กมธ.ควบรวมทรู-ดีแทค เรียก 2 บริษัทชี้แจง ยังกังขาเหตุผลการรวมธุรกิจ

ทรู ดีแทค

ทรู-ดีแทค ยังตอบคำถามไม่เคลียร์ สาเหตุควบรวมกิจการที่แท้จริง-ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหรือไม่

วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่รัฐสภา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง true และ dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าที่ประชุมได้เชิญผู้บริหารของค่ายมือถือ ทั้งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท แอ๊ดวานซ์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้ามาชี้แจง

ทั้งนี้ ทาง กมธ.ได้สอบถามในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการควบรวมบริษัทจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคแบบไหน อย่างไร จะทำให้บริษัทที่เกิดขึ้นจากการควบรวม มีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจคมนาคมของประเทศหรือไม่ นอกจากนี้ ได้เชิญผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคือ บริษัทเอไอเอส มาให้ข้อมูลด้วย

ทั้งนี้ ยังมีคำถามหลายคำถามที่ กมธ.ยังไม่ได้รับคำตอบที่ครบถ้วน โดยขอให้ไปทำคำตอบมาอีกครั้ง เช่น เหตุผลสำคัญในการควบรวมธุรกิจทรู ดีแทค สาเหตุสำคัญคืออะไร เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจะมีการให้บริการบนเครือข่ายของผู้ประกอบการอย่างไรที่จะทำให้การบริการมีคุณภาพ และไม่กระทบกับผู้บริโภค

“ซึ่งทางบริษัทได้ชี้แจงว่า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะมีการใช้ดาต้าเป็นจำนวนมาก จึงต้องลดต้นทุนการบริการ เพื่อให้สามารถแข่งขันและอยู่ต่อไปในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ เป็นเหตุผลสำคัญหลัก ๆ ที่ทรูกับดีแทคชี้แจง” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ณ วันนี้ กมธ.ได้คำตอบจากทรูและดีแทคค่อนข้างเพียงพอแล้ว ในเรื่องการศึกษาผลกระทบ แต่ที่ กมธ.ยังรอคำตอบอยู่คือ คำตอบจาก กสทช. เพราะกระบวนการการควบรวมยังเพิ่งเริ่ม สิ่งที่ กมธ.อยากรู้คือ ในส่วนที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแล เมื่อมีการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท จะมีมาตรการใดๆสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่า เมื่อควบรวมแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคยังได้เครือข่ายที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของ กสทช. ต้องมาให้ข้อมูลกับ กมธ.

“เราให้ความสำคัญกับเรื่องค่าบริการ เพราะทุกวันนี้เรื่องโทรคมนาคม ไม่ใช่เรื่องโทรศัพท์โทรออก โทรสื่อสารกันแล้ว ทุกอย่างในชีวิตประจำวันรวมอยู่ในโทรศัพท์ ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ก็แล้วแต่ ที่ในอนาคตจะนำไปสู่การทำให้ประชาชนได้รับคุณภาพที่ดีขึ้นในค่าบริการที่เหมาะสมเป็นธรรม เราต้องการให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ซึ่งคนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งคุณภาพและราคาคือ กสทช. จึงเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะต้องไปกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือเครือข่ายที่ให้บริการอยู่ตอนนี้ต้องดีขึ้นรองรับบริการเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่าย ผู้บริโภคต้องจ่ายเป็นธรรมคืออำนาจหน้าที่ของ กสทช.” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว