแอ็กชั่นที่ชัดเจนที่สุด จากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ประกาศรับสมัครคนลงเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ-และสภาเขต กทม.

พร้อมทั้งตั้ง “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” อดีตหัวหน้าพรรค เป็น “หัวหน้าชุด” หาคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น

และท้ายที่สุด…ตัวเต็งอย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ยังคงยืนยันในหลักการเดิมว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ หลายเดือนที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ทำงานในนามอิสระมาอย่างต่อเนื่อง


หากไม่มีอุตบัติเหตุทางการเมือง ตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการช่วงชิงอำนาจทุกระดับ ตั้งแต่พื้นที่หมู่บ้าน ถึงเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ปูทางฐานอำนาจไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี…อีกครั้ง ในปี 2565