เสื้อแดงใน “คณะราษฎร 2563” จากไพร่-อำมาตย์ ถึงเพดานศักดินา

การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 14 ตุลาคม 2563 จบลงที่ถูกสลายการชุมนุมในช่วงกลางดึก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เซ็นคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม.

แกนนำตัวหลักในการชุมนุมถูกจับกุมแทบทั้งหมด นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล พร้อมแกนนำรวม 22 คน

ทว่า แม้แกนนำถูกจับกุม แต่เชื้อไฟในใจขบวนการนักศึกษา-ภาคประชาชน ไม่ยุติไปง่าย ๆ

เหมือนดังเช่น “คณะราษฎร 2563” ที่ร้อยอารมณ์ของความพ่ายแพ้ขบวนการการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต ตีความการต่อสู้ใหม่ของคณะราษฎร 2475 กับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงในปี 2552-2553

“ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” รองคณบดีรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีไทย ถึงขบวนการชุมนุมของนักศึกษาในปัจจุบัน นำ 2 เหตุการณ์ในอดีตเข้าด้วยกัน เป็น “ตัวแบบ” การเคลื่อนไหวว่า ในเวทีของนักศึกษา การปราศรัยเชื่อมโยงตัวเองกับ 3 เหตุการณ์เป็นหลัก 24 มิถุนา 6 ตุลา พฤษภา 2553
และคน 3 กลุ่ม คณะราษฎร อดีตแกนนำนักศึกษา และขบวนการเสื้อแดง ทั้ง 3 ขบวนการเป็นขบวนการ ที่ถูกวาดภาพเชิงลบ

คณะราษฎรถูกวาดภาพเป็นผู้ร้ายเป็นเวลายาวนาน 6 ตุลา ไม่ต้องพูดถึง คนเสื้อแดงถูกมองว่าเผาบ้านเผาเมือง กลายเป็นว่ากลุ่มนักศึกษาเขาไปตีความใหม่หมด และยกย่องคนเหล่านี้เป็นวีรชนประชาธิปไตย ต่อให้แพ้ แต่ได้ก่อร่าง เป็นผู้วางอิฐก้อนแรกในการสร้างประชาธิปไตยในสังคมนี้

ดังนั้น ลายเซ็น-ไวยากรณ์ของม็อบการเมือง จาก นปช.-คณะราษฎร 2563 จึงตกทอดผ่านดีเอ็นเอในการชุมนุมทางการเมือง ในหลากหลายแง่มุม

ภาษาการเมือง นปช.-ราษฎร 63

ในการชุมนุม 2553 ของคนเสื้อแดง กับการชุมนุมคณะราษฎร 2563 ยก “ความแตกต่างทางชนชั้น” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ตอกย้ำอารมณ์ความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ในปี 2553 นปช.หยิบยกวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” ขึ้นมาเป็นธีมหลัก สะท้อนความไม่เท่าเทียมซึ่งสิทธิ โอกาส ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม การได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันจากอำนาจรัฐ

แต่คำว่า “ไพร่” ในม็อบเสื้อแดง ถูกนำมา ใช้ตั้งแต่ปี 2550 คำว่า “ไพร่” ที่ นายจักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึง “ไพร่” ไว้ในบทกลอนที่กล่าวบนเวทีท้องสนามหลวง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) กระทั่งวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” ถูกยกมาใช้อย่างจริงจังในอีก 3 ปีต่อมา

เมื่อมีการปูพื้นทางการเมืองผ่านการชุมนุมของ นปช. โดยมี “ทักษิณ ชินวัตร” โฟนอินเข้ามาอ้างถึงคนเบื้องหลังที่เป็นผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยพุ่งเป้าไปที่อดีตประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” หรือ “กลุ่มอำมาตย์”

ขณะที่คณะราษฎร 2563 เชื่อมโยงการชุมนุมของกลุ่มกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ยกวาทกรรม “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

กะเทาะคำว่า “ศักดินา” เป็นการแบ่ง “ศักดิ์” ที่แบ่งฐานะทางสังคมแตกต่างกัน อันเป็นกลไกหนึ่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นใน “ระบบศักดินา” ตามกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ “ไพร่” เป็นผู้ที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 25 ไร่ลงมา ซึ่งระบอบศักดินาใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในรัชกาลที่ 5

ส่วน “ประชาราษฎร์” เป็นการสนธิระหว่าง “ประชาชน+ราษฎร” ซึ่งคำว่า “ราษฎร” ตามความหมายในพจนานุกรม มีความหมายว่า “พลเมือง” อันปรากฏอยู่ในคำประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ตั้งแต่คำเริ่มต้น “…ราษฎรทั้งหลาย”

ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “ผู้แต่งหนังสือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕” สำรวจคำว่า “ราษฎร” พบว่า คำนี้ได้ใช้อยู่อย่างแพร่หลายในหมู่คนกลุ่มหนึ่งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 อย่างเช่น มีหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ราษฎรนายใช้ บัวบูรณ์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในระหว่างปี พ.ศ. 2471-2472

ในหนังสือถวายฎีกาจำนวนมาก ผู้ถวายฎีกาต่างเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” และมีหนังสือพิมพ์บางฉบับเอาข่าวการถวายฎีกามาพิมพ์เผยแพร่ ทำให้คำดังกล่าวมีความรู้สึกนึกคิดที่ดูรุนแรงกำกับอยู่

คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เรียกตัวเองตามภาษาของยุคสมัยว่า “คณะราษฎร” และเมื่อมีการยึดอำนาจรัฐเกิดขึ้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระบุให้เรียกฝ่ายบริหารว่า “กรรมการราษฎร”

คำว่า “ราษฎร” ซึ่งเป็นคำสามัญดั้งเดิมได้กลายมาเป็นภาษาการเมืองของยุคสมัยเช่นเดียวกับ “ไพร่-อำมาตย์” และ “ศักดินา-ประชาราษฎร์”

ตกทอดมรดก “บทกวี-ตีนตบ”

นอกจากนี้ “นวัตกรรม” การชุมนุม ที่ตกทอดจากการชุมนุมของ นปช. มาถึงคณะราษฎร 2563 นอกจากมวลชนรุ่นใหญ่ที่เข้ามาร่วมชุมนุมเสริมกำลังในช่วงสาย-เที่ยง-บ่าย ก่อนจะผลัดมือ ส่งไม้ต่อ ถึงคนรุ่นใหม่
หนุ่ม-สาว ที่มาร่วมชุมนุมในช่วงค่ำ

ในมือของผู้ชุมนุมรุ่นใหญ่-ส่วนใหญ่ นำสัญลักษณ์ “ตีนตบ” มาทำสงครามเชิงสัญลักษณ์ ตอบโต้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี “มือตบ” เป็นอาวุธ

จาก “ม็อบตีนตบ” แตกแขนงออกมาเป็น “หัวใจตบ” ซึ่งยังมีให้เห็นจากขบวนการคณะราษฎร 2563

ขณะที่ “บทกวี” ของ “วิสา คัญทัพ”กวีประชาธิปไตย ประจำ นปช.

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ

ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป

เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่

เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ก็ถูกนำมาท่องต่อบนเวทีขบวนการนักศึกษา โดยเฉพาะการเดินขบวนของคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

พิธีกรรมไสยศาสตร์

ยังนับรวมถึง “พิธีกรรม” ทางไสยศาสตร์ เมื่อคณะราษฎร 2563 ครั้งยังเป็น “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ปฏิบัติการ ปักหมุดคณะราษฎร 2563 บนท้องสนามหลวง ในวันนั้นมี “อรรถพล บัวพัฒน์” จากกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” ทำหน้าที่เป็น “พราหมณ์” ประกอบพิธีสวดมนต์ อัญเชิญเหล่าเทพเทวดา ดวงวิญญาณคณะราษฎรและวีรชนประชาธิปไตย มาร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมสาปแช่งคนที่สั่งการ-คนถอนหมุด

