ผู้ว่าฯ กทม. ใครอยู่ขั้วไหน ข้างประยุทธ์-เคียงฝ่ายค้าน ตัดแต้มกันเอง

ผู้ว่า กทม.

31 มีนาคม 2565 วันนี้เป็นวันรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครวันแรก เหล่าผู้กล้าทยอยปรากฏตัว ประกาศตัวเป็นผู้สมัครเพิ่มขึ้นทุกวัน

แต่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นไฮไลต์-จุดสนใจของคนการเมือง-โหวตเตอร์ และสื่อสารมวลชน ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งวันแรก ขณะนี้มีอยู่ 7 คน

7 คน แบ่งเป็นผู้สมัครอิสระ 4 คน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สกลธี ภัททิยกุล, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, รสนา โตสิตระกูล และผู้สมัครที่สังกัดพรรคอีก 3 คน คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล, น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย

จาก 7 ผู้สมัครที่มีสปอตไลต์การเมืองสาดส่อง เป็นที่รู้จัก หรืออยู่ในพรรคที่เป็นพรรคหลักในการเมือง นำมาคลี่บนกระดาน มองเห็นเบื้องหน้า-เบื้องหลัง เป็น “แบบจำลอง” ของการเมืองภาพใหญ่ ที่มีการแบ่งขั้ว-แบ่งพรรคชัดเจน สุดท้ายแล้วการชิงชัยสนามเลือกตั้ง กทม.เที่ยวนี้ มีการตัดคะแนนกันขนานใหญ่

ขั้วรัฐบาล ชิงฐานประยุทธ์

ในจำนวน 7 ผู้สมัคร เป็นตัวแทนพรรคการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ชัดเจนแค่ 1 คน คือ ดร.เอ้ สุชัชวีร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากได้แรงสนับสนุนจาก “คีย์แมน” พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแฟนพันธุ์แท้-แม่ยกเป็นของตัวเอง

ทั้ง นายชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ยุครุ่งเรือง คือ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” คอยเป็นพี่เลี้ยง

นอกจากนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เตรียมประสานให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแฟนพันธุ์แท้ คะแนนนิยมส่วนตัวมาเรียกเรตติ้งให้

แม้ว่า “ดร.เอ้” ตัดสินใจลงสนามในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องการใช้ฐานการเมืองท้องถิ่นของพรรคประชาธิปัตย์ คือ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” ส.ก. ที่เตรียมเลือกตั้งไปพร้อมกันในวันที่ 22 พฤษภาคม ช่วยจูงลงพื้นที่เพื่อหาคะแนนกับชุมชนทั่ว กทม.

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ดร.เอ้” ต้องเผชิญหน้ากับ “ผู้สมัครอิสระ” อย่างน้อย 2 คน “พล.ต.อ.อัศวิน” และ “สกลธี” ที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน เป็นแรงหนุนจากกลุ่มเชียร์ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกัน

พล.ต.อ.อัศวินถือสโลแกน “กรุงเทพต้องไปต่อ” ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ตามมาตรา 44 ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยทิ้งร่องรอยความหวังที่จะกลับคืนเก้าอี้พ่อเมืองเอาไว้ เพราะหลังการประกาศอำลาตำแหน่งเพื่อมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ไม่มีข้าราชการ กทม.ตั้งแถวมาส่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประหนึ่งว่าเขาอาจกลับมา

ทีมเบื้องหลังของ “พล.ต.อ.อัศวิน” ก็ไม่ธรรมดา เพราะมีเงา-บารมีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เคยทำพื้นที่เตรียมลงสนามผู้ว่าฯ กทม. แต่ถอนตัวไปตั้งแต่ไก่โห่ ด้วยเงื่อนไขการเมือง มาช่วยอยู่เบื้องหลัง

งานนี้มี “พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อดีตนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ และเลขาธิการพรรคไทยภักดี และยังเป็นเพื่อนสนิทของ พล.ต.อ.จักรทิพย์

มาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ผสมผสานกับ “ถาวร เสนเนียม” อดีต รมช.คมนาคม นักวางแผนการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ ที่วันนี้เป็นศูนย์รวมใจของพรรคไทยภักดี มาเป็นที่ปรึกษา

