#ม็อบชาวนา ปักหลัก โกนหัว-อดอาหาร หาก 3 ข้อเรียกร้องไม่เข้า ครม.

#ม็อบชาวนา ปักหลัก โกนหัว-อดอาหาร หาก 3 ข้อเรียกร้องไม่เข้า ครม.
ภาพจาก ข่าวสด

ม็อบชาวนา ประกาศโกนหัว-อดข้าว หากข้อเรียกร้องไม่ได้เข้า ครม. ในวันที่ 22 มีนาคม

วันที่ 20 มีนาคม 2565 มติชน รายงานว่า บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Thamboon888 อาสาประชาสัมพันธ์และเคลื่อนไหวช่วยเหลือม็อบชาวนา ได้ออกมาโพสต์ในทวิตเตอร์ขอความช่วยเหลือให้ดันแฮชแท็ก #ม็อบชาวนา เพื่อเป็นการกระจายข่าวให้กำลังใจม็อบชาวนา

และหากรัฐบาลที่รับปากไว้ไม่นำเรื่องเข้า ครม.ผู้ชุมนุมจะโกนหัวและอดอาหาร ซึ่งเรื่องที่สัญญาคือการนำเรื่องการเเก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตร กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยม็อบชาวนาได้ปักหลักชุมนุมมาถึง 56 วันแล้ว และโดนเลื่อนการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วถึง หลายครั้งจนผ่านมาถึงเกือบ 2 เดือน

“ทุกคนคะ เที่ยงนี้ถ้าหากไม่รบกวนมากเกินไป เราจะขอความช่วยเหลือให้ทุกคนมาช่วยกันดันแท็ก #ม็อบชาวนา ให้คุณตาคุณยายกันค่ะ เพื่อกระจายข่าวเชิญชวนคนมาร่วมให้กำลังใจคุณตาคุณยายในวันอังคารที่ 22 นี้ หากรัฐบาลที่รับปากไว้ไม่เอาเรื่องเข้าครม.คุณตาคุณยายจะโกนหัวและอดอาหารกันค่ะ” บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Thamboon888 ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ม็อบชาวนายื่น 31,629 รายชื่อ รวบรวมผ่านเว็บไซต์ change.org นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) เพื่อเร่งจี้เรื่องช่วยหนี้สินชาวนาเข้า ครม. โดยนายไชยยศระบุว่า เรื่องนี้จะเข้า ครม. คาดว่าเป็นวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งเป็นผลจากการเลื่อนประชุม เนื่องจากความล่าช้าทางกระบวนการข้อกฎหมาย เช่น การเจรจากับธนาคารที่ต้องประชุมทุกฝ่ายทั้งฝ่ายธนาคารของรัฐและธนาคารของเอกชน

โดยม็อบชาวนามีข้อเรียกร้อง คือ 1.ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาทขยายเป็น 5 ล้านบาทเสนอเข้าสู่เข้ามติ ครม.

2.ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.)

3.ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนที่ทำเกษตรกรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้