ชงแบงก์ชาติ ประชุม กนง.ฉุกเฉิน กรณ์ อดีต รมว.คลังเสนอ

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ประชุมฉุกเฉิน หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง เสนอว่า หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับอัตราดอกเบี้ย 0.75 % เป็นสาเหตุให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมา มีผลต่อเงินเฟ้อของไทยโดยตรง ราคาน้ำมันก็แพงขึ้น  ดังนั้น แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.  เพิ่งประชุมเมื่อสัปดาห์ ที่แล้ว มีมติไม่ปรับดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 แต่ผู้ว่าฯธปท.ส่งสัญญาณว่า เดี๋ยวคงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยแน่นอน

นายกรณ์ ตั้งประเด็นว่า “คำถาม คือ ถ้าสมมติธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงแบบนี้ เราต้องเรียกประชุมฉุกเฉินไหม หรือต้องรอให้ถึงเดือนสิงหาคม ที่ กนง. จะประชุมอีกรอบหนึ่ง อีกนานนะ ระหว่างนั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยถ่างออกไป เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออกจากต่างประเทศมากเกินไปหรือเปล่า”

อดีต รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ถ้าแบงก์ชาติ โดย กนง. จัดประชุมเร่งด่วนก็คงต้องมีกระบวนการ ในการอธิบาย มีข้อมูลอะไรที่มีนัยสำคัญที่ไม่รู้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีเหตุจำเป็นต้องคิดกันใหม่หรือไม่

ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าถึงอย่างไร ก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว ปีนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง จาก 0.5 เป็น 1 กลางปีหน้า หรือ ปลายปีหน้าอาจจะเห็น 2 % เป็นการส่งสัญญาณว่า เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาหลัก ต้องรีบแก้ไข

อันดับแรกต้องแก้เงินเฟ้อก่อน เพราะมีผลกระทบกับคนยากคนจน ถ้าไม่แก้เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางด้านราคา เศรษฐกิจโตยาก ต้องสยบเงินเฟ้อก่อน ค่อยว่ากันในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายกรณ์ คาดการณ์ว่า ประเทศอื่น ๆ กำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย แล้วเราไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากก็เปลืองกระสุน สวนกระแสไม่มีประโยชน์ เศรษฐกิจจะไม่ดีไปอีกยาว แนวโน้มที่สถานการณ์จะยืดเยื้อ แล้วจะทำอย่างไร

สำหรับความผันผวนในการลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น อดีต รมว.คลังกล่าวว่าคำแนะนำก็คือการประเมินความเสี่ยงในการลงทุน และการใช้จ่าย ที่ต้องทำในทุกระดับทั้งในเรื่องของบุคคล องค์กรบริษัท และในระดับประเทศ การใช้จ่าย ที่ต้องเริ่มมีการลดการใช้จ่าย และการก่อหนี้โดยขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะก่อหนี้มากจนเกินตัวเนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น

สำหรับในมุมของนักลงทุนในช่วงเวลานี้สินทรัพย์เสี่ยงทั้งหุ้นและสกุลเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซีปรับตัวลดลงมาก แต่หากเป็นนักลงทุนที่ถือสินทรัพย์เพื่อลงทุนในระยะยาว แล้วยังคงมั่นใจในพื้นฐานของสิ่งที่ลงทุนก็สามารถที่จะถือลงทุนในระยะยาวต่อไปได้ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลหากสามารถที่จะถือลงทุนผ่านช่วงเวลาที่มีความผันผวนก็จะสามารถที่จะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อเนื่องไปได้ และการลงทุนในหุ้นนักลงทุนระยะยาวจะทราบดีว่าตลาดหุ้นนั้นปรับตัวลงแรงหนึ่งปีแล้วจะมีช่วงระยะเวลาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ 10 ปี  

ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ หรือเหรียญที่อยู่ในบล็อกเชนต่างๆ ต้องลองพิจารณาดูว่าพื้นฐานของเหรียญว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลง อนาคตยังมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถที่จะถือลงทุนไปได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงแบบที่เป็น Stable Coin แล้วไม่ได้ Stable จริงแบบบางเหรียญที่มีการลดมูลค่าลงอย่างมากก่อนหน้านี้ก็ถือว่าไม่สามารถที่จะลงทุนได้ คือต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนอยู่เสมอ