ครม.ไฟเขียวเอกสารผลลัพธ์โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ

ไตรศุลี ไตรสรณกุล
ภาพ : www.thaigov.go.th

ครม.ไฟเขียวร่างเอกสารผลลัพธ์ของเวทีทบทวนการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของเวทีทบทวนการโยกย้ายย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศและคำมั่นโดยสมัครใจของไทย ซึ่งจะเป็นเอกสารผลลัพธ์ในเวทีการประชุมของสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกฐานถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration : GCM)

ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ต้องมีการจัดเวทีทบทวนทุก ๆ 4 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าในการนำ GCM ไปปฏิบัติ ซึ่งเวทีการทบทวนครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 17-20 พ.ค. 2565 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาความคืบหน้าฯ นั้น จะเป็นการยืนยันความสำคัญของหลักการและวัตถุประสงค์ของข้อตกลง GCM และสะท้อนความคืบหน้า ความท้าทาย ช่องว่างและข้อเสนอแนะในการดำเนินการตามข้อตกลง อาทิ การต่อยอดการดำเนินการและแนวปฏิบัติที่ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและวัคซีน การเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

การเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบและปกติ การสร้างช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ความเปราะบางอื่น ๆ การดำเนินการในด้านต่าง ๆ

อาทิ ข้อมูลด้านสิทธิและพันธกรณีแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การยอมรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ทางกฎหมาย การยอมรับทักษะและวุฒิการศึกษา การลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับประเทศต้นทาง การบูรณาการการโยกย้ายถิ่นฐานในแผนพัฒนาระดับชาติและกรอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี และการสนับสนุนการเงินแก่ Migration Multi-Partner Trust Fund

สำหรับสาระสำคัญของร่างคำมั่นโดยสมัครใจของประเทศไทยเกี่ยวกับการดำเนินการตาม GCM ได้แก่ 1.ให้บุตรของผู้โยกย้ายถิ่นฐานทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดสูติบัตร 2.พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น 3.นำมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.ส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและขจัดการเลือกปฏิบัติและตีตราผู้โยกย้ายถิ่นฐาน