‘พลังประชารัฐ’ หลบเลือกตั้ง นายก อบจ. ลดดีกรีปะทะ ‘บ้านใหญ่’

การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรค นั่งหัวโต๊ะ มีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)-นายก อบจ. “ดับไฟ” กลุ่ม-ก๊วนภายใต้พรรคสนิท

ปมข้อกฎหมายมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น “พ่นพิษ” เนื่องจากมีความกังวลว่าจะสุ่มเสี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย

“ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำใด ๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ กกต.ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ กกต.มอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้ ให้ กกต.ที่พบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำนั้นได้ แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ” มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นระบุ

แหล่งข่าวฝ่ายกฎหมายพลังประชารัฐกล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายเพิ่มเติมข้อความว่า “หรือดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ซึ่งห้ามทั้งรัฐมนตรี ส.ส. และข้าราชการการเมืองทั้งหมดของพรรคการเมือง จึงทำให้พรรคตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง อบจ. นายก อบจ. และอาจรวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครด้วย”

คล้อยหลังไม่นานก่อนหน้านี้ ที่ “พล.อ.ประวิตร” ส่ง “ตู่” นันทิดา แก้วบัวสาย ลงสมัครนายกอบจ.สมุทรปราการ ในนาม “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” หลังจากปล่อยให้ “คณะก้าวหน้า” ของ “ปิยบุตร-ธนาธร” ปาดหน้า

พรรคพลังประชารัฐจึงไม่เพียงไม่ส่งผู้สมัคร ส.จ.-นายก อบจ. แต่รวมถึงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบต.) และผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)

ส่งผลให้ “เข้าทาง” ประมุขตึกไทยคู่ฟ้าได้ส่งผู้สมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” ไม่ให้เกิด “ระหองระแหง” กับ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ “เสี่ยบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เจ้าพ่อ กทม. ที่เตรียมแคมเปญ 1+4 ไว้ตั้งแต่ “ไก่โห่”

โดยดัน “ทยา ทีปสุวรรณ” สู้ศึก “พ่อเมืองเสาชิงช้า”

มิหนำซ้ำยังเป็นการ “หย่าศึก” ภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างกลุ่มของ “ตั้น-บี” กับ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี หัวหน้ามุ้ง “6 ส.ส.ดาวฤกษ์” และ “ดับฝัน” ไปในคราวเดียวกัน

หากจะถือสาคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นสาระ “มี 10 คน มีเยอะเลย” สะท้อนให้เห็นถึงการ “ขับเคี่ยว” และ “รอยร้าว” ภายในพรรคที่ต้องการลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น

สำทับด้วยระหว่างบรรทัดของ “เสี่ยบี” ว่า ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม.มีหลายแนวทาง แนวทางที่ 1 หาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมที่จะมาลงเป็นตัวแทนของพลังประชารัฐ แนวทางที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีแนวทางใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจจะลงอิสระ พรรคก็ต้องพิจารณาว่า การจะส่งลงจะเป็นประโยชน์กับคนที่จะได้มาซึ่งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ จะเป็นเครือข่ายกันหรือไม่ หรือจะสนับสนุนกันแบบไหน

“ตอนนี้มีหลายคนที่ได้ทาบทามพูดคุยกันอยู่ มีทั้งอยากลงในนามพรรค บางคนอยากให้เป็นแนวร่วม สนับสนุนร่วมกัน ซึ่งแนวทางก็ต้องมาดูว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน ไปดูระเบียบข้อบังคับ ความเหมาะสม จังหวะและโอกาส ซึ่งต้องรอดูมติของพรรคและหัวหน้าพรรคเป็นหลักว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน กทม.ของพรรคจะเป็นอย่างไร”

ตอกย้ำด้วยการ “เปิดใจ” ของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหัวหน้า “ซุ้มมังกรน้ำเค็ม” แห่ง “บ้านใหญ่ชมกลิ่น” และเป็น “บ้านใหม่ชลบุรี”

“บ้านใหญ่ชลบุรีเขาก็ลงนายก อบจ.ก็ช่วยเขาแค่นั้นเอง แต่ ส.จ.ของเราก็มีบางส่วนที่ลงอิสระ คนของเราเป็นเรื่องปกติ เพราะพูดเอาไว้แล้ว”

“มันมีตำแหน่งเดียวในเขตนี้ บางคนก็อยากเป็น เพื่อนเรา น้องเราก็โตเป็นหนุ่มกันหมดแล้ว มันก็รอไม่ไหว ก็ต้องปล่อยให้เขาแข่ง แต่นายก อบจ.เราก็ช่วยเขา เราก็ปล่อยฟรีสไตล์ เราไปห้ามเพื่อนหมดใครจะคบกับเรา”

“เราก็คุยกันตรง ๆ นายก อบจ.เราช่วย แต่ตัว ส.จ.เราห้ามไม่ได้ เพราะ ส.จ.มีแค่ตำแหน่งเดียว คนอยากเป็นตั้งหลายคน ฝั่งเราก็อยากเป็น ฝั่งเขาก็อยากเป็น คนเดิมก็อยากเป็น ก็ต้องแข่งกัน นายก อบจ.คนเดิม ไม่ทะเลาะกัน”

มติไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคพลังประชารัฐจึงเป็น “ผลดีมากกว่าผลเสีย” เพราะเป็นการ “สยบความขัดแย้ง” ภายในพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ ถึงแม้พรรคพลังประชารัฐจะ “หมายมั่นปั้นมือ” กินรวบทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ-ระดับท้องถิ่น ทำให้ต้อง “เปลี่ยนแท็กติก”

แต่ใน “แง่บวก” ทำให้ทุ่มทั้งสรรพกำลังกาย-กำลังเงินจำนวนมหาศาลไปกับการเลือกตั้งใหญ่ ที่ไม่คาดคิดหากเกิดการ “ยุบสภา”

การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ.-อบต.-ผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ จึงเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างนายใหญ่ดูไบ-นายพลตึกไทย และขาใหญ่ก้าวหน้า

เพราะใน “ทางนิตินัย” พรรคการเมืองจะไม่สามารถ “ออกตัว” เป็น “ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ” ได้ แต่ใน “ทางพฤตินัย” อาจจะต้องใช้ศาสตร์-ศิลป์ในการหลบเลี่ยงข้อกฎหมาย

เพื่อชนะศึกสนามเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อ “ต่อยอด” สนามเลือกตั้งระดับชาติ ที่อาจจะยุบสภาได้ทุกเมื่อ