ประยุทธ์ ตั้ง ครม. เศรษฐกิจ ผ่าทางตันวิกฤตพลังงาน

รูปหมู่คณะรัฐมนตรี

ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะสภาความมั่นคง ถกวิกฤตพลังงาน-เงินเฟ้อ-ความมั่นคงทางอาหาร มาราธอนเกือบ 3 ชั่วโมง ไฟเขียว ตั้ง ครม.แก้วิกฤตเศรษฐกิจ นั่งประธานเอง คลอดแผนเตรียมพร้อมวิกฤตเศรษฐกิจ 3 เดือน – 1 ปี สั่งหาแหล่งพลังงานเพิ่ม เล็ง อ่าวไทย-อันดามัน เปิดทางถก พื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลไทย-เขมร เลขาฯกฤษฎีกา เผย ตอบกลับความเห็นทาง กม.รีดกำไร 6 โรงกลั่นเร็ว ๆ นี้

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พล.ท.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ลงมาแถลงข่าวภายหลังจากการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการวิกฤตเศรษฐกิจ โครงสร้างคล้ายกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ

โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการเฉพาะกิจ (คณะทำงาน) เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอการแก้ปัญหาทุกมิติเพื่อจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคตด้วย โดยมีกระทรวงการคลังเป็นประธาน (ปลัดกระทรวงการคลัง หรือ นายอาคม พิทยาไพสิฐ รมว.คลัง) ทั้งนี้ ไปหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอกชนต่อไปด้วย สุดท้ายจะนำไปสู่การหารือใน ครม.

“พลังงานต้องไม่ขาดแคลน มีเพียงพอ ไฟต้องไม่ดับ อาหารวันหน้าต้องเตรียมความพร้อมเป็นแหล่งอาหารของโลก พัฒนาเรื่องการเกษตร ปัญหาที่มีวันนี้ อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ ต้นทุนปุ๋ย ต้นทุนการผลิต จะสร้างความมั่นคงได้อย่างไร ต้องขับเคลื่อนในเรื่องนำแร่โพแทชมาทำปุ๋ย

เรื่องพลังงานผมให้ไปหารือเราจะหาแหล่งพลังงานเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ในอ่าวไทย หรืออันดามันก็แล้วแต่ จะขุดเจาะน้ำมันได้เพิ่มขึ้นได้บ้างไหม จะต้องมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) เพราะวันหน้าเราพึ่งพลังงานจากประเทศไกล ๆ เป็นไปไม่ได้ พลังงาน ก๊าซ มาจากประเทศรอบบ้านเราทั้งนั้น ถ้ามีปัญหากับรอบบ้านจะเกิดอะไรขึ้น การค้าชายแดนมีปัญหา พันกันหมด ทำอะไรต้องระมัดระวังอย่างที่สุด”

เมื่อถามว่าพื้นที่ทับซ้อนด้านพลังงานระหว่างไทย-กัมพูชาจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ต้องไปหารือกัน อย่าไปใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนเลย เราจะหาทางพูดคุยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทางทะเลได้หรือไม่ เพื่อเดินหน้าไปสู่การเจรจาพูดคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่าไปพันกับเรื่องเขตแดนเลย เดี๋ยวจะเป็นปัญหาใหญ่ ต้องดูว่าวันนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ไม่ทำก็ได้ แต่เดือดร้อนหรือไม่ ต้องไปชั่งน้ำหนัก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ เกษตรและอาหาร ราคาสินค้า การคลัง และพลังงาน รวมถึงประเด็นด้านกฎหมายระยะ 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย. 65) มาตรการใดจะสามารถขยายระยะเวลาต่อไปได้ และมาตรการใดจะเพิ่มเติมให้อีกได้ ระยะ 6 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.65) จะมีมาตรการอะไรออกมาได้อีกหรือไม่ หรือไม่สามารถขยายออกไปต่อไม่ได้แล้ว

เพราะทำแล้วจะเกิดปัญหาทางด้านการเงินการคลัง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และแผนระยะมากกว่า 1 ปี ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อต่อไปถึงปีหน้า (ม.ค.-มี.ค.66) จะทำอะไรได้บ้าง หลายอย่างยังทำได้ แต่หลายอย่างอาจจะต้องลดลง สุดท้ายให้เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อน

“วันนี้สิ่งที่สรุปมาคือ เราเตรียมมาตรการ 3 เดือน สิ่งที่เราเคยให้ไปแล้วตอนนี้ เราจะให้อะไรเพิ่มได้อีกหรือไม่ จะดูแลตรงไหนได้บ้าง เรามีเงินอยู่เท่าไหร่ หาเงินได้อีกที่ไหน ใช้กู้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ก็มีผลต่อสถานะทางการเงินระยะยาว การบังคับอะไรที่กฎหมายทำไม่ได้ ทำไปก็เสี่ยงต่อการฟ้องร้อง ต้องระมัดระวังถึงที่สุด ค่าการกลั่นที่พูด ๆ กัน มีกฎหมายอยู่ทุกตัว เดี๋ยวกฤษฎีกาก็คงชี้แจง ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร ถ้าทำได้จริงก็ทำได้

วันนี้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงมาแล้ว มีกฎหมายอยู่หลายตัว ว่า เรื่องอะไรทำได้ เรื่องอะไรทำไม่ได้ อันนี้ทำแล้วถูกฟ้องร้อง ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร เพราะมีกฎหมายคุ้มครองตัว เราพยายามทำให้ได้มากที่สุด”

เมื่อถามว่า จะมีแคมเปญประหยัดพลังงานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูเรื่องเครดิตพลังงาน หรือ เทคเครดิต แต่ต้องหาเงินจากที่ไหน ต้องขอความร่วมมือหรือไม่ กำลังพิจารณา

เมื่อถามว่า จะออกเป็นข้อบังคับเรื่องประหยัดพลังงานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายบอกมาว่า การออกเป็นกฎหมายต้องเป็นเรื่องจำเป็นเด็ดขาดถึงจะทำได้ เพราะเป็นความเสี่ยงสูง

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกากล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังสอบถามความเห็นเรื่องการใช้กฎหมายบังคับให้โรงกลั่นนำกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า กระทรวงพลังงานเพิ่งส่งหนังสือสอบถามความเห็นไป คาดว่าจะใช้เวลาตอบกลับไม่นาน ไม่น่าจะถึง 1 เดือน