ชะตากรรม 21 ส.ส.ก๊วนธรรมนัส ต่อรองไป 2 พรรคใหม่ โหวตข้างรัฐบาล

ธรรมนัส
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

เหลืออีกไม่นาน ชีวิตของ 21 ส.ส. อดีตพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกขับออกจากพรรคเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 กำลังจะถึงเส้นตาย ต้องเข้าไปสังกัดพรรคใหม่ให้ทัน 30 วัน

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) ตีกรอบไว้ว่า “พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น”

“ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว”

สปอตไลต์การเมืองสาดมาที่ “พรรคเศรษฐกิจไทย” คือซุ้มการเมืองซุ้มใหม่ ที่คาดการณ์กันว่า ส.ส. 21 คนที่ถูกขับจากพรรคพลังประชารัฐ มีอย่างน้อย 18 คน ที่จะเข้าสังกัดพรรคดังกล่าว

รับรู้โดยทั่วไปว่า พรรคเศรษฐกิจไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 แต่เตรียมปัดฝุ่น-รื้อโครงสร้างภายใน ย้ายที่ทำการพรรคใหม่ จากเดิมอาคารเอส จี ทาวเวอร์ ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ย้ายมาอยู่ตึกยู ทาวเวอร์ ย่านศรีนครินทร์ ส่วนตำแหน่งหัวหน้าพรรค พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประกาศตัว เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพรรคเบอร์หนึ่ง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้นำหน่วย

ปฐมบทของเหตุการณ์ ทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือนกันยายน 2564 ตั้งแต่มีการเขย่าขอต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ครอบครองมาเกือบ 8 ปี โดยกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อเกมต่อรองไม่สำเร็จจึงพัฒนาเป็นเกมโค่นล้มนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯลุงตู่ประคองสถานการณ์ แก้เกม 3 วันเต็ม จนกำชัยชนะ แล้วเผด็จศึกด้วยการปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากการเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ปลดจาก รมช.แรงงาน

แต่แล้วเหตุการณ์มาพลิกอีกตลบ เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส ขน ส.ส.ในมือ 21 คน ออกจากพรรค ขอให้พรรคมีมติขับออกจากพรรค มีอำนาจต่อรองมหาศาล ส่งผลถึงความอยู่รอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางเสียงครหาว่า มติดังกล่าวเป็น “มติเถื่อน” ถูกต้องตามกฎหมาย-ข้อบังคับพรรคจริงหรือไม่?

กระนั้น เอฟเฟ็กต์ 21 ส.ส.ก็ทำให้เกิด “สภาล่มซ้ำซาก” เพราะวิปฝ่ายรัฐบาลคุมเสียงในสภาไม่ได้ รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่ว่า 21 ส.ส.ย้ายสนับสนุนขั้วไหน ย่อมสะเทือนตั้งแต่ระดับราก ไปจนถึงจุดสูงสุดของห่วงโซ่อำนาจ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าวระดับนำในสภา ของพรรคเพื่อไทยขั้วฝ่ายค้าน มองเห็นรอยปริแยกของพรรคพลังประชารัฐ แล้วอธิบายปรากฏการณ์ให้ฟังว่า “ตอนนี้เราเช็กคอนเฟิร์มว่า ร.อ.ธรรมนัส เล่นเกมแตกหักกับ พล.อ.ประยุทธ์ จริง ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ อีกทั้ง ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้มีแค่ 21 คน แต่เขาดูแลทุกพรรค บางส่วนก็ยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ”

ข้อวิเคราะห์ฝ่ายค้านปักธงเดิมคือ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ถ้าฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาไม่ได้ รอวันถูกเชือดในสภา แต่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอม จึงมีอยู่ 2 ทาง หนึ่งชิงยุบสภา ก่อนฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ สอง ต้องจ่าย-แจก (กล้วย) หนัก อาจจะหนักเท่าทั้งชีวิตที่เคยหามา เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

แหล่งข่าวในเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า “ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส เป็นมือจ่ายในพรรคพลังประชารัฐ คราวนี้เมื่อไม่มี ร.อ.ธรรมนัส พล.อ.ประวิตรอาจจะลอยตัว คนที่จะต้องมาเป็นมือจ่ายแทนคือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ต้องจ่ายหนักทั้งชีวิตที่หามาถึงจะยื้อได้” แหล่งข่าวเพื่อไทย

ข้อน่าสงสัยฝ่ายค้าน

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้ว่า 21 ส.ส.ที่ถูกขับไป สามารถไปอยู่พรรคใหม่ ที่มีสถานะเป็นพรรคการเมือง แม้ไม่มี ส.ส.ในสภา-ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งได้ ไร้ปัญหา เพราะเมื่อตอนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็ย้ายพรรคมาพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่เคยผ่านการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่ “ชัยธวัช” ชี้ชวนให้จับตาดู คือ การประชุมพรรคเพื่อขับ 21 ส.ส.นั้น เป็นการกระทำแบบ “นิติกรรมอำพราง” เพื่อให้มีการขับ ส.ส.ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

“ผมยังคุยกับทีมกฎหมายพรรคก้าวไกลว่า ในจำนวน 21 ราย มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 ราย ของพรรคพลังประชารัฐ ถูกขับออก แล้ว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพลังประชารัฐจะต้องเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนที่หรือไม่ เพราะพรรคพลังประชารัฐเสีย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยชี้ช่องให้ตรวจสอบว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค บวกกับสมาชิกพรรค ในวันที่ขับ 21 ส.ส. “ครบจำนวน” 3 ใน 4 ตามองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) หรือไม่

“เพราะตามหลักกฎหมายทั่วไป คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ไม่ควรจะมีส่วนร่วมในการลงมติ และการลงมติขับ ส.ส.ออกจากพรรค คนที่เป็นผู้ถูกขับก็จะไม่ลงมติขับตัวเอง ดังนั้นถ้าตัด 21 ส.ส.ออกไป อาจทำให้องค์ประชุมไม่ครบ 3 ใน 4 ได้”

กกต.แบะท่ารับรองถูกต้อง

แหล่งข่าวจาก กกต.ระบุว่า ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง กกต.ก็จะต้องตีกลับไปให้พรรคการเมืองทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือข้อบังคับพรรคการเมือง แต่จากการตรวจสอบโดยฝ่ายกฎหมายเบื้องต้นยังไม่มีอะไรผิดปกติ

ยังเหลืออีกหลายวันกว่าจะถึงเส้นตาย 30 วัน ส.ส.ที่ถูกขับออกมายังมีเวลาหายใจ ส่วนข้อสังเกตที่ว่าเป็น มติเถื่อน-นิติกรรมอำพรางนั้น เบื้องต้นดูแล้วไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แต่ต้องวินิจฉัยกันอีกครั้ง

“คนก็คิดของเขาเอง กฎหมายมันว่าอย่างไรก่อน เข้าใจ..บางทีสังคมกำลังจะใช้ความยุติธรรมตามธรรมชาติมาตัดสิน แต่กฎหมายบ้านเราเขียนโดยผู้มีอำนาจ เขาเขียนอย่างไร มันว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้นแหละ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นว่า หากมติคณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐมีข้อไม่สมบูรณ์ กกต.จะส่งเรื่องกลับมาให้พรรคแก้ไข การที่มติมีข้อไม่สมบูรณ์มี 3 ข้อ

1.องค์ประชุมครบตามจำนวนหรือไม่ 2.เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.กับกรรมการบริหารพรรคหรือไม่

3.ลงมติครบจำนวน 3 ใน 4 หรือไม่ ถ้าขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งจะเกิดความไม่สมบูรณ์ กกต.ก็จะให้กลับมาประชุมกันใหม่ แต่ไม่ถึงกับทำให้พรรคถูกยุบได้

การที่มีผู้ไปร้องว่ามติขับ 21 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐนั้น อาจเข้าข่ายการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มีสิทธิถึงยุบพรรคนั้น การกระทำจะโยงไปเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์เชียวหรือ ความจริงการบอยคอตการเลือกตั้งน่าจะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองมากกว่า ถ้าจะตีไปให้ถึงการยุบพรรคก็เพี้ยนแล้ว

“ถ้าจะให้ยุบพรรคต้องเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปบอก พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า ให้ไปขับ 21 คนออก ก็จะเข้าข่ายครอบงำพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และมีความผิดตามมาตรา 92”

จากกันด้วยดี?

