ถอนไฟออกจากไฟ ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก ล้างไพ่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยุบสภา ครม.รักษาการ ประยุทธ์ อุนมัติอะไรไม่ได้บ้าง

“ประยุทธ์ออกไป” คือ ข้อเรียกร้องและเสียงตะโกนของ “ม็อบราษฎร” ดังกึกก้องทั่วทุกท้องถนน ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองทั่วประเทศ วันละไม่น้อยกว่า 10 จุด

ติดเทรนด์ในโลกโซเชียลภายใน 12 ชั่วโมง หลังแกนนำและแนวร่วม “ม็อบราษฎร” ประกาศติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์

“ประยุทธ์ออกไป” เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง ที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เสนอจุดยืน พ่วงไปกับการให้รัฐบาลเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

เพื่อถอนไฟออกจากไฟ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงโบกธงถอย ทำตามข้อเสนอของผู้ชุมนุม ทั้งในฝ่ายบริหาร-ตุลาการ-นิติบัญญัติ

เริ่มจากขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในกระบวนการยุติธรรม ศาลอุทธรณ์กลับคำศาลชั้นต้น ให้ประกัน น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล นายณัฐชนน หรือณัฐช ไพโรจน์ และ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ 3 แกนนำคณะราษฎร 2563 ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ในความผิดหลายข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และกิจกรรมที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-10 สิงหาคม 2563

นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน 19 ผู้ต้องหา ที่มีการจับกุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

แต่หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ทั้งรุ้งและเพนกวินก็ถูกหมายจับคดีอื่น กลับเข้าฝาก ขังต่อที่ ตชด.ปทุมธานี ด้วยหมายจับคดีอื่นก่อนหน้านี้

นับเป็น 1 ในยุทธวิธีของฝ่ายรัฐบาล สนธิกำลังกับฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ ที่มีการ “แกงคืน” ผู้ชุมนุม ด้วยการจับสลับปล่อย

จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” บรรลุชัยชนะไปแล้วอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การปล่อยตัวแกนนำบางส่วน และการเปิดสภาสมัยวิสามัญ

ทว่า ข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายนิติบัญญัติยังแบ่งรับแบ่งสู้ คือ วาระการพิจารณาของสภา 2 วัน เพื่อให้รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งมาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

และแก้มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตจนเป็นทางตัน

ในกรณีที่มีการยุบสภาขึ้น ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะแล้วเสร็จ ในท่ามกลางวิกฤตการเมือง พล.อ.
ประยุทธ์ มีทางเดินหมากอยู่ 3 ทาง ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทางที่หนึ่ง ประคองสถานการณ์ ประนีประนอมกับข้อเสนอของผู้ชุมนุม เปิดการอภิปรายข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ในสภาสมัยวิสามัญ พร้อมเปิดทางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตราดังกล่าว โดยใช้เสียงของพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา

ทางที่สอง หากวิกฤต จนสุดปลายมือ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่สามารถไปต่อต้องลาออก นำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 19 พรรค และเสียง 250 ส.ว. ซึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในพรรคอันดับ 2 คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ทางที่สาม วิกฤต จนต้องล้างกระดานการเมืองใหม่ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกและยุบสภา ล้ม-ตีตกข้อเสนอของผู้ชุมนุมทุกข้อ ทั้งไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีการปฏิรูป นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติกาเก่า ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

ระหว่างนี้ มีเกมคู่ขนานของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ปรับเกม-เปลี่ยนแผน ด้วยความเชื่อของสัญชาตญาณนักการเมืองว่า “วิกฤตการเมืองจะลุกลามเหมือนไฟป่า ต้องมีทั้งนายกรัฐมนตรีออกไปและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนการเลือกตั้งใหม่”

ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านอีกรายวิเคราะห์ทางออกใหม่ไว้ 2 ทาง คือ

ทางแรก เพื่อเป็นการล้างไพ่ และไปต่อได้โดยไม่ต้องยุบสภา คือ ให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว

ทั้ง 19 พรรครัฐบาล รวม 276 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 120 เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

พรรคเล็ก 10 พรรค พรรคละ 1 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทรักธรรม

และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

ทั้งนี้ พรรคพลังชาติไทย ยุบไปรวมกับพลังประชารัฐ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลจาก 20 พรรค เหลือ 19 พรรค

หาก 19 พรรค ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ในที่ประชุมรัฐสภา

จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอน ในทางที่ 2 คือการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไปแล้ว สภาผู้แทนฯก็สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 เสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง เกมนี้อาจทำให้ได้นายกรัฐมนตรีจากขั้วของฝ่ายค้านในปัจจุบัน ที่นำโดยเพื่อไทย

การชิงไหวชิงพริบในช่วงวิกฤตการเมือง ทำให้ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างต้องวางแผน ขับเคลื่อนด้วยจังหวะที่แม่นยำ

ดังนั้นการ “ประชุมลับ” ของนายกรัฐมนตรี กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องกระชับวง-วาระ เตรียมพร้อมรับการรุกของฝ่ายค้านและการชุมนุมของราษฎร

กะพริบตาทีเดียว อาจเห็นชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ !