คดี “ผู้กำกับโจ้” ปลุกรัฐสภา ขยับรื้อโครงสร้างตำรวจ–เร่งปฏิรูปกฎหมาย

กรณี “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ กับพวกรวม 7 คน ที่ถูกศาลออกหมายจับ ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ภายหลังถูกร้องเรียนว่าใช้กำลังรีดทรัพย์จากผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต กระทั่งมีการปล่อยคลิปวิดีโอมีการคลุมถุงซ้อมจนเสียชีวิตนั้น สร้างแรงสั่นสะเทือนไม่เพียงวงการตำรวจ แต่ยังเขย่าไปอีกหลาย ๆ วงการ 

ศาลอนุมัติหมายจับ 7 ตำรวจร่วมแก๊ง “ผู้กำกับโจ้” คุมตัวได้แล้ว 4 คน
เปิดปมคลิปถุงคลุมหัวผู้ต้องหาเสียชีวิต “ประยุทธ์” สั่งตรวจสอบ

และคนที่ถูกทวงถามถึงความรับผิดชอบมากที่สุดหนีไม่พ้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งเป็นอีกตำแหน่งที่สวมบทบาทอยู่

บรรยากาศในอาคารรัฐสภา นอกจากมีวาระใหญ่คือการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ ที่ 2 แล้ว กรณีของ “สารวัตรโจ้” ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเคลื่อนไหวในโมงยามนี้

เสรีพิศุทธ์ยันตำรวจไม่มีวัฒนธรรมรีดทรัพย์

“พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใช้ประสบการณ์วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เรื่องนี้ต้องขอชมเชยข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจแสดงพยานหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้ออกมา 

หากไม่คิดไม่กล้า ผู้ต้องหาคนนั้นก็ต้องตายฟรีหรือกว่าจะจับผู้กระทำความผิดได้ก็ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่นี่มีภาพหลักฐานชัดเจน ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจได้เลย ซึ่งก็ได้ทราบว่าผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ออกจากราชการไปก่อน และทราบว่าเจ้าตัวหลบหนีไปแล้ว  

เรื่องการ “รีดทรัพย์” ในวงการตำรวจ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ยืนยันว่าไม่ใช่ “วัฒนธรรมองค์กร”

ไม่ใช่วัฒนธรรมและไม่ใช่การสั่งสอนกันในองค์กรตำรวจ ตำรวจที่ดีก็มีเป็นจำนวนมาก และเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือคนทั่วไปก็สอนในเรื่องของอุดมคติตำรวจต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน ไม่มักมากต่อลาภผล 

“หากผู้ที่อยู่ในระเบียบวินัยกระทำการด้วยปัญญา รักประชาชนจริงๆ ก็จะไม่ประพฤตินอกลู่นอกทาง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ดูแลประชาชนเป็นหลักและไม่สนใจผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น”

“อยากฝากถึงพี่น้องตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต บริการประชาชนด้วยอุดมการณ์ที่เราได้ฝึกฝนมา องค์กรตำรวจมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามอุดมการณ์ แต่หากเราได้ประธาน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาจากทหาร ตำรวจไม่เจริญหรอก ก็จะถูกกดกบาลอยู่อย่างนี้” 

กมธ.ตำรวจชงปฏิรูปกฎหมาย 

ด้านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมนำเรื่อง “สารวัตรโจ้” เข้าสู่การหารือในที่ประชุม กมธ.ทั้งนี้ นายณัฏฐ์ชานนท์ ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะ กมธ.ตำรวจ ระบุว่า มีผู้ประสานมายัง กมธ. จำนวนมากว่าถึงเวลาปฏิรูปตำรวจเสียที กมธ.ให้ความสำคัญ และมองว่า เป็นคดีที่ท้าทายองค์กรตำรวจ พนักงานสอบสวน 

ซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องรอบคอบให้ความเป็นธรรม ย้ำว่า ต้องดูแลความปลอดภัยผู้บันทึกคลิปหลักฐาน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือตำรวจ 

กมธ.จะนำคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 26 สิงหาคมด้วย โดย กมธ.ยังห่วงประเด็นเรื่องการพิสูจน์หรือคำวินิจฉัยของเเพทย์ ก็เป็นอีกประเด็นสั่นสะเทือนเช่นกัน  

สภาจะเร่งให้เกิดการผลักดันร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตำรวจต่อไป

จี้บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม จริงจังก่อนพังทั้งโครงสร้าง

“รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้วงการตำรวจเอง ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ รวมไปถึงหัวเรือใหญ่ทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนรตีและ รมว.กลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ที่จะจริงจังแค่ไหนกับการดำเนินการต่อกับกรณีที่เกิดขึ้น มิฉะนั้น การปล่อยให้ตำรวจที่อ้างตัวทำอะไรไปเรื่อยๆ แบบนี้ สุดท้ายคงไม่พ้นจะพากันพังหมดทั้งโครงสร้างแน่ ๆ

รังสิมนต์ ผู้ซึ่งเปิดเผยกรณีตั๋วตำรวจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า

“ผลที่ตามมาหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย” ไม่มีการพยายามชี้แจงต่อสังคม แก้ปัญหาระบบตั๋ว หรือจัดการอะไรทั้งสิ้น ทำราวกับว่าสิ่งที่ประชาชนรู้กันไปทั่วแล้วนี้ไม่อยู่ในสารบบความคิดหรือสนใจของตำรวจที่ “เส้นใหญ่” จนไม่มีใครกล้าไปตรวจสอบอะไรต่อ” 

กรณีผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการรีดไถและซ้อมผู้ต้องหาที่จับกุมได้จนเสียชีวิต หลังจากมีความพยายามไถเงิน 2 ล้านบาท ใช้ถุงคลุมศีรษะจนผู้ต้องหาขาดใจตาย แล้วไปพยายามปิดปากครอบครัวผู้เสียชีวิต สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใน สภ.ลบวิดีโอกล้องวงจรปิด แล้วมาอ้างต่อสาธารณะว่าผู้ต้องหาเสพยาเกินขนาด

“จนสุดท้าย ผมก็ได้เห็นคลิปวิดีโอสองชิ้นที่เห็นเหตุการณ์ชัดเจนว่า ผู้กำกับคนดี ที่อ้างตัวว่าสนิทสนมกับพลตำรวจโท ต. ผู้กว้างขวางแห่งวงการตำรวจที่ผมเอ่ยถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ผ่านมา มีพฤติกรรมโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ซ้อมฆ่าคนและอำพรางคดีหน้าตาเฉย ราวกับว่าชีวิตคนเป็นผักปลา”  

“นี่หรือครับคนดี นี่หรือครับคนที่จบหลักสูตรประจำ ? นี่หรือครับผลผลิตของระบบที่ผมเคยพูดถึงไป ? การเป็นตำรวจนี่มันยิ่งใหญ่กันขนาดนี้เลยหรือ ? สุดท้ายแล้วคนพวกนี้นี่แหละครับที่เอามาอ้างเป็นเครื่องมือใช้งานเพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่เคยสนใจว่าประชาชนจะต้องเจออะไรบ้าง”

“สุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้นกับตำรวจคนนี้ครับ สุดท้ายก็แค่ถูกสั่งย้าย จากผลของการฆ่าคนตายและพยายามอำพรางคดี น่าเหลือเชื่อจริงๆ นะครับ การเป็นตำรวจที่มีเส้นสายในระบบเครือข่ายอะไรแบบนี้ได้ จะทำอะไรก็คงสะดวกสบายไปหมดจริง ๆ” 

ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจขนานใหญ่

ด้าน พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบ ได้โพสต์ข้อเขียน วิเคราะห์กรณี “ผกก.โจ้” ซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต พร้อมระบุว่า ย้ำอีกครั้ง ถึงเวลาแล้ว “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ !!! โดยมีรายละเอียดดังนี้  1.ระบบของโครงสร้างตำรวจ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานที่ถือบัตร ป.ป.ส. 

