รัฐจัดเต็มแพ็กเกจภาษี จูงใจซื้อ EV-ลดภาษีที่ดิน 90%

ของขวัญปีใหม่

คลังรับลูก “บิ๊กตู่” จัดเต็มแพ็กเกจ “ของขวัญปีใหม่” เทกระจาดมาตรการภาษี ขยายเวลาลดภาระภาษีที่ดิน 90% อีกปี กางสเต็ปปลุกมู้ดจับจ่ายหนุนการบริโภคไม่ให้สะดุด ทั้งช้อปดีมีคืน-จูงใจซื้อรถอีวี ลุ้นต่อมาตรการ “คนละครึ่ง เฟส 4” รมว.คลังดันเต็มที่มาตรการภาษีชุดใหญ่ ชงเข้า ครม. 21 ธ.ค.นี้ พร้อมเปิดลงทะเบียน “บัตรคนจน” รอบใหม่ต้นปี’65 ด้านท้องถิ่นโอดลดภาษีที่ดิน 90% กระทบรายได้ อ้อนรัฐจ่ายเงินอุดหนุนชดเชย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิมไปอีก 2 ปี ช่วงปี 2565-2566 จากนั้นปี 2567 กระทรวงการคลังจะพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ลำดับต่อไป

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอให้ขยายเวลาบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้เสียภาษี ด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระต้องจ่ายภาษีเพียง 10% ต่อไปอีก 1 ปีในปี 2565

ปี’65 ลดภาษีที่ดินต่ออีกปี

“สเต็ปต่อไปจะเสนอให้บรรเทาภาระภาษี ที่มีการลดภาระภาษีให้ 90% ต่อไปอีก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ที่จะให้กับประชาชน ตามที่นายกรัฐมนตรีให้พิจารณา”

สาเหตุที่ ครม.อนุมัติคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปอีก 2 ปี เนื่องจากต้องการให้ประชาชนสามารถปรับตัวและตระหนักกับภาระภาษีที่แท้จริงเต็มอัตราได้ก่อน โดยกรณีที่ดินที่ใช้เพื่อ 1.การประกอบเกษตรกรรม คงอัตราจัดเก็บไว้ที่ 0.01-0.1%

2.ที่อยู่อาศัย คงอัตราจัดเก็บไว้ที่ 0.02-0.1% ซึ่งจะแบ่งเป็นกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีจัดเก็บที่ 0.03-0.1% กรณีสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีจัดเก็บที่ 0.02-0.1%

ส่วนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นจัดเก็บที่อัตรา 0.02-0.1%

3.การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย คงอัตราจัดเก็บที่ 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ คงอัตราจัดเก็บไว้ที่ 0.3-0.7%

แพ็กเกจใหญ่ “ของขวัญปีใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้เร่งดำเนินการ โดยกำลังพิจารณาหลาย ๆ มาตรการ อาทิ ช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ช่วงต้นปี 2565 แทนมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ รวมถึงคนละครึ่ง เฟส 4 ที่กำลังพิจารณาว่าจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่

และที่หลายฝ่ายกำลังจับตากันอยู่ คือ มาตรการส่งเสริมการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะออกมาจูงใจให้คนไทยใช้รถอีวีกันมากขึ้น ซึ่งจะมีการให้ส่วนลดที่จูงใจ แต่จะเป็น 20% ของราคารถหรือไม่นั้น คงต้องให้ ครม.อนุมัติก่อน ซึ่งน่าจะเสนอหลังจากผ่านงานมอเตอร์เอ็กซ์โปไปแล้ว

มาชัวร์มาตรการจูงใจซื้อรถอีวี

“มาตรการจูงใจซื้อรถอีวีมีออกมาแน่ ๆ และจูงใจคนซื้อแน่นอน ล่าสุด บอร์ดอีวี ประชุมกันไปแล้ว ตอนนี้กำลังทำเรื่องเข้า ครม.กันอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการจูงใจจะออกมาพร้อม ๆ กับโครงสร้างภาษีรถอีวีใหม่ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติกำหนดให้เพิ่มรถกอล์ฟ (golf cart) รถบักกี้ (buggy) และรถ ATV ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 12 โวลต์ขึ้นไป

หรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานเชื้อเพลิงและรถยนต์ 3 ล้อที่มีลักษณะการขับขี่เช่นเดียวกับรจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในหมวดสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจากรถประเภทดังกล่าวด้วย

“เรื่องที่ผ่าน ครม.ไป คือ กำหนดให้เก็บภาษีบางสินค้าที่ไม่เคยเก็บมาก่อน อย่างรถกอล์ฟให้เก็บที่ 5% ส่วนรถอื่น ๆ เก็บที่ 10% เช่น รถบักกี้ รถ ATV ที่เป็นอีวี รถยนต์ 3 ล้อ ที่มีลักษณะการขับขี่เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์แบบพลังไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป

จะคิดภาษีตามมูลค่าที่ 5% แต่หากต่ำกว่า 48 โวลต์ ภาษีจะเป็น 0% เป็นต้น ส่วนสินค้าบางตัวเคยเก็บอยู่ ก็มีการลดอัตรา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียมกัน เช่น เดิมกระบะ 3 ล้อ ต้องเสียภาษีตามมูลค่าที่ 17% จะปรับเหลืออัตรา 4%” แหล่งข่าวกล่าว

ลดหย่อนภาษี ชง ครม. 21 ธ.ค.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการของขวัญปีใหม่ จะเสนอ ครม.วันที่ 21 ธ.ค.นี้ โดยมาตรการหลักจะช่วยเรื่องการบริโภคไม่ให้สะดุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ จะเน้นการลดหย่อนภาษีในหลาย ๆ เรื่อง จะนำมาดำเนินการแทนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งยอมรับว่ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

“ของขวัญปีใหม่เราจะช่วยการใช้จ่ายหลายโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ ที่อยากออกมาจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ไม่ค่อยได้รับความนิยม ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่าจะชื่อมาตรการอะไร แต่จะเป็นการลดหย่อนภาษี

ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 กำลังพิจารณาเช่นเดียวกัน จะดูอัตราการใช้จ่ายของประชาชนว่าปรับดีขึ้นมากน้อยอย่างไร ขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แต่รัฐบาลยังคงเข้มงวดในมาตรการสาธารณสุข เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้กิจกรรมในช่วงปลายปีสะดุด อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความรุนแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ต้นปี 2565 จะเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เป็นการทบทวนผู้ได้รับสิทธิ และเพื่อเป็นการดูแลประชาชนระดับฐานราก รวมทั้งจะมีความชัดเจนในนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วงต้นปี 2565 ด้วย

ปี’65 จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจฟื้น

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4% จากนั้นปี 2566 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเสริม ทำให้มีแรงฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ซึ่งวิกฤตโควิดครั้งนี้เศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากเป็นวิกฤตที่กระทบกับประชาชนฐานราก สังคมส่วนรวม รวมทั้งภาคธุรกิจ ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่

“เศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัว ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ 1.การส่งออก ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง 2.เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบ 1 ล้านล้านบาท มาจากเม็ดเงินจากงบประมาณลงทุนของภาครัฐ 6 แสนล้านบาท งบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท

และอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม ขณะนี้เหลืออยู่ 2 แสนล้านบาท 3.การลงทุนภาคเอกชน

และ 4.การบริโภคโดยรัฐจะเข้าไปสร้างความมั่นใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่าย” นายอาคมกล่าว

เร่งใช้สิทธิคนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประชาชนสามารถใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือใช้ e-Voucher ในโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิคนละครึ่งครบ 4,500 บาทแล้ว กว่า 5 ล้านคน จึงขอให้ประชาชนที่ยังมีสิทธิเหลืออยู่ให้รีบใช้จ่ายก่อนวันสิ้นสุดโครงการ

ข้อมูลใช้จ่าย ณ วันที่ 8 ธ.ค. 2564 โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.26 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิ 27.98 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 193,458 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 98,351 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 95,107 ล้านบาท

