ฉีดวัคซีนแห่งชาติอลหม่าน “ไทยร่วมใจ” เบียดคิว เท “หมอพร้อม”

การจัดสรร-กระจายวัคซีนโควิด-19ยังคงโกลาหล-อลหม่าน หลังโรงพยาบาลเอกชนดาหน้ากันประกาศ “เลื่อนฉีดวัคซีน” พร้อมกับ “โยน” ให้กระทรวงสาธารณสุข “รับผิดชอบ”

ไม่เหนือความคาดหมายหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “จุดพลุ” ฉีดวัคซีนให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 หลังจากนั้นได้เกิด “โรคเลื่อน” เพราะวัคซีน (ยัง) ไม่มาตามนัด

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564-ปัจจุบันนำเข้าวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส แบ่งออกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2.1 ล้านโดส ซิโนแวค 6 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว (ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2564) จำนวน 6,188,124 โดส

แม้เมืองหลวง-กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระดมฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.71 ล้านโดส หรือคิดเป็นร้อยละ 27.7 ของวัคซีนที่มีทั้งหมด แต่เมื่อ “วัคซีนมาไม่ตามกำหนด” ต่อจำนวนคิวที่ถูกจอง ทำให้เกิดการ “เลื่อนคิว”

โดยเฉพาะ “สัปดาห์ที่สาม” ระหว่างวันที่ 15-20 มิถุนายน 2564 ที่คาดการณ์ไว้ว่าวัคซีนจะมาวันละ 840,000 โดส แต่กลับไม่มีตามนัด

ขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนเหลืออยู่สต๊อกเพียง 1 ล้านโดส จึงต้องนำไป “ฉีดเข็มสอง”

ปัจจุบันพื้นที่ กทม.มี “ยอดจองคิว” ฉีดวัคซีน ระหว่างวันที่ 15-20 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข กับผ่านระบบ “ไทยร่วมใจ” ของ กทม. ประมาณ 3.2 แสนโดส

แบ่งออกเป็นผ่านระบบ “หมอพร้อม” ประมาณ 1.4 แสนคน และผ่านระบบ “ไทยร่วมใจ” ประมาณ 1.7 แสนคน

กระทรวงสาธารณสุขจึงมองว่าเป็นการ “เทหมอพร้อม” ที่มีการลงทะเบียนกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป-มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เพราะ “ไทยร่วมใจ” มา “แทรกตรงกลาง”

ยังมี “คิว ม33” เข้ามา “เบียดคิว” อีก จึงต้อง “ลดสปีดลง”

“สองระบบ” ที่มีคิวนัดฉีดใน “สัปดาห์ที่สาม” จึงต้องเลื่อนออกไป เพราะ “วัคซีนไม่เพียงพอ” ทำให้ต้องไปฉีดหลังวันที่ 20 มิถุนายน 2564

เกิดเป็นภาพความขัดแย้ง “งัดข้อ” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกรุงเทพมหานคร โดยมีกระทรวงแรงงาน-สำนักงานประกันสังคมเข้ามา “ผสมโรง”

เมื่อ “คนกรุง” ในเมืองหลวง-ศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารและเครื่องมือสื่อสารทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ “เสียงดัง” เสียดแทงตึกไทยคู่ฟ้า

คนที่ “ตกที่นั่งลำบาก” ที่สุด คือ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะ “ผู้อำนวยการ ศบค.” จนต้องสั่งการให้ “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.สปก.สบค.แถลงข่าว เพื่อสยบรอยร้าวระหว่างกระทรวงสาธารสุข-กทม.

โดยมีการ “เปิดอก” คุยกันเพื่อ “เคลียร์ปัญหา” ระหว่าง กทม.กับกระทรวงสาธารณสุข จนออกเป็นข้อตกลง “สัญญาลูกผู้ชาย” ว่า จะไม่ทะเลาะกัน-ไม่โยนความผิดให้กัน และ “ปิดช่องว่าง” ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้ง มีแต่กระทรวงสาธารณสุขที่จะช่วย กทม. ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข” ผู้ว่าฯอัศวินยกธงขาว-สงบศึก เกิดเป็นภาพ “พักรบ” ศึกชิงวัคซีน (ชั่วคราว)

ทั้งหมดเป็นความเข้าใจไม่ตรงกัน-ไม่คุยกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม. ที่เกิด “ความจริง” จากการ “ทยอยมา” ของวัคซีน ไม่ได้มาเป็น “บิ๊กลอต”

“ขอให้ผ่านเดือนมิถุนายนไปให้ได้ เพราะจะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมาก หลังจากนี้ต้องพูดคุยกัน ยกหูโทรศัพท์คุยกัน ไม่พูดผ่านสื่อ วางแผนเป็นรายสัปดาห์” กุนซือ ศบค.ระบุ

บทเรียนครั้งนี้ทำให้ “ตกผลึก” แล้วว่า วัคซีนจะไม่มาเป็น “ก้อนเดียว” จำนวนมาก แต่จะทยอยมา ดังนั้น วิธีการจัดสรรจึงต้องจัดสรรในรูปแบบทยอย มามากจัดสรรมาก-มาน้อยจัดสรรน้อย และ “เลื่อนให้น้อยที่สุด”

สำหรับเป้าหมายการกระจายวัคซีนในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส แบ่งออกเป็น 2 งวด งวดแรก (7-20 มิ.ย. 64) จำนวน 3 ล้านโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส ซิโนแวค 1 ล้านโดส)

โดยจัดส่งไปให้ กทม.แล้ว (7-14 มิ.ย.) 5 แสนโดส แบ่งออกเป็นซิโนแวค 1.5 แสนโดส ได้แก่ ใช้ฉีดเข็มที่สอง 1.26 แสนโดส และสำรองฉุกเฉินบางส่วน

แอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส ได้แก่ ให้ “หมอพร้อม” 182,000 โดส “ไทยร่วมใจ” 1 แสนโดส ฉีดเข็มที่สอง 52,000 โดส ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้สูงอายุ 8,000 โดส สำรองฉุกเฉินบางส่วน

ประกันสังคม 3 แสนโดส กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 1.5 แสนโดส กลุ่มลงทะเบียน “หมอพร้อม” ในต่างจังหวัด 1.1 ล้านโดส

กลุ่มองค์กรภาครัฐ เช่น คนส่งสาธารณะ ทหาร-ตำรวจ-ครู 1 แสนโดสและสำรองวัคซีนฉุกเฉินรองรับการระบาดและงวดที่ 2 (21 มิถุนายน-2 กรกฎาคม) จำนวน 3.5 ล้านโดส (ซิโนแวค2 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส)

เมื่อวัคซีนมาไม่ตามแผน จึงต้อง “ถอยคนละก้าว” เพื่อให้เดินตามแผนให้ได้มากที่สุด