2.อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ สายสัมพันธ์กับคนใหญ่คนโต และ 3.สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย  

นี่คือสิ่งที่ทำให้ ผู้กำกับหนุ่มมีความโอหัง กล้าที่จะลงมือซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต และเป็นข่าวใหญ่ที่ช็อคสังคมไทยในเวลานี้

ทั้งนี้ ในฐานะ ส.ส. ผมได้อภิปรายเสนอแก้ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานไปเยอะมาก เพราะผู้ถือบัตร ป.ป.ส.ที่ใช้อำนาจนี้ต้องระวัง เพราะขบวนการค้ายาเสพติดนั้นมันมีสิ่งเย้ายวนหอมหวนเยอะ  

….เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการขัดเกลาหรือการที่สังคมตำรวจปล่อยปละละเลยปัญหาเรื่องนี้มานานมาก  ย้ำกันอีกครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง ปฏิรูปตำรวจ ขนานใหญ่

กฎหมายตำรวจยังไม่ถึงไหน

อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุคที่มีอำนาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นกำแพงเหล็กหนุนหลัง 5 ปี จนผลัดใบเป็นรัฐบาลลูกผสม ตำรวจ-ทหาร

มีความพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฏิรูปตำรวจหลายยก ตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนวาระปฏิรูปตำรวจ กระทั่งถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพียงแค่ ลูบ ๆ-คลำ ๆ 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ก็คือที่ประชุมรัฐสภาได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….มาพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็น “กฎหมายปฏิรูป” 

1.กำหนดให้ตำรวจเป็นตำรวจที่มียศ และไม่มียศ เช่นเดียวกับทหาร จะปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากขึ้น  

2.แบ่งอัตรากำลังตำรวจที่มีคนครองบรรจุแล้ว 210,000 อัตรา เป็น 5 กลุ่มสายงาน กลุ่มอำนวยการ กลุ่มธุรการและการสนับสนุน กลุ่มสอบสวน กลุ่มป้องกันและปราบปราม กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ

3.รับรองสถานภาพสถานีตำรวจเป็นครั้งแรก ข้าราชการตำรวจที่อยู่ในสถานีตำรวจจะถูกสั่งไปช่วยราชการที่อื่น หรือปฏิบัติงานอื่นไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะจัดตำรวจอื่นมาเสริมแทน เพื่อไม่ให้กำลังตำรวจในสถานีตำรวจขาดแคลน  

4.ผ่องถ่ายภารกิจบางภารกิจ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจที่ดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โอนกลับไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด  

5.การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และความประพฤติ นำเอาความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ประเมินแล้วนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ในขั้นต้นกำหนดว่าตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้น้อยสุดไปถึงรองผู้กำกับ ให้ยึดหลักอาวุโสร้อยละ 33 ขณะที่ผู้บังคับการยศนายพลขึ้นไปถึงผู้บัญชาการ คือ พลตำรวจตรีจนถึงพลตำรวจโท ให้ยึดหลักอาวุโสร้อยละ 50 และในลำดับผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ให้ยึดหลักอาวุโส 100%

6.ตำรวจคณะกรรมการใหญ่ ๆ คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งกำหนดให้นายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมี ก.ตร.กำหนดให้มีการบริหารงานบุคคล ซึ่งทั้ง 2 ชุด อำนาจหน้าที่เหลื่อมล้ำ และหน่วงกัน จึงยุบรวมกัน เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” และมีอำนาจทั้งหมด  

7.กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ของข้าราชการตำรวจ องค์ประกอบ 7 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ตำรวจ การสรรหามาจากประธานศาลปกครอง รองประธานศาลฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ มาประกอบเป็น ก.พ.ค.พิจารณา รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจในเรื่องการบริหารงานบุคคล  

8.ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนข้าราชการตำรวจ (กร.ตร.) ประกอบด้วยจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่มีจเรตำรวจแห่งชาติ มาเป็นเลขานุการ รับเรื่องร้องเรียนของประชาชน  

9.กำหนดให้มี “กองทุน” ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม  

ภายหลังจากที่ประชุมรับหลักการไปเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะนี้ร่างกฎหมายยังนิ่งอยู่ในกระบวนการกรรมาธิการ ปม “ผู้กำกับโจ้” อาจจะเข้ามาปลุกให้การพิจารณาถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง