“สิริพรรณ” วิเคราะห์สมการเลือกตั้ง พรรคทหารสะดุดกติกา พท.-ปชป. ได้เปรียบ

สมมติฐานการเมืองจากนักการเมือง นักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบระบบการเมืองเพื่อต่อท่ออำนาจให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าระบบเลือกตั้ง กลไกที่เอื้อต่อการตั้งพรรคทหาร เก้าอี้ผู้นำประเทศที่อาจล็อกเอาไว้ให้กับใครบางคนในอนาคต

ประชาชาติฯ สัมภาษณ์ “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” นักรัฐศาสตร์ จากรั้วจามจุรี ที่สร้างผลงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายเล่ม ให้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในปี 2561 ว่า ภูมิทัศน์การเมืองไทยหากมีเลือกตั้งจะออกมาในรูปแบบใด

Q : หากมีการเลือกตั้งในภูมิทัศน์การเมืองจะเป็นอย่างไร

ถ้าเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่จะเกิดขึ้นคือระบอบเลือกตั้งถูกทำให้เจือจาง ไม่อาจเรียกได้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง electoral democracy เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยากให้การเลือกตั้งเป็นหน้าฉาก มีระบบการแข่งขันของพรรคการเมืองกึ่งเสรี เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรม แต่ระบอบการเมืองหลังจากนั้นจะเป็นระบบลูกผสมที่ชนชั้นนำยังเกาะกุมอำนาจ ในการตัดสินใจหรือการขับเคลื่อนประเทศเป็นหลัก

Q : ลูกผสมระหว่างสิ่งไหนกับสิ่งไหน

จะเป็นระบอบที่อยู่ในสภาวะกึ่งกลางของระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย ชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดเสรี เป็นตัวแปรหนึ่งของสภาวะที่เรียกว่า hybrid เกณฑ์ที่ใช้ในการวัด 1.รัฐบาลเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจเด็ดขาด เพราะมีทั้งกติกาที่กำกับ เช่น มาตรฐานจริยธรรม ยุทธศาสตร์ 20 ปี 2.มีอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครอบงำ

Q : เป็นระบอบการเมืองใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่

ประเทศไทยอยู่ในสภาวะแบบนี้ส่วนมากตั้งแต่ 80 ปีที่ผ่านมา และเกิดขึ้นมาโดยกระบวนการมากกว่า แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเพื่อให้ระบอบนี้เป็นสถาบันจริง ๆ รองรับระบอบนี้อย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งกับพรรคการเมืองมีอะไรที่ย้อนแย้ง และยากต่อการจัดการ ก็อาจจะไม่ง่ายตามที่ชนชั้นนำต้องการ

Q : กติกาข้อไหนที่ย้อนแย้ง

เรื่องพรรคการเมือง มีความพยายามอยากให้เป็นสถาบันสูง ลดความผูกขาดโดยชนชั้นนำ เช่น การกำหนดไพรมารี่โหวต นักการเมืองต้องสังกัดพรรค มี ส.ส.อิสระไม่ได้ กำหนดเพดานเงินบริจาคไม่ให้เกิน 10 ล้านบาท และพยายามจะลดอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย แต่เหมือนกับจุดอ่อนในตัวมันเอง พอไม่ให้ ส.ส.อิสระ สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ ตั้งพรรคมาแข่งกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทำไม่ได้ เพราะพรรคใหม่ไม่สามารถหาสมาชิกพรรคมาสังกัดพรรคใหม่ได้ ระเบียบต่าง ๆ ที่ผูกเอาไว้เป็นก้อนเนื้อที่ทำลายความพยายามของ คสช.ตั้งแต่แรก

ผลของมันจะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งขึ้น ในที่สุดแล้วกลายเป็นรั้วหนามที่จะมากั้นไม่ให้พรรคที่จะสนับสนุนพรรคทหารเกิดขึ้นได้ จะเห็นความพยายามให้รีเซตสมาชิกพรรค ใช้มาตรา 44 ยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง

Q : รั้วหนามที่ถูกเซตขึ้นไม่ใช่ทำลายเฉพาะพรรคปัจจุบัน แต่รวมถึงพรรคเฉพาะกิจหนุน คสช.ในอนาคตด้วย

