กรณ์ชง 3 ทางออกแก้วิกฤตพลังงาน แทรกแซงค่าการกลั่น-เก็บภาษีลาภลอย

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช (แฟ้มภาพ)

กรณ์ หัวหน้าพรรคกล้า ชง 3 ทางออก แก้วิกฤตพลังงาน แทรกแซงกำหนดเพดานค่าการกลั่น-ล่า 1 หมื่นชื่อ ออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอยปิโตรเลียม ฝากบอก สุพัฒนพงษ์ ไม่ใช่เวลามาเกรงใจเพื่อน ๆ

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า แถลงข่าวกรณีวิกฤตพลังงานและราคาน้ำมัน ว่าภายใต้หัวข้อ “คนไทยโดนปล้น ! ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ว่าคนไทยที่เดือดร้อนอยู่แล้วในทางเศรษฐกิจปากท้องในวันนี้ กำลังถูกปล้นอย่างไร ที่สำคัญมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ปัญหาที่จะพูดถึงเป็นเรื่องใหญ่มากและมีผลกระทบต่อเรื่องปากท้องพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด คือ ราคาน้ำมัน

สิ้นเดือน หนี้กองทุนน้ำมัน ทะลุ แสนล้าน

นายกรณ์กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาจจะอธิบายได้ว่า เป็นเพราะปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และรัฐบาลได้ชดเชยราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ทำให้ภาระต้นทุนราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน จากการชดเชยโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและแก๊ซแอลพีจี และการปรับลดภาษีสรรพสามิต

“ประเด็นปัญหาของมาตรการนี้ คือ ไปสร้างหนี้กองทุนน้ำมันฯ วันนี้ภาระหนี้วันนี้แบกอุ้มต่อไปไม่ไหวแล้ว ณ สิ้นเดือน กองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ระดับ 8.6 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดในประวัติการณ์ หรือมีหนี้สิ้นเพิ่มเดือนละ 2 หมื่นล้านบาททุกเดือน และภายในสิ้นเดือนนี้ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย หนี้จะเพิ่มทะลุ 1 แสนล้านบาทแน่นอน” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ปัญหา คือ กองทุนน้ำมันฯ ไม่มีสถานะที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ต้องวิ่งกู้เงินจากสถาบันการเงินทั่วไป แล้ววันนี้สัญญาณชัดเจนว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดให้แก่กองทุนน้ำมันฯอีกแล้ว พูดอย่างง่าย วันนี้กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก คำถามคือการชดเชยราคาน้ำมันหน้าปั๊มให้ถูกลงจะดำเนินต่อไปอย่างถ้ากองทุนน้ำมันฯไม่สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้

ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า ภายใน 3 ปี

นายกรณ์กล่าวว่า ประเด็นที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าถูกปล้น คือ เรื่องของค่าการกลั่น ประเทศไทยมีโรงกลั่น 6 โรง ส่วนใหญ่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กระบวนการคือ ซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เข้าสู่กระบวนการการกลั่น และขายน้ำมันที่กลั่นแล้ว บางส่วนขายในประเทศ บางส่วนส่งออกต่างประเทศ ปล้นอย่างไร พรรคกล้ามีข้อมูลเปรียบเทียบค่าการกลั่น เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 63 เทียบกับเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 64 เทียบกับเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 65 ข้อเท็จจริง ดังนี้

– ปี 63 ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงจากราคาน้ำมันดูไบ อยู่ที่ 8.10 บาทต่อลิตร เป็นต้นทุนของโรงกลั่นที่ต้องซื้อน้ำมันดิบเข้ามา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการกลั่น เฉลี่ยออกมาเป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูป 8.98 บาทต่อลิตร หักลบกันกลายเป็น ค่าการกลั่น 0.88 บาทต่อลิตร

– ปี 64 ราคาน้ำมันดินเพิ่มขึ้นจาก 8.10 บาทต่อลิตร เป็น 14.01 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 14.88 บาทต่อลิตร แต่ส่วนต่าง หรือค่าการกลั่นใกล้เคียงเท่าเดิม คือ 0.87 บาทต่อลิตร

– ปี 65 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจาก 14.01 บาทต่อลิตร เกือบเท่าตัว เป็น 25.92 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูป 34.48 บาทต่อลิตร เท่ากับค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นมาเป็น 8.56 บาทต่อลิตร

