ประวัติ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ผู้ถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ประวัติปลอดประสพ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี

เปิดประวัติ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” นักการเมืองผู้มีประวัติโลดโผน ก่อนถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

วันที่ 1 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ระบุว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับพระราชทาน เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสพาผู้อ่านย้อนไปติดตามเรื่องราวของ นายปลอดประสพ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบุคคลในคณะรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดถึง 967 ล้านบาท

ที่มาชื่อ “ปลอดประสพ”

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของหลวงอนุการนพกิจ (ปรารภ สุรัสวดี) กับ คุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี

ต้นตระกูลของบิดาเป็นยกกระบัตรเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์) และตัวหลวงอนุการนพกิจผู้เป็นบิดานั้น เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนที่ 24 ส่วนมารดาเป็นธิดาคนโตของพระยาหัสดินอำนวยศาสตร์ (สาย วณิกนันทน์) กับ คุณหญิงเลื่อน หัสดินอำนวยศาสตร์

โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นายปลอดประสพเคยสัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งว่า ในวันที่เขาเกิด ตึกสูตินรีที่โรงพยาบาลศิริราชโดนระเบิดจากมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กที่เกิดในวันเดียวกันกับเขาเลยตายเรียบ มีแต่ตัวเขาเองเท่านั้นที่รอดตายอยู่คนเดียว พ่อจึงตั้งชื่อให้ว่า “ปลอดประสพ”

ทว่าจากการสืบค้นประวัติของโรงพยาบาลศิริราชพบว่า ตึกสูตินรี โรงพยาบาลศิริราช โดนระเบิดในช่วงเวลาที่ปลอดประสพกล่าวอ้างจริง แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น นายปลอดประสพจึงไม่ใช่ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว

ประวัติการศึกษา

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุข้อมูลการศึกษาของนายปลอดประสพ ดังนี้

พ.ศ. 2511  ปริญญาตรี การประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2513  ปริญญาโท การบริหารการประมง Oregon State University สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2518  Post Graduate การบริหารจัดการ Bangalore Institute  of Management ประเทศอินเดีย
พ.ศ. 2519  ปริญญาเอก นิเวศวิทยา University of Manitoba ประเทศแคนาดา
พ.ศ. 2533  ปริญญา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
พ.ศ. 2534  ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้
พ.ศ. 2535  ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การทำงาน

นายปลอดประสพ รับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมประมง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและฟื้นฟูทะเลไทย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ต่อมาได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปี พ.ศ. 2548 นายปลอดประสพได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะกรรมการของ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ พิจารณาว่านายปลอดประสพไม่มีความผิดทางวินัยจากอนุมัติการส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัวไปยังประเทศจีน แม้ว่าก่อนหน้านั้นคณะกรรมการของ พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย จะวินิจฉัยว่านายปลอดประสพมีความผิดก็ตาม

ในปีต่อมานายปลอดประสพดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ตามลำดับ

สมัย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งปลด นายปลอดประสพออกจากราชการ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีที่ปลอดประสพได้ลงนามอนุมัติคำขอส่งออกเสือโคร่ง 100 ตัว ของบริษัทสวนเสือศรีราชา (ศรีราชา ไทเกอร์ ซู) ไปยังสวนสัตว์ซอนยาประเทศจีน ซึ่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาว่าเจตนาดังกล่าว ไม่ได้เป็นไปเพื่อการวิจัยตามกล่าวอ้างและถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรง

อย่างไรก็ดีในภายหลัง นายปลอดประสพได้นำ พ.ร.บ. ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 เพื่อขอใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (สมัคร สุนทรเวช) ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาว่า พรบ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 มาตรา 6 ระบุมิให้ลงโทษกับผู้ซึ่งได้รับการลงโทษหรือได้รับพิจารณาว่าไม่มีความผิดไปแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ นายปลอดประสพเคยได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความผิด และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบและยุติเรื่อง

ในการนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงถือว่า นายปลอดประสพ ไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษ

ต่อมาปลอดประสพได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554  และได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นอกจากนี้ นายปลอดประสพ ยังเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยรับผิดชอบในแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยภายหลังภัยพิบัติคลื่นสึนามิ เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และเป็นผู้ก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีด้วย

อีกทั้งนายปลอดประสพ ยังถือครองที่ดินมากที่สุดในคณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมมูลค่า 807,542,000 บาท

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 10 ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั้งราชอาณาจักรในวันเดียวกันได้ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายปลอดประสพ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 7 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีการปฏิบัติหน้าที่มิชอบเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560 นายปลอดประสพ ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา จำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้ามี่มิชอบ กรณีเมื่อปี 2546 ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งปี 2546 สั่งยกเลิกการขึ้นดำรงตำแหน่งของ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน โจทก์ ในตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยมิชอบ โดยศาลยังมีคำสั่งให้นายปลอดประสพ จำเลยต้องชดใช้เงินทดแทนความเสียหายโจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด (ฎีกา) ให้ลงโทษจำคุกปี 8 เดือน (ติดคุกทันที/ไม่รอลงอาญา) เนื่องจากศาลเห็นว่าการโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าวไม่เป็นธรรมและทำลายระบบคุณธรรม-ธรรมาภิบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวโดยสรุป คือ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของนายปลอดประสพ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งปลัด ทส. ที่ให้ นายดำรงค์ ออกคำสั่งใหม่ให้ นายวิฑูรย์ (โจทก์) ย้ายไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนระดับ 8 เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม และเป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วน ไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการ ที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์

เมื่อมีการโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งจากคำเบิกความของพยานที่ตอบคำถามยังได้ความว่ าตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 นั้น มีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์ก็มีคุณสมบัติ จึงต่างจากที่จำเลยอ้าง

ดังนั้นการออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์ และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ได้รับความเสียหายและทางเจริญก้าวหน้าในอาชีพของโจทก์ ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โดยให้ออกหมายคดีถึงที่สุดด้วย

ติดกำไลอีเอ็ม พักโทษ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว พร้อมเผยว่า ขณะนี้มีผู้ที่ติดกำไลอีเอ็มแล้ว 39 ราย ซึ่งหลังจากนี้กรมคุมประพฤติจะทยอยติดกำไลอีเอ็มให้กับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม โดยคาดว่าจะใช้กำไลอีเอ็มปีละ 87,700 ราย

เชื่อว่าการนำกำไลอีเอ็มมาใช้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาลดความแออัดในเรือนจำแล้ว ยังถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม ดูแล ติดตามผู้กระทำผิด อีกทั้งยังทำให้สังคมมีความปลอดภัยด้วย

สำหรับผู้ที่ได้รับการพักโทษล็อตแรกทั้ง 3 กลุ่ม มีจำนวน 3,000 คน มีทั้งผู้ต้องขังทั่วไป ที่ได้รับการพักโทษ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติ และผู้ที่รอตรวจพิสูจน์

รายงานข่าวแจ้งว่า รายชื่อของผู้ที่ได้รับการพักโทษเพราะเงื่อนไขในคดีการเมืองมี 2 คน คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี และ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ

ในเวลานั้น นายปลอดประสพ จำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ได้เป็นนักโทษชั้นดีและเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ

วันเดียวกันนั้น นายปลอดประสพได้เข้ารับการติดกำไลอีเอ็ม สำนักงานงานคุมประพฤติเขต 7 และได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

1 วันต่อมา นายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการปล่อยตัวนายปลอดประสพว่า กรณีของ นายปลอดประสพ กําหนดโทษตามคําพิพากษา 1 ปี 8 เดือน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 1 ครั้ง เหลือกําหนดโทษครั้งหลังสุด 13 เดือน 10 วัน ได้รับการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

เนื่องจากนายปลอดประสพ อายุ 75 ปี ได้รับโทษจําคุกมาแล้วระยะหนึ่ง เหลือโทษจําคุกต่อไป 7 เดือน ประกอบกับมีโรคประจําตัวหลายโรคและเจ็บป่วยเรื้อรัง จึงได้รับอนุมัติการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าวก่อนครบกําหนดโทษ

โดยใช้วิธีการคุมประพฤติร่วมกับการติดกำไลอีเอ็ม เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.- 26 พ.ย. 2563 กําหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเขต จ.นนทบุรี ซึ่งสํานักงานคุมประพฤตินนทบุรี เป็นผู้สอดส่องดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ ถ้าออกนอกจังหวัดต้องขออนุญาตพนักงานคุมประพฤติ

แต่กรณีของนายปลอดประสพ อาศัยอยู่นนทบุรี อาจต้องมาหาหมอที่กรุงเทพฯเป็นประจำ ทางกรมคุมประพฤติจึงกำหนดว่าห้ามออกนอก จ.นนทบุรี และ กรุงเทพฯ