30 ปี รัฐประหาร รสช. มรดกนายพลเสื้อคับ

นายพลเสื้อคับ

สายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนไทยใช้เวลาพักผ่อนแบบวันเสาร์ทั่วไป ทว่าเป็นวันเสาร์แห่งความสับสนวุ่นวายในทางการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ รสช. ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภา35”

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ย้อนไปเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ณ เวลา 11.30 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ห้วงเวลาที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กำลังพา พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ไปเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นรัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

โดยหวังให้ พล.อ.อาทิตย์ มาคานอำนาจกับนายทหาร จปร.รุ่น 5 ซึ่งมี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน

ระหว่างเครื่องบิน ซี 130 กำลังทะยานขึ้นจากสนามบินกองทัพอากาศ จู่ ๆ มีคำสั่งยกเลิกเที่ยวบินกระทันหัน จากนั้นมีการบุกเข้าควบคุมตัว พล.อ.ชาติชาย พร้อมคณะ ไปยังบ้านพักรับรองของกองทัพอากาศ ก่อนกำลังทหารจะเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทำเนียบ และสถานที่ราชการต่าง ๆ  (ข้อมูล: ศิลปวัฒนธรรม)

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กลาง) บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ซ้าย) (Photo by PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าของฉายา “นายพลเสื้อคับ” (บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้แถลงยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย และล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 โดยให้เหตุผล 5 ข้อ ผ่านประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1

ประการที่ 1 พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกลับไม่เแก้ไขอย่างจริงจัง

ประการที่ 2 ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้า ถูกข่มเหงรังแก หากไม่ยินยอมเป็นพรรคพวก หลายท่านต้องลาออกราชการ

ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาลได้ร่วมมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีบ้านพิษณุโลก ใช้อุบายอันแยบยลทางการเมืองสร้างภาพลวงตาประชาชนว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วพลิกแพลงหาประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป

ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร ทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง

ประการที่ 5 การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2525 พลตรีมนูญ รูปขจร และพรรคพวกได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรี เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ พลตรีมนูญ รูปขจร (ชื่อในขณะนั้น) และพรรคพวก ถูกจับกุม และได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกสามครั้ง

อ่านแถลงการณ์คณะรสช. ฉบับเต็มได้ ที่นี่

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (ภาพจากบีบีซีไทย)

บ้าน “แพะษิณุโลก”

บีบีซีไทย รายงานว่า หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2531 พล.อ.ชาติชาย ได้สร้างจุดปลี่ยนที่สำคัญ ด้วยการฟอร์มทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คอยให้ปรึกษาด้านนโยบายการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย

  1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษา
  2. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
  3. ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  4. นายชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
  5. ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
  6. ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการผลัดเปลี่ยนมาช่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.นฤมล บอกว่า แนวการทำงานของทีมที่ปรึกษาคือ ยึดการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นหลัก สร้างประชาธิปไตย ลดการผูกขาด ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

“เทคโนโลยีต้องมีการแข่งขัน อย่างการบินไทย แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ อย่างเดียว ต้องมีบริษัทแพรทแอนด์วิทนีย์ ซึ่งคนก็วิจารณ์ว่ามีค่าคอมมิชชันหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ แต่ว่าลึก ๆ คนบ้านพิษณุโลกก็คิดว่ามันต้องมีการแข่งขัน”

ผศ.ดร.นฤมล ยังกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพว่า ชนวนการยึดอำนาจ ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับปัญหาภายในของกองทัพเอง

“ถ้ากองทัพมีเอกภาพเข้มแข็ง เราก็ไม่ค่อยมีปัญหากัน แต่พอกองทัพเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งภายใน เราก็เริ่มมีปัญหา เพราะทีมบ้านพิษณุโลกก็เป็นแพะอยู่แล้ว”

เธอเล่าว่า ตอนที่มีการคุยเรื่องตั้ง พล.อ. อาทิตย์ เป็น รมช. กลาโหม ชื่อของ พล.อ. อาทิตย์ กลายเป็นชื่อต้องห้าม เพราะถูกจับตาว่าถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปลด พล.อ.สุนทร จากตำแหน่ง ผบ. สส.

มรดกของ “นายพลเสื้อคับ”

หลังยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย เมื่อปี 2534 เพียง 8 ปี พล.อ.สุนทร ผู้ชอบแต่งกายรัดรูป จนได้ฉายา “นายพลเสื้อคับ” และมีคติประจำตัวว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะมีอายุ 68 ปี 1 วัน

บั้นปลายชีวิตของ พล.อ.สุนทร มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือเปิดเผยตัวต่อที่สาธารณะ โดยหลังเกษียณอายุราชการ ได้ไปเปิดกิจการร้านอาหารที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หลังการเสียชีวิตเพียง 1 เดือนเศษ ชื่อของ พล.อ.สุนทร ก็กลับมาเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนอีกครั้ง เมื่อนางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร ภรรยาของ พล.อ.สุนทร

และ พล.อ.สมโภชน์ สุนทรมณี อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ. สุนทร ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นผู้จัดการมรดกของ พล.อ. สุนทร

เนื่องจากก่อน พล.อ. สุนทร เสียชีวิต เขาได้ทำพินัยกรรม 2 ฉบับ มอบให้นางอัมพาพันธ์ และ พล.อ. สมโภชน์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการมรดกและดำเนินการจัดพิธีศพ

แต่ พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ อดีตภรรยา และบุตรชาย 2 คน ได้แก่ พ.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พ.ต.ณัฐพร คงสมพงษ์ (ยศขณะนั้น) คัดค้าน และยื่นฟ้องนางอัมพาพันธ์กับพวกรวม 12 คน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมและเรียกคืนทรัพย์สินมูลค่ารวม 3.9 พันล้านบาท

คดีนี้ยืดเยื้ออยู่กว่า 3 ปี ก่อนจะสิ้นสุดลงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2545 โดยทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล มีสาระสำคัญ รวม 5 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ นางอัมพาพันธ์ ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของ พล.อ.สุนทรให้แก่ พ.อ.(หญิง) คุณหญิงอรชร และบุตรทั้งสองคน เป็นเงินสด 21 ล้านบาท และ ที่ดิน จ.จันทบุรี จำนวน 21 ไร่ 2 งาน 77 ตารางวา โดยไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอื่นจากคู่กรณี

ความสัมพันธ์กับ “ทักษิณ”

ปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก บีบีซีไทยรายงานว่า หนังสือพิมพ์หลายฉบับโยงภาพ พล.อ.สุนทร ที่ประเทศเฟรนช์กีอานา เมื่อ 18 ธันวาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่ดาวเทียมไทยคมถูกยิงขึ้นฟ้า พร้อมคำพูดของทักษิณที่กล่าวในงานเลี้ยงว่า “ถ้าไม่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ก็คงไม่มีวันนี้”

ภาพจาก คมชัดลึก

นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพ ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ยืนเคียงคู่กับ พล.อ.สุนทร และนางอัมพาพันธ์ ที่สื่อพยายามบอกเล่าถึงสายสัมพันธ์ของทั้งคู่

ในช่วงนั้นทักษิณถูกประเมินว่า ไม่กล้าทำอะไร เพราะบุญคุณที่ พล.สุนทร เคยช่วยเหลือ ท่ามกลางการเรียกร้องของหลายฝ่าย ที่อยากให้รัฐบาลทักษิณตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร อย่างจริงจัง จนสุดท้ายเขาต้องออกมายืนยันว่าไม่ทราบความเป็นมาของทรัพย์สิน พล.อ.สุนทร ส่วนการตรวจสอบนั้น รัฐบาลจะทำหน้าที่ตามที่มีอำนาจ

(รูป​สำนัก​ข่าว​ต่าง​ประเทศ) เมื่อ​วัน​ที่ 16 มิ.ย.54

27 มี.ค. 2544 คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการร่ำรวยผิดปกติในภาพกว้าง ไม่ได้เจาะจงกรณีใดเป็นพิเศษ ซึ่งถูกมองว่าเพื่อเป็นการลดกระแสกดดันจากสังคม แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีข่าวความคืบหน้าออกมา

30 มี.ค. 2544 พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ส.ว.อุดรธานี เสนอเป็นญัตติด่วนต่อที่ประชุมวุฒิสภา ให้พิจารณาเรื่องกองมรดกของ พล.อ. สุนทร ว่ามากมายอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ และมีที่มาที่ไปอย่างไร มีการลงมติตัดสิน โดยที่ประชุมมีมติ 86 ต่อ 56 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ

14 พ.ย.2546 หรือกว่า 2 ปี กมธ.ชุดนี้ จึงมีรายงานเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาสรุปว่า มูลค่าทรัพย์สิน 3.9 พันล้านบาท “เป็นตัวเลขที่เกิดจากการประเมินทรัพย์สินที่สูงเกินความเป็นจริง และห่างจากราคาที่ฟ้องร้องมาก” เพราะผู้ฟ้องร้องคดีต้องการให้ประเมินราคาสูงที่สุด เนื่องจากศาลจะตัดสินให้คืนทรัพย์สินไม่เกินจำนวนที่เรียกร้องในกรณีที่ชนะคดี และการฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินคืนเท่าไหร่ก็เสียค่าธรรมเสียงไม่เกิน 2 แสนบาทเท่ากัน


ไม่ปรากฏ… มีทรัพย์สินเกินฐานะความเป็นอยู่”