กรณ์ จาติกวณิช : ข้อเสนอฉุกเฉิน รับมือน้ำมันแพง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยพุ่ง

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช
สัมภาษณ์พิเศษ

พรรคกล้าปรากฏตัวทางการเมืองมากว่า 2 ปี

แต่ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า จรยุทธ์ในวงการธุรกิจ-การเมืองมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ 5 ปีกว่า ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุมกลไกเศรษฐกิจ 3 ปี

กรณ์อ่านปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งโควิด สงคราม เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยทะยานขึ้นทุบสถิติในรอบ 3 ทศวรรษ

บรรทัดต่อไปนี้เป็นคำแนะนำ-คำพยากรณ์-ข้อพิพากษ์ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจ-การเงิน และการคลังของประเทศ ในวันที่รัฐบาลเรียกประชุมฉุกเฉินทีมเศรษฐกิจ

กนง.ต้องประชุมฉุกเฉิน

กรณ์ จาติกวณิช เสนอว่าหลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นสาเหตุให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมามีผลต่อเงินเฟ้อของไทยโดยตรง ราคาน้ำมันก็แพงขึ้น ดังนั้น แบงก์ชาติโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่เคยมีมติไม่ปรับดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน แต่ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณว่าเดี๋ยวคงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยแน่นอน

“คำถามคือ ถ้าสมมุติธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงแบบนี้ เราต้องเรียกประชุมฉุกเฉินไหม หรือต้องรอให้ถึงเดือนสิงหาคมที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมอีกรอบหนึ่ง อีกนานนะ ระหว่างนั้นถ้าอัตราดอกเบี้ยถ่างออกไป เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออกจากต่างประเทศมากเกินไปหรือเปล่า”

ทางแก้ระยะสั้น กรณ์เสนอว่าอันดับแรกต้องแก้เงินเฟ้อก่อน เพราะมีผลกระทบกับคนยากคนจน ถ้าไม่แก้เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านราคา เศรษฐกิจโตยาก

ถ้าไตรมาส 3 แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย

กรณ์บอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เนื่องจากสัดส่วนหนี้ในส่วนภาคเอกชนไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก บัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เป็นประเด็นวิกฤต แน่นอนที่สุดภาระหนี้ของรัฐบาลเองเพิ่มขึ้นเยอะ

“ต้องดูว่ารัฐจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้กับผู้ประกอบการในแง่ของการลดภาระค่าใช้จ่ายให้อย่างไรได้บ้าง เพื่อชดเชยภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น รวมถึงภาคประชาชน SMEs จะหนักมาก ต้องช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงตลาด”

รัฐต้องไม่คิดที่จะเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพราะตอนนี้เงินมีเท่าไหร่ต้องเก็บไว้ในมือของประชาชนและเอกชนให้ได้มากที่สุด และรัฐต้องรัดเข็มขัดด้วยซ้ำไป ต้องเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ “ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ โครงการใดที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาอย่าเร่ง เงินส่วนนี้เอามาใช้ช่วยประชาชนดีกว่า มันมีวิธีการ เช่น เรื่องพลังงาน โครงการหลายโครงการยังไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ และกำลังเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว โครงการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีไม่ควรมี”

ส่วนเงินกู้ใน พ.ร.ก.เหลืออยู่ 7 หมื่นล้าน เอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ในการเยียวยาประชาชน

แนวทางบริหารเศรษฐกิจระยะสั้น

อดีต รมว.คลังเห็นว่าสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การบริหารความเสี่ยงทุกระดับ และระดับครัวเรือนอย่ากู้หนี้ยืมสินมาก ลดค่าใช้จ่าย นักลงทุนต้องคิดระยะยาว กลุ่มที่ลงทุนหุ้น คริปโต ก็ต้องเข้าใจว่ามันผันผวนควรถือยาวไว้

ระดับไมโครการบริหารจัดการงบประมาณต้องเข้มงวด ถึงเวลาต้องทบทวน พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เงินที่เหลือประมาณ 7 หมื่นล้าน ควรจะใช้ทำอะไร เช่น เอาไปใช้เงินกองทุนน้ำมันฯดีกว่าเอาไปใช้ในโครงการลงทุนในจังหวัดต่าง ๆ และไม่ควรไปกู้เพิ่ม

“ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ ตอนนี้การเมืองนำเศรษฐกิจไม่ได้ ประเทศจะเจริญ เศรษฐกิจต้องนำการเมือง เศรษฐกิจต้องมาก่อน แต่วันนี้ชัดเจน ทุกการตัดสินใจ การเมืองนำ เช่น การชดเชยน้ำมัน การจัดสรรงบประมาณ ถูกกำหนดด้วยการเมืองมันยากที่จะให้เรามีนโยบายเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในระยะยาว”

“ตอนนี้เรามีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ รายได้เข้าประเทศน้อยกว่ารายจ่าย คำถามคือ จะทำอย่างไรให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย เราสอบตกเรื่องการสร้างรายได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด หารายได้เข้าประเทศเพิ่ม”

ข้อเสนอของพรรคกล้า คือ เรนโบว์อีโคโนมี มิติหลักคือ สิทธิเท่าเทียม แก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 108 เพื่อนำไปสู่การสมรสเท่าเทียม

“ผลดีของการสมรสเท่าเทียมในมิติทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อของ LGBT สูงมากประมาณ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าสมมุติเราช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้ 1 ใน 10 ของตลาดท่องเที่ยวของ LGBT ทั่วโลก เป็นเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เป็นรายได้ของประเทศมหาศาล รวมถึงการทำกาสิโนถูกกฎหมาย ผ่านการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ โดยนำร่องทำเป็น sandbox”

