30 ปี รสช. รัฐประหาร ส่องฉากชีวิต 6 บุคคลสำคัญในเกมอำนาจ

เวลา 11.30 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 บนเครื่องบิน C130 ขณะกำลังแล่นอยู่บนรันเวย์ที่สนามบิน บน. 6

ทหารอากาศที่กระจายตัวอยู่ในเครื่อง ชักปืนขึ้นมาจากเอว ปลดอาวุธหน่วย รปภ.นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ก่อนเข้าควบคุมตัว พล.อ.ชาติชาย ที่นั่งอยู่บนเบาะวีไอพี ระหว่างนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และคณะผู้ติดตามไปขึ้นเครื่องบิน เพื่อไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

การยึดอำนาจของ รสช. สำเร็จลงอย่างง่ายดาย ภายใต้การนำของ “พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เป็นจุดเริ่มต้น – ปฐมบทของการนำทหารเข้าสู่การเมือง ภายหลังเมืองไทยเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ ภายใต้แคมเปญ “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า”

จากวันนั้น ถึงปัจจุบันกาลเวลาได้ล่วงเลยมา 3 ทศวรรษ ตัวละครเอกบางคน ได้ลาสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว หากแต่ยังมีตัวละครบางตัวที่ยังอยู่ แม้จะไม่ได้เป็นตัวหลักทางการเมืองเหมือนในอดีต

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์

ตัวละครหลักของเรื่อง เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้รับฉายาว่า “นายพลเสื้อคับ” เพราะชอบใส่เครื่องแบบรัดรูป หลังการยึดอำนาจ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย รสช. ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง 5 เหตุผลในการยึดอำนาจ 1. รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง 2. ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ 3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4. รัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร 5. รัฐบาลบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ “พล.อ.สุนทร” ได้เปลี่ยนบทบาทเป็นประธาน รสช. และมอบบทบาทการจัดการให้กับ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ผู้บัญชาการทหารบก คนคุมกำลังกองทัพ ให้เข้ามาจัดการความเรียบร้อยต่างๆ แทน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสิ้นสุดอำนาจของ รสช. ผ่านไปหลายปี บ้านเมืองกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ แล้วมรดกของ “พล.อ.สุนทร” ก็ทำพิษ เพราะในปี 2542 เกิดการฟ้องร้องระหว่าง นางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร ภรรยาของ พล.อ. สุนทร และ พล.อ.สมโภชน์ สุนทรมณี อดีตนายทหารคนสนิท ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้ศาลสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดก

แต่ฝ่ายอดีตภรรยาคือ พ.อ. (หญิง) คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ อดีตภรรยา และ พ.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พ.ต. ณัฐพร คงสมพงษ์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้คัดค้าน ทำให้เรื่องแดงขึ้นว่า พล.อ.สุนทร มีทรัพย์สินกว่า 3.9 พันล้านบาท

ถูกครหาว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” 27 มี.ค. 2544 คณะรัฐมนตรียุค “ทักษิณ ชินวัตร” ได้มีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการร่ำรวยผิดปกติ มี ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รมว. มหาดไทย เป็นประธาน เพราะนายกฯ คนที่ 23 ถูกโยงเข้าไปมีความสัมพันธ์กับ “บิ๊กจ๊อด” ช่วง รสช. ตอนที่ “ทักษิณ” ยังเป็นนักธุรกิจ ผู้ขอสัมปทานโทรมคนาคม

และ ส.ว.ก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ โดยมีนายทองใบ ทองเปาด์ เป็นประธาน นำไปสู่การที่กรมสรรพากรเรียกเก็บเสียภาษี พร้อมชดเชยค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายกำหนด รวม 75 ล้านบาท

ปัจจุบัน : เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 2 สิงหาคม 2542

พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“พล.อ.สุจินดา” ผู้บัญชาการทหารบก คือผู้อยู่เบื้องหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เป็นนายกฯ แค่ 47 วันก็ต้องยุติบทบาททางการเมืองอย่างถาวร
เพราะเขากล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า ตนและสมาชิกใน รสช. จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองหลังคืนอำนาจ

แต่กลับรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจาก “ณรงค์ วงศ์วรรณ” หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม พรรคการเมืองที่ถูกวิจารณ์ว่าคือพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ถูกแบล็กลิสต์จากสหรัฐอเมริกา กระทั่งไม่อาจรับตำแหน่งได้
“พล.อ.สุจินดา” รับตำแหน่งนายกฯ แทนจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชนเป็นจำนวนมาก และลงเอยด้วยเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ปัจจุบัน : ยุติบทบาททางการเมือง แต่มักเปิดบ้านให้บรรดานายทหารรุ่นน้องเข้าอวยพรวันเกิด ทุกวันที่ 6 สิงหาคม และมีความเห็นทางการเมืองบางครั้งคราว แต่ครั้งล่าสุดที่เปิดบ้านให้อวยพร คือปี 2562 อายุ 87 ปี