ขณะที่กิจกรรมของกลุ่ม นปช.เมื่อ 10 ปีก่อน มีการ “เทเลือด” ใส่รั้วทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 วันนั้นมี พราหมณ์ศักระพี พรหมชาติ พราหมณ์กลุ่ม นปช. ประกอบพิธี

โดยอธิบายว่า พิธีการเทเลือดบริเวณทำเนียบเป็นพิธีอัปมงคล ซึ่งยังไม่มีชื่อเพราะเป็นการทำครั้งแรก โดยจะนำความหายนะมาสู่ผู้ถูกกระทำรวมถึงผู้กระทำก็คือ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ

โดยผลที่เกิดขึ้นจะมีแต่ความหายนะต่อประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ตาม มีวิธีแก้เคล็ดด้วยการนำนางรำและไหว้
ท้าวมหาพรหม ซึ่งพิธีอัปมงคลนี้จะมีผลต่อผู้ถูกกระทำให้ไม่เป็นผลดีกับใครเลย โดยเฉพาะ ครม.ที่จะต้องเดินย่ำเลือดของเสื้อแดง ที่ทำพิธีไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าและออก

จากเทสี ถึง เทเลือด

ดังนั้นในการชุมนุมของ นปช.ปี 2553 แกนนำกลุ่ม นปช.นอกจากจะเทเลือดที่ประตูทำเนียบรัฐบาลแล้ว ยังประกาศขอบริจาคเลือดจากผู้ชุมนุมให้ได้ถึง 1 ล้านซีซี โดยจะนำไปสาดที่รัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยบริจาคคนละ 10 ซีซี

“จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำ นปช. กล่าวในเวลานั้นว่า การเจาะเลือดคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่การเล่นเกม แต่เป็นการทำพิธีกรรม “เอาเลือดไพร่ไปล้างเลือดอำมาตย์” จากนั้น นปช.ก็ทำตามแผน โดยนำเลือดที่ได้รับการบริจาคไปเทที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หน้าบ้านของนายอภิสิทธิ์

10 ปีต่อมา การชุมนุมในปี 2563 ไม่มีการเทเลือด แต่มีการ “เทสี” เป็นสัญลักษณ์ การเทสีครั้งแรกที่ปรากฏขึ้นในรายงานข่าวของสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 เป็นกรณีที่ “ไผ่ ดาวดิน” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ ในวันนั้นมีกลุ่มประชาชนปลดแอกไปให้กำลังใจ

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นทางเข้า-ออก ไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในสถานีตำรวจ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบูลส์ จะนำถังสีพลาสติกมาสาดใส่ตำรวจที่วางกำลังอยู่

กิจกรรมเทสี ถูกนำไปใช้เป็นกิจกรรมภายในพื้นที่การชุมนุม เช่น เปิดให้สาดสี-เทสี ใส่รูปภาพของบุคคลในรัฐบาล การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรอีสานเมื่อ 13 ตุลาคม 2563 ก็มีการเทสี ภายหลังถูกกระชับพื้นที่ “แอมมี่” ให้ความหมายว่า ประชาชนถูกป้ายสีมามากพอแล้ว จึงตอบโต้ด้วยศิลปะ

ภารกิจของคณะราษฎร 2475 การต่อสู้ของ นปช. เปลี่ยนผ่านสู่คณะราษฎร 2563 แม้แกนนำถูกจับ แต่เชื้อไฟแห่งการชุมนุมยังไม่ยุติ การรวมตัวของมวลชนยังคงดำเนินต่อไป…ย่ำไปในตำนานม็อบเสื้อแดงที่สี่แยกกราชประสงค์