คลี่คลายปัญหาราคาน้ำมัน

“กรณ์” เป็นนักการการเมืองคนแรก ที่ออกมาส่งสัญญาณ เรื่อง “ค่าการกลั่น” และเสนอว่าให้แทรกแซงพร้อม กระทุ้งรัฐบาลด้วยการชี้ให้เห็นว่า “ค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันฟาดกำไรมหาศาลที่ชาวบ้านเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพง และการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบเฉียดแสนล้าน

“รัฐบาลก็ต้องไปขันนอตตรงนี้ เพราะทุกบาทเป็นผลต่อภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งก็คือผลกระทบต่อประชาชนไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ รัฐบาลบอกว่าการดึงกำไรโรงกลั่นบางส่วนมาช่วยเหลือกองทุนน้ำมันฯจะสวนทางการค้าเสรี ถามว่าแล้วคุณใช้หลักอะไรที่จะไปกำหนดราคาไข่ไก่ คุณใช้หลักการอะไรในการกำหนดราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”

ข้อเสนอคือ รัฐบาลควรมีความชอบธรรมในการแทรกแซงราคาสินค้าในกรณีจำเป็น คุณแทรกแซงอยู่แล้วทุกวันกับสินค้าประเภทอื่น ๆ แล้วน้ำมันสำคัญไหมกับประชาชน ถ้าคิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายของประชาชนน่าจะสูงที่สุดตัวหนึ่ง ในเชิงหลักการมีความชอบธรรมในระบบการค้าเสรีอยู่แล้ว

“อยู่ที่ความตั้งใจก่อน ถ้าไม่สำคัญพอก็ไม่ต้องไปแทรกแซง แต่ถามว่าตอนนี้มีอะไรที่สำคัญมากกว่าเรื่องนี้ ถ้ามองว่าสำคัญและตามหลักการก็มีสิทธิที่จะทำได้ ก็ไปดูที่วิธีการว่าจะทำอย่างไร แล้วดูว่าถ้าแทรกแซงคำนวณการแทรกแซงให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างไร”

“กรณ์” ยกตัวอย่างว่า “ในปี 2563 โรงกลั่นขาดทุน, ปี 2564 กำไรและกำไรเยอะด้วย เพราะฉะนั้น แสดงว่าค่าการกลั่นที่ 80 สตางค์มันทำให้เขายังมีกำไรได้ มันไม่ได้หมายความว่าเราจะกำหนดเพดานไว้ที่ 80 สตางค์ อาจจะเป็น 1 บาท 2 บาท แต่ผมมั่นใจว่าไม่ใช่ 8 บาท”

ฝากถึงสุพัฒนพงษ์ รมว.พลังงาน

“คุณเป็นรัฐบาล คุณไม่คิดที่จะใช้อำนาจควบคุมเลยเหรอว่า (โรงกลั่น) เขาจะสามารถส่งออกได้เท่าไหร่ ต้องขายในประเทศเท่าไหร่ โควตาการส่งออกมีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แล้วอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันก็มีโควตาการส่งออก”

“เราเป็นประเทศโชคดีที่มีกำลังการกลั่นสูงกว่าความต้องการของประเทศ สมมุติถ้าเราไม่มีโรงกลั่นเลยจะถูกบังคับทันที เราต้องไปซื้อสิงคโปร์ราคานี้เลย ไม่มีข้อถกเถียง แต่เรามีโรงกลั่นในประเทศ 6 โรง มีกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน แถมการกลั่นส่วนใหญ่มาจากโรงกลั่นเป็นของบริษัท ปตท.อีกต่างหาก”

การดุล-แนวทางการบริหารปัญหาระหว่างหั่นกำไรโรงกลั่นกับหาเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันฯ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน “กรณ์” ตอบทันทีว่า “รัฐบาลก็จะใช้วิธีการเดิม ๆ คือการบริหารกองทุนน้ำมันฯด้วยการกู้”

แต่ถ้าเป็น “กรณ์” เขาจะ “ต้องหาพลังงานทดแทนในระยะยาว เราเป็นประเทศที่พึ่งพาการใช้ฟอสซิลมากที่สุดในโลกเทียบกับจีดีพีของประเทศ พูดง่าย ๆ คือ การใช้น้ำมันเทียบกับมูลค่าพลังงานที่เราใช้ มูลค่าน้ำมันที่เราใช้เทียบกับจีดีพีของประเทศเป็นเปอร์เซ็นต์ เราติดอันดับท็อป ๆ หรือพึ่งพาฟอสซิลมากกว่าประเทศอื่น”

“ในขณะที่แผน PDP (Power Development Plan) ของรัฐบาลยังไม่เคยจริงจังกับเรื่องนี้ เช่น พลังงานชีวมวล ไม่มีความคืบหน้า ไม่เอาจริง เรื่องแบบนี้หนีไม่ได้ บางประเทศต้องปัดฝุ่นเรื่องนิวเคลียร์ใหม่ เพราะมีความรู้สึกว่าบวกลบกันแล้วความมั่นคงทางพลังงานไม่ตอบโจทย์ ถ้าเราพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างเดียว”

กรณ์ นัดแถลงข่าวสำคัญเรื่องวิกฤตพลังงาน – ราคาน้ำมันอีกครั้ง พร้อมข้อเสนอ ในหัวข้อ ‘เราจะทำให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ถูกลงทันทีได้อย่างไร!?’ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2565