วัคซีนโควิด 63 ล้านโดส ที่มาและงบประมาณยังคลุมเครือ

แผนการจัดหาวัคซีน สำหรับประเทศไทย ในส่วน 35 ล้านโดส จากทั้งหมด 63 ล้านโดส ยังไม่มีความไม่ชัดเจน

ไทม์ไลน์ วัคซีน 26 ล้านโดส

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca Thailand จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ในวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

1.การจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท

2.การจัดซื้อวัคซีน วงเงิน 1,586.29 ล้านบาท

3.การบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 1,189.84 ล้านบาท

4.การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ วงเงิน 894.16 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เห็นชอบทบทวนมติดังกล่าว เพื่อขอ “ปรับกรอบวงเงิน” โครงการ ฯ จาก 6,049.72 ล้านบาท เป็น 6,216.25 ล้านบาท

โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีน โดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จากวงเงิน 2,379.43 ล้านบาท (ข้อ 1) เป็นวงเงิน 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”

จากนั้น กรมควบคุมโรคดำเนินการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca โดยการจองล่วงหน้าล็อตแรก จำนวน 50,000 โดส คาดว่าจะส่งมอบให้ไทยภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564  งบประมาณ 2,741.336 ล้านบาท ตามมติครม.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

งบประมาณ 35 ล้านโดส ยังคลุมเครือ แต่แผนฉีดชัดเจน

ก่อนหน้านี้ วันที่ 5 มกราคม 2564 ครม. มีมติเห็นชอบจัดหาวัคซีนระยะเร่งด่วนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) จำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท

และอนุมัติจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca เพิ่มอีก 35 ล้านโดส โดยไม่มีรายละเอียดเรื่องงบประมาณ

แต่มีรายละเอียด ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม

นายอนุทิน ระบุว่า “นโยบายการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะได้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส และเดือนมิ.ย. มีวัคซีนที่สั่งซื้อจากบริษัทแอสตราเซนเนกา 26 ล้านโดส และที่จองเพิ่ม 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส”

โดยมีแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด มี 2 ระยะ แบ่งเป็น ระยะแรก ฉีดให้ 5 กลุ่ม ได้แก่

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  • ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • ประชาชนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป
  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
  • ประชาชนทั่วไปและแรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด 19

ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉีดให้กับ 7 กลุ่ม ได้แก่

  • ประชาชนทั่วไป
  • แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
  • ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์
  • ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ
  • นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ
  • กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 ในจังหวัดที่เหลือ
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ

แผนการฉีดด่วน 2 ล้านโดส 5 จังหวัด

มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุถึงแผนการกระจายวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก เดือน ก.พ.-พ.ค. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก

โรงพยาบาลเอกชน 1,000 แห่ง อยู่ในแผน

ระยะที่ 2 เดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง วางแผนฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 63 ล้านโดส ภายในปี 2564

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กังขา 35 ล้านโดส

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะ 1 ในกรรมการบริหารวัคซีน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวไว้ในเพจ www.the101.world

ถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 การอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉิน การกระจายและการฉีดวัคซีน ว่า นับจากนี้เป็นต้นไปถึงไตรมาสที่สาม ตลาดจะเริ่มเปลี่ยนข้าง จากตลาดเป็นของผู้ขาย เป็นตลาดของผู้ซื้อ เพราะมีบริษัทผลิตวัคซีนมากขึ้น โดยนับจากปลายปีนี้เป็นต้นไปปริมาณการผลิตจะเพิ่มมากขึ้นและเพียงพอต่อการฉีดให้กับคนทั้งโลก

สำหรับแผนการจัดซื้อจัดหาของประเทศไทย ตามแผนที่รัฐบาลประกาศออกมาเป็นล็อต ๆ ล็อตแรกจากบริษัท AstraZeneca จะสามารถจัดส่งได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 และทยอยจัดส่ง 5-6 เดือน จนครบ 26 ล้านโดส ที่มีการจองซื้อไว้

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าไปเจรจาซื้อจากจีน บริษัท sinovac รวม 2 ล้านโดส จำนวน 3 ล็อต แบ่งออกเป็น 2 แสนโดส ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 8 แสนโดสเดือนมีนาคม และ 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน

“มีการเจรจากับ AstraZeneca อีกรอบหนึ่งว่า 26 ล้านโด๊สที่จะผลิตที่ไทย…ช้าไป ช่วยหาจากที่อื่นให้เราได้ไหม ก็ไปเจรจาในฐานะเป็นพาร์ทเนอร์กัน เพราะร่วมกันผลิตที่ประเทศไทยเพื่อกระจายไปในภูมิภาค”

“เท่าที่ได้ยินมา AstraZeneca รับปากว่าจะหาให้ เราขอไป 5 แสนโดส เขาหามาได้ 1.5 แสนโดส และจะหาให้จากโรงงานที่อยู่ในอิตาลีแล้วเอามาให้เรา แต่มาเจออุปสรรคอียูไม่ให้ส่งออก อิตาลีอยู่ในอียูจึงส่งออกไม่ได้ AstraZeneca ที่รับปากไว้ก็ไม่สามารถทำได้ตามนั้น แต่เขารับปากว่าจะหาให้นอกอียู เป็นโรงงานที่ AstraZeneca ไปมีสัญญาไว้นอกอียู แต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะหาได้หรือไม่”

