ป.ป.ช. ดองคดีอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์และพวก” ลุ้นขาดอายุความ

ป.ป.ช.ดองคดีอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์และพวก” ลุ้นขาดอายุความ

พรรคฝ่ายค้านรัวกลอง-ตีปี๊บเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปแบบลงมติ เป็นครั้งที่ 4 – ทิ้งทวนปีสุดท้ายก่อนสภาครบวาระ โก่งราคา-อัพค่าตัว แง้มไพ่เด็ด-หมัดน็อก ทุบรัฐมนตรีสลบกลางสภา

ท่ามกลางกระแสข่าวฮั้วทางการเมือง-รอสัญญาณจาก “ผู้มีบารมี-คนแดนไกล” ของทั้งสองขั้ว หวยจะออกที่รัฐมนตรีคนใด-พี่ใหญ่บ้านป่ารอยต่อจะถูกลากขึ้นเขียงหรือไม่

ทว่า การอภิปราย 3 ครั้งที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านฟันรัฐมนตรีดาบสอง-ดาบสาม เป็นชนักปักหลังรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในชั้นองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ เรื่องกลับถูกดอง-เงียบหายเข้ากลีบเมฆ

ประเดิมด้วยศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปี 2563 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย กรณีทุจริตโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคล (ไบโอเมทริกซ์) ว่า ปี 2559-2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีโครงการจัดซื้อเครื่องมือตรวจพิสูจน์บุคคล วงเงิน 1,735 ล้านบาท ซึ่งถูกโยงไปถึง “หลังบ้านตึกไทยฯ”

กรณีที่ “บ้านพักหลวง” หลังจากพล.อ.ประยุทธ์เกษียณอายุราชการแล้ว โดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ถือเป็นการทำความผิด เป็นการจงใจไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) คือการขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ

กรณี พล.อ.ประยุทธ์สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กรณีซื้อรถถังของประเทศยูเครน 7,000 ล้านบาท แบบรัฐต่อรัฐ (G to G) แต่พบว่ามี “นายหน้าคนไทย” ไปเป็นตัวแทนเจรจา แทนที่จะเป็นการซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐ

กรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี – นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กรณีช่วยเหลือ คดีของบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส นำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และสำแดงเท็จ

วันที่ 10 มีนาคม 2564 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทยยื่นคำร้อง ป.ป.ช. สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่สอง กรณีการทุจริตจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) 112,500 ล้านบาท มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท

สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหา ได้แก่ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ข้อกล่าวหาปฏิบัติ-ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ-กฎหมาย

2.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแล อคส. เอื้อประโยชน์แต่งตั้ง “คนสนิท” และ ผู้ช่วย ส.ส. โดยไม่มีคุณสมบัติ ขาดความรู้-ความสามารถตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นประธาน อคส.

3.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการในขณะนั้น กรณีแต่งตั้งนายธนพร สมศรี เข้าดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการไปจนถึงเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยมิชอบ

4.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีเครือญาติของนายศักดิ์สยามเข้าครอบครองที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ

5.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จ.สงขลา

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 จากผลพวงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ครั้งที่สาม” พรรคฝ่ายค้านยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การบริหาราชการผิดพลาด ล้มเหลว ทุจริตต่อหน้าที่เรื่องโควิด-19 เป็นประเด็นเกี่ยวกับการบริหารวัคซีนผิดพลาด การทุจริตในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค การผูกขาดวัคซีนแอสตราเซเนกา

2.การทุจริตการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 3.การใช้วัคซีนไร้คุณภาพฉีดให้ประชาชน และ 4.การทุจริตสต็อกยางพารา การเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริต

โดยมี 4 กลุ่มผู้ถูกร้อง ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลุ่มที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี กลุ่มที่ 3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กลุ่มที่ 4 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

ส่วนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ใช้เงิน 5 ล้านบาท ให้ ส.ส. ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องอยู่ในคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ. ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร

กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน-เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แจ้งข้อกล่าวหา-ชี้แจข้อกล่าวหาแต่ละคดีภายใน 2 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ปี หลังจากนี้ “คดีขาดอายุความ”