“เท่ากับว่าค่าการกลั่น เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นไม่ได้เปลี่ยนเลย วัตถุดิบสูงขึ้น ราคาขายก็สูงขึ้น แต่ส่วนต่างส่วนกำไรของเหล่าโรงกลั่นของไทยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ คือ ภาระของประชาชน ภาระการชดเชย ของกองทุนน้ำมันฯ ที่ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องติดลบเป็นหนี้มากถึงขนาดนี้ และไม่มีคำอธิบาย ว่าทำไมรัฐบาลถึงปล่อยให้มีการฟันกำไรในระดับที่สูงมากอย่างนี้ในช่วงที่ประชาชนและประเทศชาติเดือดร้อนอยู่” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงโรงกลั่นเป็นของใคร มีทั้งเป็นของเอกชน คือ ต่างชาติ และของคนไทย ซึ่งของคนไทยก็คือ ของบริษัท ปตท. ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ 70% ของกำลังการกลั่น 70% ของกำลังการผลิตน้ำมันกลั่น อยู่ในมือของบริษัทในเครือ ปตท. ขอตั้งคำถามว่า รัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงในประเด็นนี้เพื่อให้มีการค้ากำไรในระดับที่มีความเป็นธรรมได้ ไม่ใช่ว่ารัฐไม่ทำเรื่องแบบนี้ เรื่องของค่าการตลาด เป็นอีกหนึ่งต้นทุนในการกำหนดราคาหน้าปั๊ม ในกรณีนี้บริษัท ปตท.ยังแทรกแซงโดยตรง ทำไมค่าการกลั่นถึงได้ปล่อยให้มีการปรับฐานกำไรขึ้นมาถึง 10 เท่า ในช่วงที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอยู่

ชง 3 ข้อ ทางออกวิกฤตพลังงาน

นายกรณ์กล่าวว่า พรรคกล้ามีข้อเสนอ 3 ข้อ ข้อแรก ควรที่จะมีการกำหนดเพดานค่ากลั่น โดยเฉพาะโรงกลั่นที่เป็นของบริษัท ปตท. ในฐานะที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ กำหนดเพดานที่เหมาะสม กำไรควรจะเป็นเท่าไหร่ และเพื่อความยุติธรรมก็ควรกำหนดพื้นด้วย เพื่อไม่ให้ขาดทุน ซึ่งการกำหนดเพดานจะเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้ทำกำไรเกินควร เพราะในอดีตไม่เคยมีราคาค่าการกลั่นที่ทิ้งราคาค่าน้ำมันดิบได้ถึงเท่านี้

“ค่าการกลั่นเป็นตัวเลขที่สมมุติขึ้นมา ราคาน้ำมันดิบ คือ เงินที่เราต้องจ่ายจริง แต่พอมากำหนดราคาขาย ไม่ได้เทียบกับต้นทุนหรืออะไรเลย เราไปเทียบกับราคาขายของสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินการแต่อย่างใด และสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญของการให้หนี้กองทุนน้ำมันฯเพิ่มขึ้นทุกวัน เพิ่มขึ้นทุกเดือน เดือนละ 2 หมื่นล้านบาท และเป็นสาเหตุสำคัญให้ต้นทุนค่าพลังงานของประชาชนต้องสูงมาก” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ข้อเสนอ ข้อที่สอง เก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) พรรคกล้าถือว่า กำไรที่เกิดขึ้น เป็นกำไรที่ลาภลอยมาให้ผู้ประกอบการ เพราะราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์มีราคาที่ปรับสูงขึ้น ยังไม่นับรวมสต๊อกน้ำมันที่ซื้อมาในราคาที่ถูก แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากส่วนต่างตรงนั้นอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นการเก็บภาษีลาภลอยเป็นการช่วยทำให้เอากำไรที่ได้กำไรเกินควรกลับมาช่วยเหลือประชาชน ลำดับแรก คือ กลับมาช่วยเหลือกองทุนน้ำมันฯ จะได้มีกำลังในการชดเชยช่วยเหลือประชาชนต่อไป

“พรรคกล้าจะไม่รอให้รัฐบาลทำในเรื่องนี้ (กฎหมายภาษีลาภลอย) เพราะเราได้มีการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการขอชื่อสนับสนุนเพื่อยื่นให้รัฐบาลและสภาพิจารณาต่อไป” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ข้อเสนอ ข้อที่สาม รัฐบาลถึงเวลาที่จะต้องจริงจังกับการกำหนดมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน เริ่มต้นด้วยเรื่องง่าย ๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องง่าย ๆ เช่น อนาคตการประชุมสภาระดับอุณหภูมิที่เปิดในสภา ระดัยอุณหภูมิที่เปิดในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีต้องปรับเพื่อประหยัดพลังงาน รวมไปถึงมาตรการการชดเชย ชดเชยในส่วนที่จำเป็น ชดเชยในส่วนที่เดือดร้อนจริง แต่อาจจะทบทวนการเหวี่ยงแหการชดเชยราคาน้ำมันในทุกกรณี ให้กับทุกคน เป็นมาตรการที่เราแบกรับภาระได้ต่อไปหรือไม่

“อีก 10 เดือนจะเข้าสู่การเลือกตั้งอะไรก็แล้วแต่ แต่รัฐบาลต้องกล้าทำเรื่องยาก กล้าที่จะพูดความจริงกับประชาชนในเรื่องการมาตรการการประหยัด เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็น” นายกรณ์กล่าว

บี้ สุพัฒนพงษ์ ไม่ใช่เวลามาเกรงใจเพื่อน

นายกรณ์กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหานี้อยู่ไปอีกนาน ประเด็นจริง ๆ คือ ค่าการกลั่น ที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้ดูต้นทุน ดูราคาที่กลั่นแล้วกับราคาน้ำมันดิบ นำไปสู่คำว่าลาภลอย ควรจะแฟร์ ๆ ที่จะนำกลับมาสู่สังคม ซึ่ง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใช้ประเทศนิดเดียว แต่ส่งออกจำนวนมาก ดังนั้นควรกำหนดค่าการกลั่นในประเทศให้เป็นธรรมมากกว่านี้

“ผมไม่ค่อยเข้าใจว่า ผู้มีอำนาจปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร กระทรวงพลังงานมีอำนาจโดยตรง อยากฝากบอกท่านรัฐมนตรีรู้ดีเพราะเป็นลูกหม้อ ปตท. อยากฝากบอกท่าน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน) ช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะมาเกรงใจเพื่อน ๆ มันมีวิธีที่เราสามารถช่วยเหลือบ้านเมือง ช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ท่านต้องรีบตัดสินใจ กระทรวงการคลังก็มีส่วน เพราะมีหุ้นอยู่ในโรงกลั่น ต้องใช้ทุกพลังที่มีในการหาความเป็นธรรมให้กับสังคมไทย”

คำถาม คือ ทำไมถึงไม่ทำอะไร ทำไมถึงปล่อยให้กองทุนน้ำมันฯ ติดหนี้ จนกำลังจะเด้งแล้ว เพราะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถที่จะชดเชยให้กับคนไทยได้ต่อไปแล้ว เพราะไม่มีใครปล่อยเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ มีอำนาจที่จะใช้ช่วยเหลือประชาชนได้ก็ต้องใช้ ผมไม่ได้มามีประเด็นว่า ใครต้องอยู่ในตำแหน่งหรือไม่อยู่ในตำแหน่ง แต่ตราบใดที่อยู่ในตำแหน่ง ขอให้ทำทุกอย่างที่ทำได้และควรจะทำเพื่อช่วยประชาชน” นายกรณ์กล่าว

ล่า 1 หมื่นรายชื่อเสนอ กม.ภาษีลาภลอยปิโตรเลียม

นายกรณ์กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้กำลังเข้าสู่วิกฤตจริง ๆ เรานิ่งดูดายไม่ได้เลย เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก วันจันทร์เราต้องทำใจ ตลาดหุ้นไทยเปิดมา ไม่น่าจะรอด หนึ่งในต้นตอเงินเฟ้อ คือ ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อเป็นภัยอันตรายต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย มากกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจจะช้าลง เศรษฐกิจโตคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ นายทุน ผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และเป็นประเด็นที่ท้าทาย

“เป็นปีที่ 2 ที่บัญชีเดินสะพัดติดลบ เป็นสาเหตุสำคัญให้ค่าเงินบาทอ่อน ในอนาคตพรรคกล้าจะนำเสนอคำตอบว่าเราจะเผชิญกับประเด็นปัญหานี้อย่างไร จะสร้างรายได้ให้บัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้อย่างไร เราสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าเงินออกนอกประเทศอีกครั้งได้อย่างไร เพื่อให้คนไทยมีเงินในกระเป๋า ทำให้ค่าเงินบาทมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยโดยตรงในการกดอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน โดยพี่น้องคนยากคนจน” นายกรณ์ทิ้งท้าย

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า การเก็บภาษีลาภลอย ในอดีตรัฐบาลยุคคสช.เคยจะนำมาใช้ในกรณีอสังหาริมทรัพย์ หรือเรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และปัจจุบันหนี้จุกอก ทั้งหนี้สาธารณะ รวมถึงกองทุนน้ำมันฯ ไม่มีความสามารถที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ และหนี้กึ่งการคลัง ต้องคิดฉีกออกจากกรอบ

“ขณะนี้ผมกำลังเตรียมร่างกฎหมายการเก็บภาษีลาภลอยจากปิโตรเลียมฉบับนี้ เรื่องค่าการกลั่น ซึ่งการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ 1 หมื่นรายชื่อ ซึ่งผมคิดว่าจะช้า ไม่ทันหนี้กองทุนน้ำมันที่จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท จึงขอให้รัฐบาลทำร่างกฎหมายการเก็บภาษีลาภลอยฉบับ ครม.จะรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง การช่วยเหลือประชาชนด้วยการชดเชยกองทุนน้ำมันฯก็จะเดินต่อไปได้” นายอรรถวิชช์ตบท้าย