รั้วหนามไปกีดกั้นพรรคการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรคที่จะสนับสนุน คสช. และวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดทอนหรือเจือจางอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยลง แต่ในทางปฏิบัติพอไปตั้งกฎเกณฑ์เยอะ ๆ พรรคใหม่เกิดขึ้นได้ยาก ทำให้ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย ได้เปรียบ

Q : แต่รัฐธรรมนูญถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเพิ่มอำนาจพรรคขนาดกลางให้สู้กับพรรคใหญ่

พรรคขนาดกลางมาสนับสนุนพรรคทหารอย่างเดียวมันไม่พอ พอไปรวมกับ ส.ว. 250 คน ก็ยังไม่ถึง 375 เสียง ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะได้เสียงเลือกตั้งรวมกัน 78 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นพรรคขนาดกลางพรรคเดียวไม่พอ จะต้องได้พรรคอื่นเข้ามาสนับสนุน เพื่อดึงเสียงดึงคะแนนจากเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์เดิมให้มากที่สุด เพื่อให้สองพรรคนี้รวมกันไม่ถึง 78 เปอร์เซ็นต์ พอมาสร้างกติกาแบบนี้

ใครจะออกมาจากพรรค ประเด็นที่เรียกร้องให้รีเซตพรรค หรือให้ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรค เพื่อที่จะดึง ส.ส.เก่า หรือสมาชิกพรรคเดิม ออกจากสองพรรคนั้น

Q : กับดักในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ทำให้พรรคการเมืองแพ้ฟาวล์

ตัวรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) มีหลุมพราง กับดักเยอะไปหมด หลุมที่ 1 คือ ตั้งแต่ไพรมารี่ ทำแล้วไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เช่น การประชุมสาขาพรรคไม่ครบ 100 คน หรือถ้าไม่ใช่ตัวแทนพรรคการเมืองมีไม่ครบ 50 คน หรือมีคนประท้วงขึ้นมาก็สามารถถูกตัดสิทธิ์ได้

หลุมที่ 2 คือ อำนาจ กกต.ให้ใบส้ม ซึ่งจะอยู่ทั้งปี ดังนั้นต่อให้ผู้สมัครคนหนึ่งได้รับเลือกตั้ง มีคนหนึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา มีคนประท้วงว่าไม่ทำไพรมารี่ก็ออกได้

หลุมที่ 3 คือ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ในตัวกฎหมายลูกบอกว่า ถ้าทำผิด พ.ร.ป. หรือกฎหมาย กรรมการบริหารพรรคก็มีสิทธิออกทั้งชุด

หลุมที่ 4 คือ นักการเมืองถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ก็จะฟาวล์ได้

หลุมที่ 5 คือ ในการเสนอนโยบายพรรคในการหาเสียงจะต้องระบุจำนวนเงิน ที่มา หลักการและเหตุผลของนโยบาย และจะต้องเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Q : กับดักต่าง ๆ จะทำให้พรรคที่ได้อันดับหนึ่งอาจไม่ใช่คนจัดตั้งรัฐบาล

มีโอกาสมากที่พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าคำนวณแต้มแล้ว คิดว่าพรรคอันดับหนึ่ง อันดับสอง (เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์) รวมกัน 78 เปอร์เซ็นต์ แต่เลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะลดลงมานิดหนึ่ง ไม่น่าจะต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นพรรคที่เหลือได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ถามว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะเอาเสียงไปรวมกับ ส.ว. 250 เสียงในการเลือกนายกฯ คนนอก พอไหม มันจะปริ่มมาก

เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์บวกกันได้ 78 เปอร์เซ็นต์ พรรคที่เหลือได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คือ 100 เสียง เมื่อบวกกับเสียง ส.ว. 250 เสียง เป็น 350 เสียง ก็ไม่พอที่จะโหวตเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 375 เสียงขึ้นไป ตัวเลขนี้น่าสนใจว่าเพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ จะได้เสียงเท่าไหร่ ดังนั้นจะตั้งรัฐบาลได้ ต้องดึงเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ พรรคใดพรรคหนึ่งมารวมกับ ส.ว.

เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นอันดับหนึ่ง และคิดว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ไปร่วมกับทหาร เว้นแต่รีเซตพรรคแล้ว พรรคเพื่อไทยแตก คำถามคือพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากจะไปร่วมกับทหารหรือเปล่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วม และพรรคเพื่อไทยไม่ร่วม แล้วพรรคอื่น ๆ จะมีคะแนนมากพอที่จะร่วมกับ ส.ว. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

Q : ถ้าพรรคอื่นรวมเสียงไม่จะเกิดอะไร

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทำให้พรรคเล็กจัดตั้งยาก ดังนั้นพรรคเล็กที่มีอยู่เดิมจะแข่งขันได้ยากมาก จะเหลือพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว ที่ได้เสียงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 ที่นั่ง ที่สามารถเสนอชื่อนายกฯในสภาได้ ขณะที่พรรคเล็กอื่น ๆ อาจมีเสียงไม่พอเพื่อส่งชื่อนายกฯของตัวเองลงแข่งในสภา

ดังนั้นแนวโน้มพรรคที่สามารถเสนอชื่อนายกฯได้มี 3 พรรค เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย 3 พรรค เสนอชื่อนายกฯ 3 คนมาแข่งกัน โอกาสที่คนจะได้เป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเสียงเกิน 375 เสียง จึงต้องได้คะแนนสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย พรรคเล็กอย่างเดียวไม่พอที่จะไปรวมกับ ส.ว.

Q : พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา รวมกันจะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่

แต่รวมกันแล้วจะได้ถึง 125 เสียงไหม พรรคพวกนี้ต้องรวมกันแล้วได้ 125 เสียง เพื่อรวมกับ ส.ว. 250 เสียง เพื่อให้ได้ 375 เสียง แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา 4 ครั้ง พรรคพวกนี้รวมกันได้เสียงไม่ถึง 125 เสียง ถามว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า คนจะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคเล็กเหรอ อะไรทำให้คนเปลี่ยนไปเลือกพรรคเล็กล่ะ… กลับไม่เห็นมี

Q : อะไรที่เชื่อว่าคนไม่เปลี่ยนใจไปลงคะแนนเพิ่มให้พรรคขนาดกลาง

ความขัดแย้งที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้เกิดสิ่งที่ในทางรัฐศาสตร์ เรียกว่า social cleavage ร่องแห่งความขัดแย้งแตกแยกในสังคม พรรคใหญ่สองพรรคได้จับจองกลุ่มของความขัดแย้งนี้ไว้แล้ว เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก็มีฐานของตัวเอง แต่พรรคเล็กอื่น ๆ ยังไม่ได้จับจองกลุ่มไหนเลย จะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน

Q : มีวิธีเพื่อปิดประตูสำหรับนายกฯคนนอกไหม

พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ โหวตเอานายกฯของพรรคใดพรรคหนึ่ง อาจไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม เป็นการกดดันที่เราอยากให้มี

Q : ถ้าเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ร่วมกันไม่เอานายกฯคนนอก เป็นอย่างไร

จะเป็นสภาวะของการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และมีความไม่แน่นอนสูง อาจเป็นสภาวะที่ 3 เดือนแล้วฟอร์มรัฐบาล เลือกนายกฯไม่ได้ เป็นสภาวะที่เสี่ยงมาก ๆ ที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริง คสช.อาจต้องการให้เกิดภาวะสุญญากาศ ว่า นี่ไง… ให้เลือกตั้งแล้ว ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลรักษาการ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่ต่อ เป็นอีก scenario ที่เป็นไปได้

Q : แต่ถ้านายกฯคนนอกเกิดขึ้นจริง การเมืองจะเป็นอย่างไร

แปลว่า นายกฯที่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคเล็ก จะมีเสียงสนับสนุนประมาณ 130 จาก 500 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมาโดยพลังภายในของ ส.ว. ถามว่าจะบริหารประเทศอย่างไร

Q : จะไม่เหมือนยุค พล.อ.เปรม ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีพรรคการเมืองสนับสนุน


ไม่เหมือนอย่างสิ้นเชิง เพราะเสียงสนับสนุน พล.อ.เปรม เป็นเสียงที่เกินครึ่งของสภา คือ จัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภา 5 พรรค 7 พรรค และแต่ละพรรคได้ reward ทางการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ครั้งนี้ถ้านายกฯมาจากพรรคเล็ก ไม่ใช่เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เสียงสนับสนุนก็ได้ไม่ถึงครึ่ง และครั้งนี้มีพรรคการเมืองชัดเจน เป็นระบบ 2 พรรคใหญ่มานาน ผ่านการเลือกตั้ง 4 ครั้ง เป็นรากที่ฝังไปแล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก นี่คือเงื่อนไขที่ต่างกัน