ยังมีทีม “ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ซึ่งเป็นมือทำงานให้ “พล.ต.อ.อัศวิน” ลงพื้นที่อย่างแข็งขัน ว่ากันว่า แม้กระแสจะไม่เปรี้ยง แต่กระสุนการเมือง-ท่อน้ำเลี้ยง มีไม่อั้น ถึงขั้นทำให้ทีม ส.ก.พรรคเพื่อไทย หวั่นใจและจับตามอง

มาถึง “สกลธี” อดีตแกนนำ กปปส.และรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ชูสโลแกน “กรุงเทพดีกว่านี้ได้” ว่ากันว่าทีมงานแบ็กอัพ คือ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ กปปส. ที่มีขุมกำลังใน กทม. เช่น บี “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” และ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รวมถึง “มาดามอีฟ” ทยา ทีปสุวรรณ

เคยมุดรั้วทำเนียบรัฐบาล เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อม “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล เพื่อขอลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

ทั้ง ดร.เอ้ พล.ต.อ.อัศวินและสกลธี อยู่ในฟากเดียวกัน คือ ขั้วรัฐบาล ฐานเสียง-ฐานคะแนนกลุ่มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับ 2 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่งแค่ ส.ก. และ พล.อ.ประยุทธ์จะถือหางใคร โดยเฉพาะ พล.ต.อ.อัศวินและสกลธี แต่หนีไม่พ้นที่ทั้ง 3 คนจะชิงคะแนนกันเอง

ขั้วฝ่ายค้าน-ไม่เอาประยุทธ์

สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับขั้วอำนาจปัจจุบัน ทั้งชัชชาติ ตีตราเป็นผู้สมัครอิสระ แต่มีทีมพรรคเพื่อไทยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง-วิโรจน์ ผู้สมัครในนามพรรคก้าวไกล

โดยพรรคเพื่อไทยประกาศส่ง ส.ก. 50 เขต เป็น “กำลังหนุน” ให้ “ชัชชาติ” พร้อมด้วยปัจจัยพื้นฐานคือท่อน้ำเลี้ยง และสื่อโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่

ขณะที่พรรคก้าวไกล วิโรจน์แท็กทีมกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ที่มีฐานแฟนคลับส่วนตัวทั้งในโลกจริง-โลกเสมือนจริงในชุมชนออนไลน์ ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายพร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ ประกาศส่ง ส.ก.ทั้ง 50 เขต เป็นมือทำงาน ฝ่ายสนับสนุน

อาจกล่าวได้ว่า ในทางการเมือง 2 คน 2 พรรค เป็นพันธมิตรกัน แต่ในสนามรบรอบนี้ในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไม่มีฝ่ายใดออมมือให้กัน เพื่อไทยอาจมีภาษีดีกว่าตรงที่ฝังตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ในพื้นที่มานาน

ในฟากนี้ยังมี “ตัวตัดคะแนน” สำคัญ คือ “น.ต.ศิธา ทิวารี” ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย เป็นบุคคลเบื้องหลัง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทยมานานนับทศวรรษ ครั้งนี้อยู่เบื้องหน้า แม้ความหวังจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจมีไม่สูงนัก แต่สำหรับ ส.ก.ที่เป็นฐานการเมืองท้องถิ่น งานนี้ไทยสร้างไทยสู้แหลก

ว่ากันว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” ถึงขั้นโทร.ต่อสายหาประธานชุมชนทั่ว กทม. ขอคะแนนสนับสนุน ส.ก.ด้วยตนเอง

ส่วนผู้สมัครอิสระ คนสุดท้ายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่นโยบายไม่เป็นรองใคร คือ “รสนา” เจ้าของเก้าอี้ ส.ว.กทม.จากการเลือกตั้ง ตัดสินใจเดินหน้าลุยเดี่ยว สร้างสีสันให้กับการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้

นี่คือภาพสะท้อนการเมืองสองข้าง สองขั้วเอา-ไม่เอาประยุทธ์ ทุกฝ่ายตัดคะแนนกันเอง ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ ผู้ชนะอันดับ 1 อาจมีคะแนนไม่ถึงล้านเสียง