กรณ์บี้จุรินทร์ลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มทันที 4 บาท/ลิตร ชงออก พ.ร.ก.ลาภลอย

กรณ์บี้จุรินทร์ลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มทันที 4 บาท/ลิตร

กรณ์ บี้ จุรินทร์ ใช้อำนาจ รมว.พาณิชย์-ประธานกกร. คุม-ลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มทันที 4 บาทต่อลิตร ชง ประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ลาภลอย หั่นกำไรโรงกลั่น 3 เดือน รองรับวิกฤตพลังงาน

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า แถลงข่าวสำคัญ ต่อเนื่องเรื่องวิกฤตพลังงาน-ราคาน้ำมัน ภายใต้หัวข้อ “เราจะทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ถูกลงทันทีได้อย่างไร” – พรรคกล้าสู้ต่อ !! ให้คนไทยใช้น้ำมันถูกลงทันที 4 บาท/ลิตร ว่า

จากมาตรการที่ประกาศและจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.65) มี 2 ประเด็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้แก้ไข และเราจะเสนอแนวทางแก้ไขให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงทันที 4 บาท

นายกรณ์กล่าวว่า ก่อนอื่นปัญหา 2 ข้อที่ยังไม่มีการแก้ไข ข้อ 1 ประกาศไปแล้วจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลง และข้อ 2 เงิน 8,000 ล้านบาทที่โรงกลั่น 6 โรงจะอุดหนุนให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเพียงข้อตกลงปากเปล่า ราคาหน้าปั๊มยังไม่ได้ปรับลดลง แต่น้ำมันเกือบทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ยิงตรงไปที่ปัญหาของประชาชน

บี้ จุรินทร์ ใช้อำนาจ กกร.แทรกแซง

นายกรณ์กล่าวว่า วิธีแก้และอำนาจในการแก้อยู่ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏร์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.พาณิชย์ โดยอาศัยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 โดยมีรมว.พาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยตรงในการเข้าไปดูว่าการค้ากำไรในสินค้าที่มีผลต่อประชาชน หลักการค้าเสรีสำคัญที่เราต้องยึดไว้ เพราะเป็นแนวทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด

แต่ในยามวิกฤตที่ประชาชนเดือดร้อน หลักสากล โลกของการค้าเสรี ในบางครั้งบางกรณีมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนและไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีการทำกำไรมากเกินไปในช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจไม่ดี จังหวะที่ประชาชนเดือดร้อน

นายกรณ์กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มอบอำนาจให้กับรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 24 หมวด 3 ว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ระบุว่า เพื่อป้องกันราคาซื้อ ราคาจำหน่าย หรือ การกำหนดเงื่อนไข หรือ วิธิปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม กกร. ด้วยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจกำหนดให้สินค้าหรือบริการใดเป็นสินค้าและบริการควบคุมได้

ถ้าสินค้าประเภทไหนมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและมีแนวโน้มโอกาสกำหนดราคาซื้อราคาจำหน่ายหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ทำให้ราคาสูงขึ้นเกินควร กกร.มีสิทธิ์จะเอาสินค้าประเภทนั้นบรรจุไว้เป็นสินค้าควบคุมได้

นายกรณ์กล่าวว่า ขณะที่มาตรา 25 (2) ระบุต่อไปว่า กกร.มีอำนาจกำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าหรือบริการควบคุมที่ผู้จำหน่ายจะได้รับจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อกำหนดแล้วว่า สินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม อำนาจของ กกร.สามารถกำหนดอัตรากำไรสูงสุดในการค้าขายสินค้าตัวนั้นได้

“เราพบว่ารายการที่ 12 และรายการที่ 13 ในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว ลงนามประกาศ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คำถามคือ

เมื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุมแล้ว มาตรการที่จะออกมาควบคุมตามมาตรา 25 อยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการเข้าไปกำหนดค่าการกลั่นของโรงกลั่น ทำให้ราคาหน้าปั๊มไม่ลดลง รู้ทั้งรู้ ตอนนี้ทุกฝ่ายยอมรับและไม่มีประเด็นถกเถียงกันแล้วว่า ค่าการกลั่นสูงเกินควร แต่ทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงไม่ใช้อำนาจที่มีในการกำกับค่าการกลั่นที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน”

แจงตัวเลขลดทันที 4 บาทต่อลิตร

นายกรณ์กล่าวว่า เครื่องมือเรามี อำนาจเรามี และตอนนี้เป็นหน้าที่ที่กฎหมายที่ได้ตราไว้แล้ว มีมาตรฐานสากล มีเหตุผลชัดเจนว่า ทำไมต้องควบคุม กกร.เองก็มองว่า น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าที่กกร.ต้องใช้อำนาจเข้าไปควบคุม ที่เหลือ คือ มาตรการ นโยบาย ต้องฝากไปถึงรมว.พาณิชย์รีบกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ เพราะประชาชนรออยู่ ถ้านายจุรินทร์ใช้อำนาจที่มีตอนนี้ ภายในอาทิตย์นี้ราคาหน้าปั๊มจะสามารถปรับลดลง 4 บาทต่อลิตรได้จริง ๆ