ด้าน ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค “พรชัย อินทร์สุข” ส.ส.พิจิตร 1 ใน 18 ส.ส.พลังประชารัฐ ที่แสดงตัวสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย “ลอตแรก” กล่าวว่า “การย้ายจากบ้านหลังเก่าไปอยู่บ้านหลังใหม่เป็นเรื่องธรรมดา แค่แยกผู้ใหญ่ออกจากกัน ถือว่าเป็นการจากกันด้วยดี ยังร่วมงานกันอยู่ ในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยังโหวตกฎหมาย พ.ร.บ.ให้รัฐบาลอยู่”

ในช่วงสถานะ ส.ส.คาบลูกคาบดอก ระหว่างต้นสังกัดเก่า-พลังประชารัฐ กับบ้านหลังใหม่-พรรคเศรษฐกิจไทย “พรชัย” ยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ซีกฝ่ายรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ เพื่อรอดำเนินการด้านธุรกิจ-เปลี่ยนป้ายและจัดสถานที่ให้ใหม่

“เวลาโหวต ผมก็โหวตในนาม ส.ส. เพราะมีเลขประจำตัวของตัวเองอยู่ ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเศรษฐกิจไทย โหวตในนาม ส.ส.สภาผู้แทนราษฎร”

ในฐานะ ส.ส.สมัยแรก เขายอมรับว่า ตัวเขาเองและสภายังไม่เคยเจอ แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้อยู่ แต่ในอนาคต-เมื่อถึงเวลาที่เขาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเต็มตัว “อำนาจในการโหวต” จะคืนไปยัง “มติพรรค” ในการโหวตแต่ละครั้ง

ช่างเหลา ยังไม่ตัดสินใจ

ส่วนอีก 3 คน ที่ไม่อยู่ใน 18 คน ที่ทำหนังสือแจ้งต่อรัฐสภา …ได้แก่ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.นครราชสีมา นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา

วัฒนา-เอกราช ช่างเหลา แม้จะรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “ร.อ.ธรรมนัส” สมัยที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ และยังมีส่วนในการเปลี่ยนตัว เสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย ออกจากเลขาธิการพรรค ตั้งแต่การจัดสถานที่ประชุมพรรค-เกณฑ์โหวตเตอร์

วัฒนา-เอกราช แม้จะมีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่า สละเรือกลางแม่น้ำ-ไม่ไปต่อ สร้างบ้านในฝัน-เศรษฐกิจไทย แต่จะไปร่วมชายคาภูมิใจไทย บ้านหลังขนาดกลาง ไม่เล็ก-ไม่ใหญ่ แต่หรูหรา-พร้อมสรรพด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ไว้หยิบจับ-ใช้สอยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่เจ้าตัว-วัฒนากล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า อยู่ระหว่างพูดคุย ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปพรรคเศรษฐกิจไทย พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคอื่น ส่วนพรรคพลังประชารัฐกลับไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมีมติขับออกจากพรรคมาแล้ว

ส.ส.เบี้ยว รูดซิปปาก

ขณะที่ “ส.ส.เบี้ยว” สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ-1 ใน 21 กบฏ 19 มกราฯ “รูดซิปปาก” ไม่ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ว่าจะไปต่อพรรคเศรษฐกิจไทย-พรรคการเมืองอื่น หรือกลับหลังหัน 360 องศา กลับพรรคพลังประชารัฐ

“ส.ส.เบี้ยว” คือ เป็นคนแรก-คนเดียว ที่ขอให้พรรคพลังประชารัฐ “ทบทวนมติ” ขับออกจากพรรค โดยกล่าวอ้างเป็นลายลักษณ์อักษร-หนังสือถึงพรรค “ไม่มีส่วนรู้เห็น” กับ ร.อ.ธรรมนัสกับพวก 20 ส.ส.

21 ส.ส.กบฏพลังประชารัฐ มีคำตอบแล้วในใจแล้วว่าจะไปต่ออย่างไร