กรณ์ผิดหวังประยุทธ์ ตั้ง ครม.เศรษฐกิจแก้วิกฤตพลังงานกำมะลอ

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

กรณ์ผิดหวังประยุทธ์ไร้มาตรการแก้ราคาน้ำมัน ตั้ง คกก.แก้วิกฤตพลังงานซ้อน ครม.เศรษฐกิจ ติดหล่มรัฐราชการ “คนในวงการ” ถูกทำให้ดูสลับซับซ้อน จี้ขุนคลังใช้ความกล้าหาญ เก็บภาษีลาภลอย

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังทราบผลประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงเย็นของวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า รู้สึกอึดอัดผิดหวังกับผลการประชุมในวันนี้มาก เนื่องจากไม่มีมาตรการอะไรที่ชัดเจน นอกจากการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทับซ้อน ครม.เศรษฐกิจอีก 2 ชุด โดยมีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธานอย่างละชุด แทนที่จะให้ ครม.เศรษฐกิจทำหน้าที่เองให้เต็มที่

นายกรณ์กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคกล้าได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน พร้อมเสนอทางออกให้มากมาย นำไปสู่การประกาศโรงกลั่นบริจาคเงินเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 8,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน เท่ากับ 24,000 ล้านบาท จนถึงวันนี้เงียบไม่รู้ว่าได้ดำเนินการไปแค่ไหนอย่างไร

นายกรณ์กล่าวว่า รวมถึงที่นายกรัฐมนตรีเรียก รมว.พลังงาน และ รมว.พาณิชย์เข้าพบปัญหามันควรจะจบนับตั้งแต่วันนั้น เพราะข้อมูลของทั้งสองท่านต้องมีครบถ้วน และมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ ขนาดพวกเราไม่ได้เป็นรัฐบาลยังสามารถติดตามข้อมูลจากทางราชการเพื่อประเมินสถานการณ์นำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาได้

“การตั้งกรรมการมีคนนั่งล้อมวงตามวัฒนธรรมการทำงานราชการไทย ไม่มีใครกล้าพูดหรือเสนออะไร ท่านนายกฯ นั่งหัวโต๊ะว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งมันไม่ได้นำไปสู่การมีข้อสรุปหรือนโยบายใด ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนได้ ขอย้ำว่าประชาชนเดือดร้อน น้ำมันแพง ของแพง มันเป็นภาระกับประชาชนโดยตรง มันไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า จริง ๆ การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยาก มันมีมาตรการและทางออกที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่มีคนในวงการทำให้ดูสลับซับซ้อนเพื่อที่สุดท้ายจะทำให้ไม่มีคำตอบ” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า วันนี้ที่รัฐบาลทำได้ทันทีคือการเก็บภาษีลาภลอย โดย รมว.คลังมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ ซึ่งทั้งโลกเขาพูดกันเรื่องนี้ หลายประเทศเขาก็ทำกันทั้งอังกฤษ อเมริกา และล่าสุดก็อินเดีย ซึ่งมีโครงสร้างเหมือนประเทศไทย ทั้งนำเข้าน้ำมันดิบสูง มีอุตสาหกรรมโรงกลั่นที่สามารถกลั่นได้สูงเกินความจำเป็นในประเทศ และส่งออกได้มากเหมือนประเทศไทย

นายกรณ์กล่าวว่า อินเดียเชื่อในหลักเกณฑ์การค้าเสรีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของกฎเกณฑ์กติกา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งถ้าในสถานการณ์ปกติรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะเน้นในเรื่องความโปร่งใสและเป็นธรรม แต่สถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ปกติ เพราะฉะนั้น เพื่อสังคมและความอยู่รอดของประชาชน รมว.คลังอินเดีย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นที่ฟันกำไรมหาศาล เพื่อนำเงินภาษีเข้ารัฐกลับคืนมาสู่ประชาชน

“ตรรกะนี้ความจริงน่าเสียดายที่เป็นคำพูดจากปากของ รมว.คลังของอินเดีย แต่ผมอยากได้ยินจากปาก รมว.คลังของประเทศไทยเรามากกว่า เพราะสถานการณ์เหมือนกัน ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเหมือนกัน ภาระรัฐบาลเหมือนกัน สิ่งที่จะเพิ่มให้อีกข้อคือ กำไรจากภาคเอกชนที่สูงกว่าปกติ และโรงกลั่นที่มีกำลังการกลั่นส่วนใหญ่มีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่


คุณมีหน้าที่ดูแลผู้ถือหุ้น ใช่ แต่เงื่อนไขที่เขายอมให้เข้าตลาดหุ้นแต่แรก คือ คุณต้องไม่ลืมหน้าที่ต่อสังคมด้วย คุณสวมหมวกสองใบ วันนี้สังคมเดือดร้อนจะมาอ้างสิทธิของผู้ถือหุ้นเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้น วันนี้สังคมเดือดร้อนก็มีความชอบธรรมในการใช้มาตรการภาษีลาภลอยมาแก้ปัญหาให้กับประชาชน” อดีต รมว.คลังกล่าว