“ตัวเลข 4 บาทต่อลิตรมาจากค่าการกลั่น ตัวเลขจากกระทรวงพลังงาน ปี 63 ค่าการกลั่นเฉลี่ย 70 สตางต์ต่อลิตร ปี 64 อยู่ที่ 89 สตางค์ต่อลิตร มีกำไรขึ้นมาแล้ว มาดูปี 65 ม.ค.65 ค่าการกลั่นขึ้นมาเป็น 1.35 บาทต่อลิตร ตอนนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นจากโควิด ก.พ.65 ขึ้นมาเป็น 1.58 บาทต่อลิตร มี.ค.65 ขึ้นอีก เป็น 2.80 บาทต่อลิตร

จะเห็นว่าค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยที่ ก.พ.65 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น สงครามยูเครน เป็นตัวกระตุกทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น เป็นตัวกระตุกให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่นสูงขึ้น และเป็นเหตุให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

นายกรณ์กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.65) ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก เฉลี่ย 1.91 บาทต่อลิตร มีผลให้ตัวเลขกำไรโดยรวมของโรงกลั่น 6 โรงในประเทศไทยอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท เป็นอัตราที่สูงมาก ในกลุ่มนักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ทั้งปีโรงกลั่นไทยจะมีกำไร 68,000 – 69,000 ล้านบาท

ค่าการกลั่นตอนนี้เป็นอย่างไร ระหว่างทางจนถึงเดือนมิ.ย.65 ค่าการกลั่นก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ บางวัน เราเข้าไปคำนวณ วันที่แถลงข่าวครั้งแรก 10 มิ.ย. ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นไปถึง 8 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยใกล้ ๆ 6 บาทต่อลิตรเมื่อถึงสิ้นมิ.ย.

“4 บาทต่อลิตรที่จะสามารถลดได้ทันทีที่พูดถึง คือ เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่สูงเพราะค่าการกลั่นปรับขึ้นมาเฉลี่ย 5 บาทเกือบ 6 บาทต่อลิตร และสมมุติเราไปหักลบกับค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับปกติก่อนสงครามที่ 1.58 บาทต่อลิตร หรือ ค่าเฉลี่ย 3 เดือน 1.91 บาทต่อลิตรก็ได้ ที่ทำให้โรงกลั่นกำไรได้ถึง 28,000 ล้านบาท ราคาน้ำมันจะลดลงทันที 4 บาทต่อลิตร”

ชง ออกพ.ร.ก.ลาภลอย

นายกรณ์กล่าวว่า ปัญหาข้อที่ 2 เงิน 8,000 ล้านบาทต่อเดือน 3 เดือน ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ไปเจรจากับโรงกลั่นมาเป็นเพียงแต่ข้อตกลงปากเปล่า มีปัญหา อันดับแรก ไม่ผูกพันทางกฎหมาย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า โรงกลั่น 6 โรงจะปฏิบัติตามข้อตกลงในอนาคต

ตนไม่ได้บอกว่าโรงกลั่นจะเบี้ยว ข้อดีของการออกมาเป็นกฎหมาย เวลาออกกฎหมายจะมีการชี้แจงหลักการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการเก็บภาษีลาภลอยชนิดหนึ่ง 8,000 ล้านบาทต่อเดือน จะมีการพูดถึงวิธีการคิด ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือนมาอย่างไร น้อยไปหรือเปล่า หรือมากเกินไปไม่แฟร์กับโรงกลั่น เพราะไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ส.ส.ในสภาไม่มีโอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็น

เป็นเพียงสัญญาลอย ๆ สัญญาปากเปล่า เพื่อความโปร่งใส เพื่อความชัดเจนและเพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้แน่นอน ควรออกมาในรูปของกฎหมาย

นายกรณ์กล่าวว่า ไม่ตอบโจทย์หากปัญหายืดเยื้อเกิน 3 เดือน ขาดแนวทางและทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งการบริหารเศรษฐกิจควรที่จะมีความชัดเจนมากกว่านี้ ถ้าออกมาในรูปของกฎหมายสามารถครอบคลุมได้ในเวลาที่เหมาะสม และแนวทางกำหนดไว้ในกฎหมายได้ถ้ายืดเยื้อจะทำอย่างไรต่อไป การแก้ปัญหาแบบปากเปล่าขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่ดี ขาดความโปร่งใส กติกาสำคัญ มีรูปธรรมของกฎหมายชัดเจน เพื่อความเข้าใจตรงกันทุกภาคส่วน

“พรรคกล้าเสนอเพื่อการแก้ปัญหานี้จะต้องออกกฎหมายมาในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ออกได้เลย โดยอำนาจของรัฐบาล ภายใน 30 วัน คือ เอาเข้าสภาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ถ้าทำเช่นนั้นก็ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดสัญญา และมีความชัดเจนหลักที่มาที่ไปของกฎหมายเป็นอย่างไร และถ้าปัญหายืดเยื้อเกิน 3 เดือนจะได้รับการแก้ไขอย่างไร และที่สำคัญที่สุด หลักธรรมาภิบาล บ้านเมืองบริหารต้องมีขื่อมีแป”