แยกเป็น การใช้จ่ายผ่านร้านอาหารและเครื่องดื่ม 76,751 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 31,149.3 ล้านบาท ร้านโอท็อป 9,260 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 72,766 ล้านบาท ร้านบริการ 3,318 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 212 ล้านบาท

ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสม 91,952 ราย ยอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชนรวม 3,760 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 353.8 ล้านบาท

ห่วงลดภาษีที่ดินกระทบท้องถิ่น

ด้านนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลัง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ให้คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิมต่ออีก 2 ปี ในปี 2565-2566 ว่า

การคงภาษีดังกล่าวไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของ อปท. แต่ที่มีผลกระทบคือการลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทในอัตราร้อยละ 90 ซึ่งรัฐบาลบังคับใช้มา 2 ปีติดต่อกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ครม.ยังไม่มีมติให้ลดในส่วนร้อยละ 90 จึงต้องยึดการจัดเก็บในอัตราที่ ครม.มีมติให้คงอัตราภาษีต่อไปถึงปี 2566 ทั้งนี้ ที่ผ่านมารายได้ของท้องถิ่นลดลงจากเดิม เพราะมีการลดภาษีร้อยละ 90

โดยรัฐจัดสรรเงินชดเชยให้ จากการจัดเก็บภาษีที่น้อยลง เพื่อช่วยเทศบาลตำบล กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ส่วนเทศบาลเมือง เทศบาลนคร อาจยังไม่ได้รับชดเชยในส่วนนี้ ยังรองบประมาณอยู่

“การจัดเก็บภาษีอยู่ที่ความสามารถ ประสิทธิภาพในการจัดเก็บด้วย ตอนนี้เป็นช่วงแรกของการใช้ระบบภาษีใหม่ แน่นอน การตรวจสอบอะไรต่าง ๆ ยังไม่ 100% แต่การจัดเก็บในปีที่ 2 ปีที่ 3 ทางท้องถิ่นจะจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น” นายประยูรกล่าว

ท้องถิ่นเก็บภาษีไม่เข้าเป้า

นายประยูรยอมรับว่า ปีที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น ตัวเลขโดยรวม ๆ ไม่เข้าเป้า เพราะมีเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เมื่อรัฐบาลในภาพรวมจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ท้องถิ่นก็เก็บรายได้ไม่เข้าเป้าด้วย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะคนใช้จ่ายน้อยก็กระทบต่อการเก็บภาษี

ส่วนปี 2565 ยังไม่มีตัวเลขที่คาดการณ์ได้ว่าจะเก็บภาษีได้เข้าเป้าหรือไม่ เพราะท้องถิ่นก็ประมาณการรายได้จากเงินอุดหนุนของรัฐส่วนหนึ่ง และจากการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น หากเป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญก็สามารถเก็บภาษีได้มาก

แต่ท้องถิ่นทั่วไปเป็นภาคชนบท การค้าขาย โรงแรมโรงงานไม่มี ทำให้รายได้มีไม่มาก จึงต้องอาศัยเงินอุดหนุนรัฐบาล เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

ต้องเคาะลดภาษีก่อน ก.พ. 65

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ถ้ารัฐบาลไม่ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ก็ไม่กระทบต่อรายได้ของ อปท. เพราะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าที่เคยจัดเก็บ ไม่มีปัญหา

อีกทั้งบาง อปท.ถ้าจัดเก็บในอัตราภาษีเดิม เมื่อมีการเจริญเติบโตของเมือง เช่น เทศบาลใหญ่ ๆ ทำให้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเยอะก็จะสามารถเก็บภาษีได้เยอะ

แต่หากรัฐบาลตัดสินใจลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% จะกระทบรายได้ท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ประมาณการภาษีท้องถิ่นที่จะเก็บได้ 3.5 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลลดภาษีเท่าไหร่ รายได้ก็จะลดไปเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจะลดภาษี จะต้องประกาศก่อนเดือน ก.พ. 2565 เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นจะแจ้งการประเมินการจัดเก็บภาษีในเดือน ก.พ. ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะลดภาษีที่ดินฯจริงก็ต้องตัดสินใจภายในเดือน ธ.ค. 2564 หรือ ม.ค. 2565