ดร.สมชัยกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามจะเจรจามากขึ้น เช่น 35 ล้านโดสของ AstraZeneca ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา และจากแหล่งอื่น เช่น รัสเซีย และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็กำลังคุยกันอยู่ โดยตั้งเป้าให้ได้อย่างน้อย 50 % ของประชากรภายในปีนี้ และ ระยะถัดไป คือ 80 % ของจำนวนประชากร ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการมีเจ้าใหม่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น

“วัคซีนล็อตแรกถ้าได้จากจีนจริง คาดว่าจะภายในเดือนกุมภาพันธ์ หรือ อีกไม่กี่วันนี้เลย แต่ก็ไม่มีใครทราบ ต้องรอให้จีนจัดส่งมาจริง ๆ ขณะนี้ได้เตรียมการกระจายวัคซีน ได้ยินแว่ว ๆ ว่า จะผ่านแอปพ์เปาตังด้วยซ้ำ คุยกันอยู่ แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร”

ดร.สมชัยกล่าวว่า ในฐานะกรรมการบริหารวัคซีน ที่มีการประชุมเดือนละครั้ง ว่า ทำไมต้อง AstraZeneca 26 ล้านโดส ทำไมไม่เจ้าอื่น เพราะสถาบันวัคซีนมีความพยายามเจรจากับหลายเจ้ามาก ตั้งแต่ช่วงแรก 6-7 เดือนที่ผ่านมา ที่เด่น ๆ คือ การเจรจากับจีน ซึ่งตอนนั้นจีนมีการประกาศนโยบายว่าจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและขายในราคาถูก  บางคนตีความว่า อาจจะให้ฟรีด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายเรารู้ว่า ไม่ฟรีและไม่ถูกด้วย

ดร.สมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความพยายามเจรจากับซีกตะวันตก เช่น Pfizer moderna และ AstraZeneca แต่เท่าที่ทราบเขาไม่อยากคุยกับเรา ทางบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ เพราะว่า เขาเป็นบริษัทใหญ่ และมีประเทศใหญ่ ๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา ไปรุมล้อมเขาเยอะ

เพราะฉะนั้นเขาเล่นตัวได้ ประเทศเราเป็นประเทศเล็ก e-mail ไปหาเขา เขาไม่ตอบด้วยซ้ำ สุดท้ายก็เหมาที่ AstraZeneca เท่าที่ทราบ คือ เกินครึ่ง เนื่องจากเป็นความร่วมมือของหลายฝ่ายไปเจรจา สถาบันวัคซีนเข้าไปไม่ถึง

ดร.สมชัยกล่าวว่า ขณะที่วัคซีน-19 ล็อตสอง จำนวน 35 ล้านโดส จาก AstraZeneca ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาจากสยามไบโอไซเอนซ์ หรือ โรงงานอื่น

“ถ้าจะให้เดา คนเคยคุยกันแล้ว มีดีลนี้อยู่ ก็ถือโอกาสคุยดีลที่สองไปด้วยแล้วกัน แต่เท่าที่ทราบไม่ได้คุยเฉพาะ AstraZeneca ไปคุยกับ Pfizer และ moderna ด้วย ไปดูว่า เอ๊ะ เขาคุยกับเราหรือยัง และมี จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งตอนนี้มีความพยายามมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ถ้าเขามาขึ้นทะเบียนแสดงว่าเขาสนใจประเทศไทย ถ้าจำไม่ผิด Pfizer กับ moderna เขาไม่สนใจมาขึ้นทะเบียนด้วยซ้ำ ขนาดเราอยากคุยกับเขาแต่เขาไม่อยากคุยกับเราด้วยซ้ำ”

ดร.สมชัยกล่าวว่า ความพยายามที่จะแทงม้าหลายตัวตั้งแต่ 6-7 เดือนที่แล้ว และไม่สำเร็จ ไม่ใช่แค่เรื่องเขาไม่คุยกับเรา แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่กว่านั้นด้วยซ้ำ คือ กฎระเบียบภาครัฐไม่อนุญาตให้เราแทงม้าแม้แต่ตัวเดียว

“การแทงม้า หมายถึงคุณเอาเงินไปลง คุณจะได้เงินก็ต่อเมื่อม้าตัวนั้นชนะ คุณก็ได้เงินคืน แต่ถ้าม้าตัวนั้นไม่ชนะ เงินที่คุณแทงไปเสียเปล่า”

“สุดท้าย AstraZeneca คือ ม้าที่เราแทง แต่แทงแล้ว work hard เพราะต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กี่สำนักก็ไม่รู้ กฤษฎีกา สำนักงบฯ หาทางออกไม่ได้ แต่สุดท้ายทางออกคือ พบกันคนละครึ่งทาง ไม่ใช่ซื้อแต่เป็นการจอง”

ทั้งหมดนี้ คือ ความชัดที่ยังไม่เคลียร์ ของการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นโอกาสและความหวังของประเทศไทย ในทุกมิติ