อภิปรายไม่ไว้วางใจ : วิโรจน์ ก้าวไกล ฉีกแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก

วิโรจน์ พรรคก้าวไกล เปิดอภิปราย ประยุทธ์-อนุทิน ทำสัญญาแอสตร้าเซนเนก้า หละหลวม เป็นแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก 

วันที่ 1 กันยายน 2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกยฯ และ รมว.สาธารณสุข  

โดยในช่วงแรกนายวิโรจน์เปิดคลิปอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทิน รอบเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำพูดว่า ไตรมาส 3 คนไทยจะมีวัคซีนเต็มแขน-มีเต็มโรงพยาบาล มีจนไม่พอเก็บ

ทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นองครักษ์นายอนุทิน ประท้วงตามข้อบังคับข้อ 69 คลิปที่แสดงเป็นลักษณะดัดแปลง เสียดสี ทำให้ดูเป็นการเสียดสี ตลกขบขัน เกรงว่าจะทำให้ประชาชนสับสน และขอให้ประธานวินิจฉัยว่าอย่าได้เปิดคลิปลักษณะนี้ 

นายสุชาติ ตันเจริญ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วินิจฉัยว่า มีการดัดแปลงนิดหน่อย แต่ดูว่ายังไม่เสียหาย แต่ถ้าทำให้เสียภาพพจน์ของรัฐมนตรีก็พยายามหลีกเลี่ยง 

วัคซีนเต็มแขน หรือพรุนแขน

นายวิโรจน์อภิปรายต่อว่า ที่นายอนุทินบอกว่าวัคซีนมีเต็มแขน ไม่ได้ผิดคำพูด ที่มีหมอถูกส่งไปเรียนต่อแคนาดา ต้องฉีด 4 เข็ม ซิโนแวค 2 เข็มไม่รับรอง ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 เข็มก็ยังไม่ได้ ต้องฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 4 อย่างนี้ไม่เรียกว่าวัคซีนเต็มแขน แต่เรียกว่า “วัคซีนพรุนแขน” 

เขาเท้าความว่า เมื่อคนระดับ รมว.สาธารณสุข ออกมาให้คำมั่นกับประชาชนว่า เดือนกรกฎาคม-กันยายน จะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเต็มแขนคนไทย ก็เบาใจ เพราะไม่เคยคิดว่าคนระดับรัฐมนตรีกล้าโกหกประชาชนกลางสภาผู้แทนราษฎร เพราะคิดว่าทำสัญญากันนานแล้ว

แต่เพิ่งจะมาแก้สัญญาสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดสตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 

ชี้แผนจัดหาวัคซีนลวงโลก 

และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายอนุทินยังให้คำมั่นกับประชาชนว่าประเทศไทยมีวัคซีนมากที่สุดในเอเชีย และถ้านับเป็นอัตราส่วนของประชากรประเทศไทยไม่แพ้ใครในโลก

โดยประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการส่งมอบวัคซีน 26 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม แต่ภายหลังมาสื่อสารจะทยอยส่งมอบในเดือนมิถุนายน 6.3 ล้านโดส กรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส ปิดท้ายที่เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส 

การโหมประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางแบบนี้ก็ต้องเข้าใจว่ามีการลงนามระหว่างคู่สัญญาระหว่างไทย กับแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าคิดว่าจะเป็นแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก สมคบคิดกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน กระทั่งการระบาดรอบ 3 

นายอนุทินสัญญาว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบวัคซีนให้ได้ 61 ล้านโดสภายในปี 2564 หมายความว่าต้องมีข้อบังคับที่ทำให้แอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศไทยตามแผนการจัดหา 61 ล้านโดสให้ได้ แต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งประกาศว่า จะฉีดได้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนวันที่ 7 มิถุนายน ส่วนวันต่อไป ให้เลื่อนการฉีดออกไปหรือให้รอการนัดหมายใหม่ โดยนายอนุทินกลับให้เหตุผลว่า หน่วยฉีดวัคซีนฉีดเร็วเกินไป

“และแล้วแผนการจัดหาวัคซีนลวงโลกก็ได้เผยเค้าลางแห่งหายนะ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เมื่ออธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า 61 ล้านโดส ในแผนการจัดหาวัคซีนเป็นแค่ศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องส่งมอบ”

