ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจอีวีทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี-หาแหล่งเงิน 4 หมื่นล้าน

รถยนต์ไฟฟ้า
Photo by Jack TAYLOR / AFP

ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจภาษี-ไม่ใช่ภาษี ส่งเสริมใช้รถยนต์อีวี สั่งสภาพัฒน์-สำนักงบฯ หาแหล่งเงิน 4 หมื่นล้าน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 เพี่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทอีกด้วย

“เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุน ทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษีโดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 2565-68 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2565-66) มาตรการสนับสนุนจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด”

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ของผู้ประกอบการในไทย

นายธนกรกล่าวว่า ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 2567-68) มาตรการสนับสนุนจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิต รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับ ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2565-68 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศ ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน การผลิตรถยนต์/ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 2567 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565-66 และหากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยถึงปี 2568 และการผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด

“การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยนายกรัฐมนตรีและ ครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์

ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถนำไปลดราคารถไฟฟ้าได้คันละเท่าไหร่ นายธนกรกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด เป็นเพียงการเห็นชอบในภาพรวม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ที่ขออนุมัติงบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นได้อนุมัติหรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า ถ้าจำไม่ผิด ได้อนุมัติไป แต่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้อนุมัติในปี 2566 จำนวน 40,000 กว่าล้านบาท โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ไปดูความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งว่าจะใช้ช่องทางใดเป็นแหล่งงบประมาณ

“ในภาพรวม ครม.เห็นชอบตามมติของบอร์ดอีวี แต่รายละเอียดบางประเด็นมีการหารือในที่ประชุม และมีบางส่วนที่ต้องไปดำเนินการใหม่และมีข้อแก้ไขบ้าง เพราะยังไม่ชัดเจน เช่น เรื่องจัดหาแหล่งงบประมาณ 40,000 ล้านบาท ในรายละเอียดของให้สอบถามนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน”

เมื่อถามว่า มาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีจะเริ่มได้เมื่อใด นายธนกรกล่าวว่า บางส่วนสามารถเริ่มได้เลย เพราะในหลักการ ครม.เห็นชอบอยู่แล้ว