กลุ่มโรงกลั่นฯ ส.อ.ท. นำเสนอข้อเท็จจริงประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน

ปั๊มน้ำมัน

กลุ่มโรงกลั่น ส.อ.ท. นำเสนอข้อเท็จจริงประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน ยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น ต้องบวกค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการ ที่ผ่านโรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันปี 2563 กว่า 30,000 ล้านบาท แต่ยังลงทุนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มโรงกลั่นฯ) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ชาติพันธมิตรยกระดับ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น สหรัฐ สั่งห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ขณะที่อังกฤษก็ได้ประกาศยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปี 2565 เช่นกัน รวมถึงยุโรปมีแผนที่จะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในปีนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้นและมีความผันผวน อย่างมาก ทำให้ราคาน้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นฯ มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

“ในสังคมกล่าวถึงประเด็น ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับนั้นสูงขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินหรือดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าการกลั่นไม่ได้คำนวณจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเบนซินและดีเซล เทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิงเท่านั้น แต่ต้องนำส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต (%Yield) ที่โรงกลั่นผลิตได้

ซึ่งรวมถึงก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันเตาที่มีราคาต่ำกว่าราคา น้ำมันดิบมาคำนวณรวมทั้งหมดเทียบกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมี่ยมของน้ำมันดิบ (Crude Premium) หรือราคาส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง และค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังประเทศไทย เช่น ค่าขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ ค่าประกันภัย เป็นต้น รวมถึงต้องหักลบต้นทุนค่า พลังงานความร้อน ค่าน้ำและค่าไฟที่ใช้ในการกลั่นอีกด้วย“

“ค่าการกลั่นที่คำนวณได้ดังกล่าวยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินการ ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและภาษี เป็นต้น เมื่อนำค่าการกลั่นมาหักลบกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงกำไร/(ขาดทุน) จากการบริหารความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) และสต๊อกน้ำมัน จึงจะสะท้อนกำไรสุทธิที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับจริง ดังแสดงในกราฟด้านล่าง ซึ่งเป็นการแสดงองค์ประกอบของราคาต่าง ๆ ที่นำมาคำนวณเป็นประมาณการค่าการกลั่นในไตรมาสที่ 1 ปี 2565”

ดังนั้น หากพิจารณากำไรที่แท้จริงที่กลุ่มฯโรงกลั่นฯ ได้รับนั้น จะเห็นว่ากลุ่ม ณ โรงกลั่นฯไม่ได้มีกำไรสูงตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด อีกทั้งกลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหากราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวลดลงในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรของธุรกิจน้ำมันที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยสามารถดูได้จากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ ชัดและกลุ่มฯ โรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 เป็นจำนวนเงินรวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ยังคงต้องแบกรับการขาดทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง“

นอกจากนี้กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ได้ลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่น น้ำมันต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ และเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลัก ESG (Environment, Social and Governance) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล เช่น โครงการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่ต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ขณะนี้ราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนสูง ซึ่งกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลก กลุ่มฯโรงกลั่นฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป