สงครามเย็น ทักษิณ-ธนาธร เพื่อไทยไม่ยอมก้าวไกล ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน

แนวรบในฝ่ายนิติบัญญัติ กำลังเข้มข้น ทั้งเรื่องการเดินหน้าเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเคลื่อนเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดสรรงบประมาณปี 2565

ทั้ง 3 เรื่อง ยึดโยง ผูกปมความขัดแย้ง สะสมเป็นสงครามเย็น ทั้งในพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง และพรรคการเมือง 3 พรรคใหญ่ในฝ่ายรัฐบาล

เกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา สร้างบทเรียนการทำงานในสภา ที่หน้าฉากและหลังบัลลังก์ประธานรัฐสภา เต็มไปด้วยการฮั้ว-ล็อบบี้ ของนักการเมืองฝ่ายค้านรุ่นพี่ที่เก๋าเกม ทิ้งให้ทีมอนาคตเคยใหม่ คร่ำเคร่งข้อมูล อภิปรายตามวาระ

ไม่ควรลืมว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งแรกของวาระรัฐบาล (ระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. 63) เกิดความร้าวฉานครั้งใหญ่ ชั่วข้ามคืน เมื่อ2 พรรคฝ่ายค้านตัดคะแนนกันเอง ด้วยการเปิดหน้าแฉฝ่ายเดียวกัน ผ่านสื่อครึกโครม เพราะปัญหาเรื่องการวางตัว ส.ส.และควบคุมเวลาผู้อภิปราย ระหว่างพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน กับอดีต ส.ส.อนาคตใหม่

แผลในครั้งนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการ อนค. บันทึกแผลเป็นคาไว้ในรัฐสภาว่า “เสียใจหนักมาก เฮิร์ทมาก ต้องหลบไปเลียแผลใจราว 1 สัปดาห์หลังผ่านคดียุบพรรค ทำให้อดีต ส.ส. อนค. ย้ายไปสังกัดพรรครัฐบาล 10 คน มี ส.ส. อดีต อนค. ไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งที่เตรียมตัวมาอย่างดี บางคนซ้อมอภิปรายถึง 4 รอบเพื่อไม่ให้เกินเวลาที่ได้รับมา” แต่ต้องโดน ส.ส.เพื่อไทย ชิงใช้เวลาไปกว่า 3 ชั่วโมง

ปิยบุตร แฉในเฟซบุ๊ก เปิดสาธารณะ ไว้ว่า “พวกเรายืนยันจะอภิปราย รัฐมนนตรี 5 คน ได้แก่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม อนุพงษ์ เผ่าจินดา และธรรมนัส พรหมเผ่า…ต่อมา มีข่าวลือเรื่อง “คุณขอมา” ไม่ให้อภิปราย ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พวกเราไม่เชื่อว่าเป็นความจริง และเริ่มมีข้อเสนอว่าให้อภิปรายประยุทธ์คนเดียวก็พอ คนอื่นไม่ต้อง”

แต่เมื่อถึงหน้างาน เข้าด้ายเข้าเข็มการต่อสู้ในเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปรากฏว่า “การเจรจาหาข้อตกลงกับพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะ ไม่รู้ว่าศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ Final Say อยู่ที่ไหนกันแน่ ตกลงแล้ว เปลี่ยน ตกลงแล้ว เปลี่ยน คนหนึ่ง พูดอย่าง อีกคน พูดอย่าง”

แต่รอยร้าวครั้งนั้น จบลงด้วยอาหารคาวมื้อค่ำ เมื่อนักการเมืองหน้าใหม่-ก้าวหน้าสุดล้ำ เปิดโต๊ะเป็นเจ้าภาพ ขอโทษนักการเมืองที่เก๋าเกม-พี่ใหญ่ในสภา โดยมีฉากและคิว ที่นายปิยบุตร ยกมือไหว้และเอ่ยคำขอโทษก่อนลาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์ พท.

จากนั้น การต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รอบที่ 2 การแสดงท่าทีไม่ลงรอย กับแนวทางและข้อการชุมนุมของม็อบราษฎร เกิดการปะทะทางความคิดเป็นระยะ ทั้งในระดับแกนนำ-หัวคะแนน และบรรดาติ่งของ 2 พรรค

สงครามเย็นของมวลชน 2 พรรค เกิดการแบ่งฝ่ายฟาดกันในโลกทวิตเตอร์ และคลับเฮาส์ ต่อเนื่อง

ล่าสุด 3 เรื่องมาบรรจบกันอีกครั้ง ทั้งการขัดแย้งกันในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ 2564 ,การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ปฐมเหตุ ความขัดกันของผลประโยชน์ใน กมธ. งบประมาณ “แดงขึ้น” เพราะฝ่ายเพื่อไทย ตัดสินใจโหวตให้นำเงินที่ตัดจากส่วนราชการอื่นรวม 1.63 หมื่นล้าน กลับคืนไปอยู่ใน “งบกลาง” บริหารจัดการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว

เสียงของก้าวไกล ตะโกนขึ้นทั้งในรัฐสภา ต่อเนื่องในเฟซบุ๊ก และคลับเฮาส์ เมื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล ชี้เป้าว่า เป็นการ “ตีเช็กเปล่า” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะแปรงบ 1.63 หมื่นล้านบาท ไปให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนการออมแห่งชาติ

แต่เกิดการเจรจาลับที่หลังห้องกรรมาธิการ จนได้เสียงเพื่อไทย ร่วมโหวตมติ 35-7 ผ่านไปใส่ “งบกลาง” ทำให้เกิดข้อกังขาข้อใหญ่ คาใจ ส.ส.พรรคก้าวไกล และพี่ใหญ่ในคณะก้าวหน้า ทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ออกหน้าต้านแนวทางเพื่อไทย

แหล่งข่าวในเพื่อไทย วิเคราะห์เกมนี้ว่า “น้อง ๆ ก้าวไกล คิดว่าเพื่อไทยคือคู่แข่ง ไม่ใช่แนวร่วม จึงเกิดเสียงต้านเช่นนั้น แต่ที่ผ่านมาเพื่อไทยเป็นฝ่ายยอม เกมล่าสุดนี้คงยอมไม่ได้ เกมฟาดกันคงยืดเยื้อ”

ตรงข้ามกับข้อวิเคราะห์ของอดีตรุ่นใหญ่เพื่อไทย แต่อยู่ในพลังประชารัฐ (พปชร.) และเห็นรอยปะทะ ของ 2 พรรคใน กมธ.งบประมาณว่า “เพื่อไทยพูดไม่หมด ที่บอกว่าโยกงบฯ 1.63 หมื่นล้านไปไว้ในงบกลางแก้โควิด ไม่ได้มีผลประโยชน์ในการผันงบลงพื้นที่ แต่ความจริงที่ซ่อนไว้ในรอยยิ้ม คือ แม้ไม่ได้ใช้งบกลาง 1.63 หมื่นล้านใช้ในพื้นที่การเมือง แต่มีการทอนงบกลางฉุกเฉินเร่งด่วน ปี 2564 ผันออกไปให้พื้นที่การเมืองของพรรคฝ่ายค้านแทน”

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเข้าสู่จุดตัดสำคัญ ส.ส.ก้าวไกลออกมาตะโกน สุดเสียงอีกครั้ง ว่า พรรคใหญ่ในฝ่ายค้าน และรัฐบาล เล่นบท “เอื้ออาธร” ต่อกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… ออกมาเปิดเผยว่า ขณะที่ฝ่ายก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เห็นไปในทิศทางเดียวกัน

“บรรยากาศการประชุม กมธ.เป็นไปด้วยความลุกลี้ลุกลนมาก พรรคใหญ่สองพรรคจากทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้านก็ค่อนข้างมีความเอื้ออาทรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โยนกันไปโยนกันมา สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน พรรคใหญ่สองพรรคเป็นไปอย่างหนุงหนิงเหมือนคนเพิ่งจีบกันใหม่ ๆ หากพรรค ทำให้ผมได้เห็นสองเรื่องที่มีความยึดโยงกันคือ 1.การโหวตโยกงบ 1.63 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ในงบกลาง และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความกลมเกลียวกันจนน่าสงสัย” ส.ส.พรรคก้าวไกล

เกมคัดค้าน-คัดง้างกันเองในฝ่ายค้าน ยังคงดำเนินต่อไป ต่างฝ่ายต่างเปิด 2 หน้า

ในการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังคงมีการประชุมร่วมของพรรคฝ่ายค้าน โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นั่งหัวโต๊ะผ่านระบบซูม ร่วมกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกล ส่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมวง  กับพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดยตำแหน่ง ระบุว่า มีรัฐมนตรี 4-5 คน จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีแน่ ๆ 2 รายชื่อ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข (สธ.)

ประธานวิป ฝ่ายเพื่อไทย กลบเรื่องขัดแย้งครั้งเก่า ด้วยการความเก๋า ว่า ปัญหาความขัดแย้งเมื่อครั้งอภิปรายรอบแรกนั้น เป็นเพราะ “ส.ส.หน้าใหม่ ป้ายแดง อภิปรายครั้งแรก แต่ละคนยังไม่มีประสบการณ์” แต่เกมครั้งใหม่ คงไม่มีปัญหาซ้ำรอย

เช่นเดียวกับเลขาธิการฝ่ายพรรคก้าวไกล ที่บอกแต่เพียงว่า ความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทย-ก้าวไกล ไม่ใช่อุปสรรคต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“อภิปรายไม่ไว้วางใจก็คงต้องเป็นเอกภาพ ยังไงพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่เหมือนเดิม เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คงไม่กระทบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ปัจจัยแทรกซ้อนในเกมใหญ่ รุ่นใหญ่ ของ 2 พรรคฝ่ายค้าน โดยผู้มีบารมีนอกพรรค เข้ามาร่วมเกมทางทั้งทางตรงและทางอ้อม

ฝ่ายเพื่อไทย มี “ทักษิณ ชินวัตร” สนธิกำลังกับ “กลุ่มแคร์” กล่อมมวลชนและเดินเกมนอกสภา การเคลื่อนคาร์ม็อบ ของ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และสาวกเสื้อแดง คือแนวร่วมสำคัญ

ฝ่ายก้าวไกล มี “ธนาธร-ปิยบุตร” เดินหน้าปักธงร่วมกับข้อเรียกร้องชุดใหญ่ ของม็อบราษฎร และเครือข่าย

การเมืองเข้มข้น-แนวรบคู่ขนาน ของ 2 พรรคฝ่ายค้าน ยังคงดำเนินต่อไป