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

“พล.อ.ชาติชาย” เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะเป็นลูกชายของ “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” ผู้ทำการรัฐประหาร ปี 2490 ก็ตาม แต่เหมือนเหรียญกลับด้าน รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ยึดอำนาจคาเครื่องบิน c130 ที่กำลัง Take off ไปยัง จ.เชียงใหม่ ระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เพื่อนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ไปถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม และถูกควบคุมตัวอยู่ 15 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา แล้วเดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง

ปัจจุบัน : ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ในช่วงที่ พล.อ.ชวลิต หรือ “บิ๊กจิ๋ว” ได้รับการขนานนามว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” มีอำนาจสูงสุดในกองทัพในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาได้ลุกออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงเชียร์จากคนการเมืองนักเลือกตั้ง และ นายทหาร ให้ลงสู่การเมืองเต็มรูปแบบ และเขาลาออกจากกองทัพ 27 มีนาคม 2553 มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทว่า การเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่มีกำลังหนุนในสนามรบทั้งในทำเนียบรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การเข้ามาของ พล.อ.ชวลิต เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่าง การเมือง กับ กองทัพ หนึ่งในคนการเมืองที่ “บิ๊กจิ๋ว” เปิดศึกคือ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในเวลานั้น

ทำให้ “พล.อ. ชวลิต” ลาออกจากทั้งสองตำแหน่งเมื่อ 11 มิถุนายน 2533 ก่อนที่มาตั้งพรรคความหวังใหม่ เป็นหนึ่งในพรรคเทพ สู้กับพรรคมาร ในช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ปัจจุบัน : อายุ 88 ปี และประกาศยุติบทบาททางการเมือง 20 ธันวาคม 2560

อานันท์ ปันยารชุน

ได้รับสมญาว่า “ผู้ดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ทั้ง แคนนาดา สหรัฐอเมริกา ตำแหน่งสูงสุดคือครองเก้าอี้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และการเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี “อานันท์” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จัก “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยทูตทหารบก

หลังมีการยึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 “พล.อ.สุจินดา” ได้ทาบทาม “อานันท์”เป็นนายกฯ โดยให้เหตุผลว่า “เราอยากได้นายกฯ ที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านภาคราชการต่างประเทศ และธุรกิจ ก็มองเห็นท่านอานันท์ ก็เลยเชิญเขามาบอกเป็นนายกฯ เอาไหม”
ขณะที่ “อานันท์” มักพูดในที่แจ้งเสมอว่า “ผมเป็นนายกฯ โดยอุบัติเหตุ”

“คุณสุจินดาเคยบอกว่าที่เลือกคุณอานันท์ด้วยเหตุผล 3 ประการ เพราะเคยเป็นข้าราชการประจำระดับสูงมาก และเมื่อออกจากราชการแล้วก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และยังเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ”

2 มีนาคม 2534 “อานันท์” ก็ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 18 ของไทย เขานั่งเก้าอี้นายกฯ เฉพาะกิจ 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 “พล.อ.สุจินดา” ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 19 แต่อยู่ในตำแหน่งได้เพียงไม่นาน ก็ต้องเจอพลังประชาชนเดินขบวนขับไล่กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พล.อ.สุจินดา ต้องประกาศลาออกในที่สุด

และ “อานันท์” ถูกเชิญให้กลับมาเป็นนายกฯ เฉพาะกิจเป็นครั้งที่ 2 เพื่อทำการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นในรัฐบาล รสช.

ทุกครั้งที่บ้านเมืองถึงทางตัน ความขัดแย้งชื่อของ “อานันท์” ถูกยกขึ้นพูดถึง และระลึกถึงตลอดเวลา และการปรากฏตัวให้ความเห็นทางการเมืองครั้งล่าสุด เกิดขึ้นบนเวทีเสวนา เมื่อ 29 ตุลาคม 2563 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร”
ให้ความเห็นตอนหนึ่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี คนที่ 29 ในช่วงดีกรีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ระอุ ว่า

