เปิดเสวนา ‘นิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด’ ย้ำหัวใจของโครงการทุนกรุงไทยการไฟฟ้า สร้างโอกาสการศึกษาคือการสร้างคน สร้างความยั่งยืนที่ส่งผลต่อประเทศ

เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ท้งในปัจจุบันและส่งผลต่ออนาคต ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรหยุดพัฒนาองค์ความรู้ด้วย “การศึกษา”  อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต รวมถึงการสร้างกลไกขับเคลื่อนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษที่องค์กรของภาคเอกชนได้ดำเนินงานเพื่อสังคมด้านการให้โอกาสทางการศึกษา โดยที่ไม่เคยบอกให้สังคมรู้ว่าเป็นผลงานของตนเอง และเพื่อตอกย้ำการสนับสนุนแนวคิด “สร้างคน สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด” พร้อมสร้างเครือข่ายการพัฒนาเยาวชนให้กับประเทศ จึงได้จัดงาน 22 ปี โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา

ภายในงานนอกจากก้าวย่างความสำเร็จ และการถอดบทเรียนของกาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมหิดแล้ว ที่น่าสนใจ ไปกว่านั้นคือการแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “นิเวศการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด” นำโดย นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย   และ นางสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย ผู้บริหารโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด  พร้อมด้วย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเครือข่ายสำคัญ เข้าร่วม

นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย กล่าวว่า   ผมไม่เคยคิดว่าจะทำมาเพื่อเป็นชื่อเสียงทางธุรกิจ จึงไม่เคยได้บอกใคร เราแค่อยากให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็ก และส่งเสริมพวกเขาให้ได้รับการพัฒนาทักษะที่สำคัญ ปลูกฝังสิ่งที่เขาควรทำประโยชน์คืนสังคม วันนี้หากจะมีหน่วยงานไหนคิดว่าสามารถนำสิ่งที่เราทำไปต่อยอด หรือใช้ประโยชน์ได้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะดีกับสังคมและประเทศ เพราะเยาวชนคืออนาคตของประเทศ                                                                                                           

อีกทั้งยังมีการจัด ค่ายการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษากรุงไทยการไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการแนะแนวทางการศึกษาแล้ว ยังทำให้เหล่าเด็กทุนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน  พร้อมเผชิญโลกภายนอกอันกว้างใหญ่ ทั้งคนที่ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“สิ่งที่ทำไปทั้งหมด ไม่ได้สร้างคนไว้เพื่อโครงการฯ หรือบริษัทฯ แต่เป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลที่พร้อมส่งแรงกระเพื่อมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเชื่อว่าแต่ละคนจะส่งต่อความมุ่งมั่น ความรู้ และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป”

นางสงวนศรี สุทธิพงษ์ชัย กล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญของโครงการทุนฯ ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ชัดเจน รวมถึงระบบการจัดการที่ดี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก อีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือการพบนักเรียนทุน ผู้ปกครอง และโรงเรียน ซึ่งใช้เวลากว่า 4 เดือนในการเดินทางทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อวัตถุประสงค์ของโครงการทุนฯ ให้เห็นภาพร่วมกัน 

 ปณิธานอันแรงกล้าในฐานะเอกชนที่สนับสนุนในการส่งต่อโอกาสให้เด็กยากจนมากถึงสองพันกว่าคน  ในวันนี้ เพื่อให้การส่งต่อผ่านตัว คน ที่เป็นศิษย์เก่าที่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ทำประโยชน์ให้กับสังคมที่พวกเขาอยู่  เราพร้อมสนุบสนุนให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกับเครือข่าย   เพื่อให้โครงการทุนฯ นี้เป็นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างครบเครื่อง ทั้งสร้างโอกาสให้ผู้เรียน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ รวมถึงสร้างแนวคิดส่งต่อเครือข่ายได้อย่างแท้จริง 

ก้าวต่อไปของโครงการทุนฯ คือการสร้างภาคีเครือข่าย เพราะเมื่อเหล่านักเรียนทุนเติบโตขึ้นจะสามารถนำไปต่อยอดได้ พร้อมเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งวันนี้ได้ต่อยอดคำว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดให้เป็นรูปธรรมโดยในปี 2566 เราให้ความสำคัญกับการพัฒนา บุคลากรครู จึงได้ร่วมมือกับ โครงการก่อการครู มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ต้องขอบคุณที่ปรึกษาที่ทำให้รู้จักคำว่า ‘เด็กชายขอบ’ จากการรับรู้นั้นจึงนำไปสู่คำว่า ‘เด็กตระเวนชายแดน’ พร้อมขยายขอบเขตการช่วยเหลือสามเณรจำนวน 80 ทุน และทำให้เกิดภิกษุสงฆ์เพื่อสืบศาสนทายาท จำนวน 3 รูป นอกจากนี้วันนี้ยังได้ต่อยอดภาคี โดยร่วมกับโครงการก่อการครู ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นครูที่มีคุณภาพ เชื่อมหลักสูตร เชื่อมท้องถิ่นและเชื่อศิษย์ให้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรุู้ของพื้นที่ภาคอีสานที่ได้ผลอีกด้วย”

ด้าน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข กล่าวว่า  เราให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่พัฒนาของครู ที่เชื่อมศิษย์ เชื่อมท้องถิ่น ไม่แยกจากสังคม   โครงการทุนการศึกษาจึงร่วมสนับสนุน   “โครงการก่อการครู” ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ทางคณะได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาศักยภาพครู และเยาวชนแต่ละพื้นที่ในบริบทต่างๆ ให้พร้อมพัฒนาตัวเอง มีพื้นที่พัฒนาความคิดที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ และไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวจากการคาดหวังจากสังคมเพียงทางเดียวโดยไม่มีการสนับสนุนพัฒนาทักษะและเส้นทางอาชีพ   

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อดิศร มองว่า สังคมไทยยังขาดคนที่มีความเข้าใจเยาวชน ดังนั้นจึงพยายามทำความเข้าใจ และมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงาน นับเป็นการวางรากฐานระยะยาวให้กับสังคมไทย และเชื่อว่าครูที่ทำงานในหลากหลายพื้นที่ต่างต้องการเห็นเยาวชนที่ร่วมงานเติบโตอย่างมีคุณภาพ ยึดถือหลักคุณธรรมจริยธรรมที่ตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิต และเป็นพลเมืองที่พร้อมจะช่วยพัฒนาประเทศ

“ผู้บริหารโครงการทุนฯ ท่านลงรายละเอียดและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่ครูรุ่นใหม่ที่ขาดการสนับสนุนในภาคอีสาน  ผมคิดว่าทั้งสองท่าน มีความตั้งใจสูง มีปณิธานที่จะการสร้างคนที่มีคุณภาพในมิติที่ตอบโจทย์ได้จริงกับสังคมไทย  ท่านมีวิสัยทัศน์ที่รู้ว่าครูคนหนึ่งนั้นมีบทบาทสำคัญต่อนิเวศการเรียนรู้อย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ไม่มีทางจะสูญหายไป เพียงแต่จะไปออกดอกออกผลในพื้นที่ บริบท และมิติต่างๆ นับเป็นความยั่งยืนที่ส่งผลต่อสังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งคุณค่าเหล่านี้จะส่งต่อไปสู่การทำงานของเครือข่ายต่อไป”

ก้าวต่อไปของโครงการทุนฯ หลังจากนี้ คือการส่งต่อแนวคิดและพิสูจน์ให้เห็นถึงการผนึกกำลังด้านการศึกษาให้กับองค์กรสำคัญระดับประเทศ พร้อมสนับสนุนภาคีเครือข่ายเชื่อมต่อกับสังคม เพื่อสร้างความต่อเนื่องด้านการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง