พปชร.เขย่า 2 รัฐมนตรีขาลอย ไม่ไว้วางใจ สุชาติ-ชัยวุฒิ พึ่งบารมี “บิ๊กป้อม”

รายงานพิเศษ

ฤดูกาลอภิปรายไม่ไว้วางใจเวียนมาบรรจบอีกวาระ ฝ่าย “จองกฐิน” ไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาโควิด-19 บกพร่อง-ผิดพลาดและล้มเหลว

ตั้งวอร์รูมตึกไทยคู่ฟ้า

“แหล่งข่าวระดับสูงทำเนียบรัฐบาล” ไม่หนักใจ พอจะเก็งข้อสอบได้ เชื่อว่าจะผ่านไปได้

“แต่ที่หนักใจ สุดท้ายคนจะเชื่อและฟังข้อมูลของใครมากกว่ากัน และคนที่เข้าใจก็เข้าใจ แต่คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ เชื่อว่าฝ่ายค้านไม่มีหมัดเด็ด หมัดน็อก แต่จะใช้วาทกรรมเชือดเฉือน รัฐบาลก็ต้องแก้เกมด้วยการอธิบายด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง”

“ทีมวอร์รูมนายกรัฐมนตรี” เตรียมใช้โอกาสให้รัฐบาลอธิบายภาพรวมการแก้ปัญหาโควิดทั้ง 4 ระลอกให้ประชาชนได้ฟัง รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลจะทำในอนาคต

“ฝ่ายความมั่นคง” ประเมินว่า ในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจการชุมนุมนอกสภาจะประชิดหน้าสภา แต่เชื่อว่า จุดไม่ติด-คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย เป็นกระแสตีกลับจากการใช้ความรุนแรงของ “ม็อบดินแดง”

ส่วนการขย่ม-เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชารัฐที่อาจจะส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล-เอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ น่าจะ “เอาอยู่” เพราะ “ยังไม่ถึงเวลา”

ยิ่งหากผลลงมติไม่ไว้วางใจ “เสียงแตกละเอียด” รัฐนาวาประยุทธ์ “ย่อมอยู่ด้วยกันไม่ได้”

วอร์รูมสู้ศึกซักฟอก-ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้า 3 ชุดหลัก ชุดแรก-ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มี “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็น “หัวหน้าชุด”

โดยมี “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง” อยู่ในชุดนี้ ได้แก่ “ประทีป กีรติเรขา” หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) และ “อนุชา บูรพชัยศรี” อดีตโฆษกรัฐบาล

ชุดที่สอง-ทีม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูเรื่องกฎหมายโดยเฉพาะ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบุคลากรด่านหน้าเหมาเข่ง” หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เกิดข้อกังขา-สอดไส้ “นิรโทษกรรมนักการเมือง”

ชุดที่สาม ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ที่มี “เสธ.นุ้ย” พล.ต.ฐิตวัชร์ เสถียรทิพย์ เป็น “หัวหน้าศูนย์” ทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับญัตติอภิปราย เพื่อเป็นจุดศูนย์รวม-ป้อนข้อมูลให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์”

นอกจากนี้ ยังมี “ทีม เสธ.ตึกไทยคู่ฟ้า” ที่มี “3 เสธ.” ประกอบด้วย “เสธ.มิตต์” พล.ต.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ “เสธ.เก๋” พล.ต.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงษ์ และ “เสธ.นิว” พล.ท.นิธิ จึงเจริญ ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นทีมงานชั้นใน-ไข่แดงรอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ที่ไว้ใจและสนับสนุนข้อมูลในทางลับ

ด้าน “ภูมิใจไทย” แม้ก่อนหน้านี้ลูกพรรคจะอภิปรายอย่างราชสีห์ จิก-กัด-อัด ฝีมือการบริหารโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด แต่การโหวตรับรองได้อย่างหนึ่งว่า จะโหวต “อย่างหนู” ไม่แตกแถว

ภูมิใจไทยยังพอใจอยู่กับเก้าอี้รัฐมนตรี 2 เก้าอี้ในกระทรวงคมนาคม 1 เก้าอี้ รมช.เกษตรฯ 1 รมว.ท่องเที่ยวฯ 1 เก้าอี้ รมช.มหาดไทย 1 เก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ 1 รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข และ 1 รองประธานสภา

ทว่า 2 รัฐมนตรีของพรรคทั้ง “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” มั่นใจจะผ่านศึกซักฟอกไปได้ โดยยืนยันว่าไม่มีประเด็น “ทุจริต” มาเกี่ยวข้อง รวมถึง “ทีมองครักษ์” ขึ้นมา 1 ทีม รวม 12 คน นำทีมโดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เขย่าเก้าอี้-ปรับ ครม.ประยุทธ์ 5

ทว่า เสียงที่เล็ดลอดออกมาจากพรรคแกนนำรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐที่ยังเขย่า-ขย่มเก้าอี้รัฐมนตรีอยู่เป็นระยะ โดยเล็งเห็นผลว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 5

ด้วยความเป็นพรรคใหม่-พรรคใหญ่ การชิงการนำของกลุ่ม-ก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐจึงเกิดขึ้นเป็นระยะ-ทุกวงรอบที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ-เก้าอี้โควตารัฐมนตรีภายในพรรค โดยเฉพาะเมื่อถึงเปิด season อภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ 2 ใน 5 ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่าง “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เก้าอี้ตัวนี้ถูกเขย่าเป็น “รอบที่ 2” ศึกซักฟอกครั้งแรกสุชาติ “หืดขึ้นคอ” เพราะได้คะแนน “รองบ๊วย”

แต่ด้วยความที่ “เสี่ยเฮ้ง” เป็นคนใจถึง-พึ่งได้ “ช่วยใครแล้วไม่เคยจด” ทำให้มีพรรค-มีพวกเยอะ เฉพาะเสียงในพรรคที่พร้อม “หนุนหลัง” นายสุชาติมีไม่ต่ำกว่า 20 ชีวิต ทั้งโซนภาคกลาง-ปริมณฑล ภาคตะวันตก-ภาคตะวันออก และภาคใต้

ขณะที่เสียงนอกพรรค-ที่พร้อมยกสุดแขนไม่ต่ำกว่า 10 เสียง

อีก 1 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถูก “รับน้อง” หลังรับตำแหน่งไม่ถึง 6 เดือน หลังจากเสี่ยตั้น-เสี่ยบี พ้นจากสถานะแกนนำพรรค “เสี่ยโอ๋” จึงถูกมองว่า “ขาลอย”

“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค ไม่จำเป็นต้องไปล็อบบี้ใคร พรรคต้องไปในทางเดียวกัน เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ” รมว.ป้ายแดงระบุ

ฟรีโหวต-เสียงแตก

“แหล่งข่าวจากระดับสูงพลังประชารัฐ” เปิดเผยว่า การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจคงไม่สามารถออกเป็นมติพรรคได้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคจะมีความเห็นร่วมกันที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนตัว ส.ส.เป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและตามข้อบังคับของพรรค แต่ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นเอกภาพ

เมื่อมติพรรคเปิดทาง “ฟรีโหวต” เปิดช่อง ส.ส.ใช้ “เอกสิทธิ์” การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อาจจะเป็นหนัง “ภาคต่อ” ของการ “สวนมติพรรค” ของ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์” โหวต “งดออกเสียง” นายศักดิ์สยาม เป็น “หนังม้วนเดิม”

รวมถึงการ “ล็อบบี้พรรคเล็ก” ให้ลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” นายสุชาติ ถึง 7 คน ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน ประกอบด้วย นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล, นายภาสกร เงินเจริญกุล นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ และนายสุภดิช อากาศฤกษ์

พรรคเล็ก 3 เสียง ได้แก่ นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย

ขณะที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ อาจต้องเจอท้าทายบารมี “แม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์” เหมือนเมื่อครั้ง 3 ส.ส. “กบฏประชาธิปัตย์” คือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี “งดออกเสียง” ให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค

พรรคแตก-เสถียรภาพสั่นคลอน

ความน่าสนใจของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมี “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร เป็น “หัวหน้าพรรค”

กลุ่ม 4 ช.จึงถูกคาดหมายว่า หลังจากก้าวขึ้นมาเป็น “กลุ่มนำ” ภายในพรรคพลังประชารัฐ “เต็มตัว” เก้าอี้ “รัฐมนตรี” คงจะ “เล็กเกินไป”

โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรคที่เปรียบเสมือนเป็น “แม่บ้านพรรค” ที่เปลี่ยนมือมาอยู่ที่ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

รวมถึงเก้าอี้ รมช.ของ “ว่าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องอัพไซซ์เพื่อให้มีพาวเวอร์ในการระดมหัวกะทิ ดีกรีด็อกเตอร์มาร่วม “ทีมเศรษฐกิจ” ฟอร์มทีมคิดค้นนโยบายเศรษฐกิจสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

ยิ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรคสาม ระบุว่า “มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มอำนาจใหม่” ภายในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ หาก “เอาจริง” จะต้อง “เขย่าแรง” ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะเห็นรอยร้าว-รอยแยกในพรรคแกนนำ-พรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลไปถึงเอกภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทว่า ที่หวังว่าปัจจัยชี้ขาดเกมเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 คือ การรวบรวมเสียงพรรคเล็ก-งูเห่า-ส.ส.ฝากเลี้ยงในพรรคฝ่ายค้านตัวเป็น ๆ มากกว่า 1 โหล อาจจะล่มกันทั้งรัฐนาวา

ย้อนคะแนนไว้วางใจประยุทธ์

คะแนนไว้ใจ-ไม่ไว้วางใจ 2 รอบที่ผ่านมา แยกได้ดังนี้ รอบที่ 1 เมื่อ 24-27 กุมภาพันธ์ 2563 ลงมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยอภิปรายนายกฯและรัฐมนตรีทั้งสิ้น 6 คน

ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง งดออกเสียง 2

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯได้คะแนนไว้วางใจ 277 เสียง ไม่ไว้วางใจ 50 เสียง งดออกเสียง 2

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 เสียง งดออกเสียง 2 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ไว้วางใจ 269 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง งดออกเสียง 7

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 54 เสียง งดออกเสียง 2 ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง งดออกเสียง 2

มาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3 พล.อ.ประวิตร ไว้วางใจ 274 เสียง ไม่ไว้วางใจ 204 เสียง งดออกเสียง 4

พล.อ.อนุพงษ์ ได้เสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 3 ร.อ.ธรรมนัส ได้เสียงไว้วางใจ 274 เสียง ไม่ไว้วางใจ 199 เสียง งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ได้เสียงไว้วางใจ 275 เสียง ไม่ไว้วางใจ 201 เสียง งดออกเสียง 6

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ไว้วางใจ 268 เสียง งดออกเสียง 7 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ไว้วางใจ 258 เสียง ไม่ไว้วางใจ 215 เสียง งดออกเสียง 8 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไว้วางใจ 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ 201 เสียง งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1

นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 4 และ สุชาติ ชมกลิ่น ไว้วางใจ 263 ไม่ไว้วางใจ 212 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1

ต้องดูว่าเอฟเฟ็กต์คะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเขย่าพลังประชารัฐหนักแค่ไหน