“เด็กเขายืนยันว่าท่านนายกฯ เป็นตัวปัญหา ผมไม่ทราบว่ามีประชาชนรุ่นอื่นอีกหรือเปล่า และเขามองว่าท่านนายกฯ เป็นคนเดียวที่สามารถปลดล็อกได้ จะปลดล็อกโดยวิธีลาออก หรือวิธีอะไรผมไม่รู้ หรือถ้าท่านไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ท่านต้องรู้นะ ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น …ส่วนการจะเถียงกับคนรุ่นใหม่ ถ้าอ้างแต่ปัญหากฎหมาย อ้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันจะไปไม่ถึงไหน เพราะว่าเด็กเขาเริ่มต้นจากศูนย์ เขามองว่ามันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว”

ปัจจุบัน : อายุ 88 ปี เป็นผู้อาวุโสทางการเมือง และเป็นผู้แสดงความคิดเห็นเรื่องสังคม สม่ำเสมอ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

คนรุ่นใหม่อาจเคยได้ยินชื่อ “ร.ต.อ.เฉลิม” จากลีลาการเมืองอันดุเด็ด ดุเดือด แต่เขาคือหนึ่งตัวละครเอกสำคัญ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับ กองทัพ

เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ในฉากการรัฐประหาร เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ร.ต.อ.เฉลิม มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคมวลชน เข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแล อ.ส.ม.ท.

มีการวิจารณ์กันหนาหูว่า ครม.ยุคนั้นเกิดเรื่องทุจริต คอรัปชั่นมากมาย อันเป็น 1 ข้ออ้างของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) เข้ามาโค่นล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม ถูกกล่าวหาว่ามีชื่อติดอยู่ในกงล้อการคอรัปชั่นนั้น

เป็นเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ตัดสินใจลาออกจากกองทัพ มารับตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม หวังสืบทอดทายาทการเมืองต่อจาก พล.อ.ชาติชาย
พล.อ.ชวลิต ได้เอ่ยชื่อถึง “ลิตเติ้ลดั๊ก” บนเวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการกล่าวถึงเรื่องคอร์รัปชั่น

พาดพิง “บริษัท ลิตเติ้ลดั๊ก แทรเวลเอเยนซี จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายของ “คนใกล้ชิด” ร.ต.อ.เฉลิม ที่เป็นคู่สัญญารับงานจาก อ.ส.ม.ท. ภายใต้การเห็นชอบของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในยุคนั้น ที่เป็น “คนสนิท” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คนนี้เช่นกัน

เรื่องราวบานปลายเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาตอบโต้คำพูดของ พล.อ.ชวลิต พาดพิงไปถึง คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ผู้เป็นภริยาว่าเป็น “ตู้เพชร ตู้ทองเคลื่อนที่”

“พ่อใหญ่จิ๋ว” ถึงกับควันออกหู และตัดสินใจลาออกจากรัฐบาลชาติชาย ทำให้กองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นเพื่อนซี้ของ พล.อ.ชวลิต ต้องออกมาตอบโต้แทนเพื่อน

ผนวกกับเหตุการณ์กองทัพยึดรถโอบีของ อ.ส.ม.ท.ในซอยวัดไผ่เลี้ยง ด้วยข้อหาใช้คลื่นส่งสัญญาณเดียวกับทหารกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จน พล.อ.ชาติชาย ต้องลงมาอย่าศึก สั่งให้กองทัพคืนรถโอบีให้แก่ อ.ส.ม.ท.

ร.ต.อ.เฉลิม จึงกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของกองทัพ มีการยื่นคำขาดให้ พล.อ.ชาติชาย ปรับ “อดีตผู้การกองปราบ” พ้นจากรัฐบาล แต่ “น้าชาติ” กลับเลือกขัดใจกองทัพ ลดตำแหน่ง ร.ต.อ.เฉลิม ให้ไปนั่ง รมช.ศึกษาธิการแทน

เมื่อรัฐบาลชาติชายยังขจัดภาพคอรัปชั่นไม่ได้ บวกกับปัญหาความขัดแย้งกับกองทัพจนสุกงอม เกิดข่าวลือว่ารัฐบาลจะปลด พล.อ.สุนทร พ้นจาก ผบ.ส.ส.และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พ้นจาก ผบ.ทบ.
แต่ยังไม่ถึงวันนั้น รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็ถูกยึดอำนาจ ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม ต้องหนีหัวซุก หัวซุนออกจากศูนย์กลางอำนาจ หลบอยู่ในหลังรถกระบะ ลงเรือลอยอยู่กลางทะเล เพื่อขอลี้ภัยถึงแถบสแกนดิเนเวียดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน

ปัจจุบัน : ร.ต.อ.เฉลิม ยังเป็นนักการเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการการเมืองพรรคเพื่อไทย