ประยุทธ์ ออกไป ทั่วโลกออนไลน์-ออฟไลน์ จับตานายกรัฐมนตรี บนหลังเสือ

เสียงตะโกน และแฮชแท็กในโลกออนไลน์ “ประยุทธ์ ออกไป” ทั่วโลกออนไลน์-ออฟไลน์ จับตาการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี บนหลังเสือในรอบ 7 ปี

เที่ยงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 โลกออนไลน์ ทุกแพล็ตฟอร์ม เปล่งเสียงเดียวกันว่า “ประยุทธ์ ออกไป”

ก่อนหน้านี้ 72 ชั่วโมง เสียงบนท้องถนนใจกลางกรุงเทพมหานคร สะท้อนเสียงกึกก้อง “ประยุทธ์ ออกไป”

ก่อนหน้านี้ 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศหนักแน่น “ผมไม่ออก…ผมผิดอะไร”

ก่อนหน้านี้ 7 ปี ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะขึ้นสู่อำนาจ-นายกรัฐมนตรี ที่มาจากรัฐประหาร เขาเคยพูดไว้ว่า “ผมไม่เคยคิด หรือคาดหวังว่าผมต้องได้เป็นนั่นเป็นนี่ แค่อยากให้บ้านเมืองสงบ ประชาชนมีความสุข ผมก็พอใจแล้ว”

“พล.อ.ประยุทธ์” กระโดดขึ้นหลังเสือ ตั้งแต่นาทีที่ ประกาศว่า “ผมขอยึดอำนาจ” 22 พฤษภาคม 2557 ตามอำนาจล้นฟ้า ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมกับมาตรา 44

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต่อท้ายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อ สนช. 191 เสียง โหวตให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐสภา 21 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็น “วันทหารเสือราชินี” หรือวันสถาปนากรมทหาราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ต้นกำเนิดชีวิต-เส้นทางอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

นับเป็นนายกรัฐมนตรี คนแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในกองบัญชาการทหารบก หลังจากการโหวต 3 วัน

นับตั้งแต่วันที่เก้าเดือนเก้า 9 กันยายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่เคยก้าวเท้า พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ด้วยบทเรียน ของเครือข่ายฝ่ายอำมาตย์ หรือกลุ่มรอยัลลิสต์ ที่สรุปตรงกันว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ของการรัฐประหารนั้น เป็นการ “เสียของ” เพราะต้องมีฉากจบ ด้วยการถูกประชาชนขับไล่ หรือถูกปฏิวัติซ้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จึงปักธง เป็นทั้งผู้ยึดอำนาจ และผู้บริหารอำนาจ แทนที่จะรัฐประหาร แล้วส่งต่ออำนาจให้กับเครือข่ายอำนาจด้วยกัน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากสถานการณ์เดดล็อกทางการเมืองในเวลานั้น ที่มีองค์ประกอบพร้อม-ปูทางไปสู่การยึดอำนาจ อาทิ การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ยาวนานกว่าครึ่งปี ประชาชนไม่มั่นใจในรัฐบาล เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดม็อบสีต่างๆ สลับกันชุมนุม ปิดถนน ขนอาวุธ ซ่องสุม

เสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงดังขึ้น “ผมไม่ได้มาแย่งอำนาจใคร ไม่ได้มาแย่งอำนาจรัฐบาล (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพราะรัฐบาลทำงานไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้ งบประมาณคั่งค้าง ทุกอย่างติดขัดไปหมด ผมจึงมาช่วย ช่วยปลดล็อก ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวนา ไม่ใช่ว่าผมอยากได้อำนาจ”

ปฏิบัติการคืนความสุข และจะขอเวลาอีกไม่นาน ยืดยาวมาจนถึงการเลือกตั้ง 2562 แต่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังคงติดอันดับในในของฝ่ายศักดินา ที่ต้องการให้ปักหลักเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ด้วยเงื่อนไขที่ผูกปมไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2560

ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกล็อกไว้ในมือของวุฒิสมาชิก 250 คน และส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมกับพรรคอนุรักษนิยมอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลุ่มอดีตเครือข่ายอำนาจเก่าของ นายทักษิณ ชินวัตร ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับการรวบรวมพรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว รวม 20 พรรค มากที่สุดในประวัติการณ์ ดัน “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 สมัยที่ 2

เมื่อกงล้อการเมืองย้อนเวลา-สถานการณ์สุกงอม เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดโรคระบาดร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ประชาชนไม่พอใจนโยบาย มีผู้ถูกคุกคาม ปมปัญหารัฐธรรมนูญปะทุขึ้นในทุกโครงสร้างอำนาจ

เดือนตุลาคม 2563 จึงเกิดการลุกขึ้นต่อต้าน ทั่วสารทิศ นักเรียน-นักศึกษา ประชาชน ร่วมกันเปิดเวทีชุมนุม ในนาม “คณะราษฎร 2563” ยื่นข้อเรียกร้องทางการเมือง ทั้งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” และคณะออกไป-ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปทั่วด้าน

เมื่อมีการนัดแฟลชม็อบในโลกออนไลน์ ให้พิมพ์คำว่า “ประยุทธ์ออกไป” โดยพร้อมเพรียงกัน ให้เต็มทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย ในช่วงเที่ยง ของวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563

โลกออนไลน์จึงระดมติด #ประยุทธ์ออกไป โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยมีนักกิจกรรมหลายคน อาทิ โบว์ ณัฏฐา, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด รวมทั้งแฟนเพจแฟนคลับศิลปินเกาหลี วงต่าง ๆ ก็ออกมาโพสต์ข้อความ ติดแท็ก ทำให้ขึ้นที่ 1 ทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน


­­เมื่อเสียงก้องที่เกิดจากโลกเสมือนจริง-โลกออกไลน์ กระหึ่ม “ประยุทธ์ ออกไป” ดังไปถึงหู-ทุกรูขุมขน ของ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงน่าระทึกอย่างยิ่งว่า อีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า จะเกิดการโต้กลับในรูปแบบใด