จากนั้นปรากฏว่ารัฐบาลได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในเดือนมิถุนายน เพียง 5,130,000 โดส ต่ำกว่าแผนการจัดหาที่ต้องได้รับ 6,333,000 โดส ต่างกันถึง 1,200,000 โดส ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ได้เปิดเผยว่าแอสตร้าเซนเนก้า น่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น

“เมื่อเข้าไปดูในตัวสัญญาทั้งหมดก็พบว่า สัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเอาไว้ ไม่ได้มีการระบุประมาณการการส่งมอบในแต่ละเดือนเอาไว้จริง ๆ พล.อ.ประยุทธ์ไปทำสัญญาที่หละหลวมแบบนี้ได้อย่างไร แผนการจัดหาวัคซีนลวงโลกถูกสารภาพจนสิ้นไส้”

กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น เพื่อแอสตร้าเซนเนก้า 

นายวิโรจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนคิดว่ารัฐบาลได้เซ็นสัญญาซื้อขายเรียบร้อยแล้วแต่ความจริงเพิ่งจะเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นี้เอง 

และหากพิจารณาจากหนังสือจากคณะกรรมการกันกลองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่ นร 1106/(คกง.) 207 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ระบุชัดว่าหากใช้เงินกู้อุดหนุนบริษัทเอกชน ซึ่งในที่นี้คือบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ ในการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ต้องมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิการส่งออกเพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการซื้อวัคซีนที่ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจอนุมัติงบฯกลาง ในวงเงิน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ โดยไม่นำเงินกู้ไปอุดหนุน เพราะหากใช้เงินกู้ก็ต้องรับกับเงื่อนไขจำกัดการส่งออก จากนั้นนายอนุทินก็รับไม้ต่อ ไปลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา โดยยอมรับข้อตกลงกับทางแอสตร้าฯ ให้ส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัด

เมื่อเป็นเช่นนี้พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน จึงไม่กล้าบังคับใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีน เพื่อจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์

พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินมีเจตนาเอาชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปเสี่ยงเดิมพันกับแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน ต่อให้มีปัญหาเกิดขึ้นก็จะสั่งซื้อวัคซีนที่สามารถสั่งซื้อได้เร็ว มาฉีดแก้ขัดไปก่อน กีดกันวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่ยอมซื้อวัคซีนไฟเซอร์มาสำรองไว้ตั้งแต่แรก แย่งซีนวัคซีนที่ตัวเองตั้งธงเอาไว้ 

ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ โดยอ้างว่า ไม่อยากซื้อวัคซีนในราคาแพง แต่ก็ไม่มีทางแพงกว่าชีวิตของประชาชน แพงกว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลต้องจ่าย และไม่มีทางแพงกว่าความย่อยยับทางเศรษฐกิจ  พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ 

พล.อ.ประยุทธ์กลับคิดที่จะออกกฎหมายที่นิรโทษกรรมล่วงหน้าให้ตัวเองและพวก ผ่านการออกพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งต่อมาได้กลับเปลี่ยนแนวทางเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อ เพื่อเป็นการสอดไส้ 

“มีการอุปโลกน์แผนวัคซีนลวงโลกมาหลอกลวงประชาชน ซ้ำร้ายยังบริหารระบบสาธารณสุขจนล้มเหลว ชีวิตสิ้นหวังรอติด รอตรวจ รอตาย สุดท้ายยังต้องรอเตา จากพฤติกรรมที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน” 

งูเห่าประท้วงวุ่น 

ระหว่างที่นายวิโรจน์อภิปราย ปรากฏว่ามีบางช่วงที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยลุกขึ้นประท้วงนายวิโรจน์หลายครั้ง โดยเฉพาะจาก ส.ส. ที่เคยอยู่พรรคอนาคตใหม่แล้วย้ายไปพรรคภูมิใจไทย และภูมิใจไทย เช่น 

พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทรบุรี พรรคพลังประชารัฐ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แต่ไปอยู่พรรคภูมิใจไทยอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดการตอบโต้ เรื่อง “งูเห่า” กับนายวิโรจน์ โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานเป็นผู้ห้ามศึก