ถ้าเราลองสังเกตดูจะพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่วนใหญ่มักจะมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การมีน้ำหนักเกินเป็นประตูบานแรกที่เปิดโอกาสให้ความเสี่ยงของโรคเหล่านั้นถาโถมเข้ามาทำร้ายต่างหาก เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เรามาค้นคำตอบไปด้วยกัน…
ทำไมอ้วนแล้วเสี่ยงเป็นโรคได้ง่าย
คนที่เป็นโรคอ้วน หรือ BMI เกินกว่า 30 จะมีโอกาสเกิด ”โรคร่วม” ในกลุ่ม “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดในสมองแตก-ตีบ-ตัน และโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 2 เท่า โรคความดันโลหิตสูงประมาณ 4 เท่า แต่การเกิด “โรคเบาหวาน” จะสูงมากถึง 18 เท่า
ทำไมผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจึงมีโอกาสเกิดเบาหวานเพิ่มขึ้นมาก นั่นเป็นเพราะว่าผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนเป็นผู้ได้รับแคลอรี่มากกว่าแคลอรี่ที่ใช้ไป โดยมากแล้วเวลาที่ร่างกายได้รับแคลอรี่เยอะ ร่างกายจะต้องใช้อินซูลินในการนำน้ำตาลและไขมันส่วนเกินเข้าเซลล์ เมื่อนำน้ำตาลและไขมันเข้าเซลล์เป็นจำนวนมาก ๆ จะทำให้เซลล์แตกออก จากนั้นเซลล์ก็จะส่งสารไปบอกเซลล์ข้างเคียงว่าไม่ควรรับน้ำตาลและไขมันเข้าเซลล์ไปมาก ๆ เพราะจะทำให้เซลล์แตกได้เพราะฉะนั้นร่างกายเราเลยปรับตัวให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินนั้นนำน้ำตาลและไขมันเข้าเซลล์ไม่ได้ซึ่งภาวะดื้อต่ออินซูลินนี่เองที่เป็นภาวะที่เกิดก่อนที่จะเกิดเบาหวานขึ้นมา ในคนที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินก็จะตรวจพบน้ำตาลเริ่มสูงและไขมันไตรกลีเซอไรด์เริ่มสูงได้
นพ.อรรถสิทธิ์ ศักดิ์สุธาพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย อธิบายว่า “ผู้มีภาวะโรคอ้วนมีความไม่สมดุลของสารอาหารที่ร่างกายได้รับ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ขณะที่วิตามินและแร่ธาตุน้อย จึงส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ดี ดังนั้น เราจึงพบว่าผู้มีภาวะโรคอ้วนจะมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะโรค COVID-19 ที่ผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงต่อเมื่อมีการอักเสบที่สูงขึ้นมาก ๆ ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจะมีการสะสมของไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งไขมันเหล่านี้จะสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นมา ดังนั้น เมื่อติดเชื้อโควิด จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีค่าการอักเสบที่สูง และทำให้อาการป่วยทวีความรุนแรงมากขึ้นได้
เริ่ม เมตตาบอลิก โปรแกรมมิ่ง ลดอ้วน ต้องสม่ำเสมอ
“หัวใจของการลดน้ำหนัก คือการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ทั้งหมด ทั้งการกิน อยู่ หลับ นอน การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่คงอยู่ยาวนาน และโอกาสการกลับมาอ้วนใหม่จะน้อยลง โดยมีความสม่ำเสมอเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวและเสริมว่า “หลายคนเคร่งครัดกับการลดน้ำหนักมาก แต่เมื่อน้ำหนักลดลงแล้ว ก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ซึ่งน้ำหนักก็จะดีดกลับขึ้นมาอีก ดังนั้น วิธีการหรือรูปแบบของการลดน้ำหนักที่ถูกปรับให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์จึงเป็นแนวทางที่ได้ผลดีที่สุด”
แนวทางการลดน้ำหนักอย่างได้ผล มีดังนี้
- ปรับไลฟ์สไตล์ในการนอน ไม่นอนดึก การนอนดึกจะขัดขวางการฟื้นฟูของสภาพร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถในการเผาผลาญ เราควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และนอนก่อน 4 ทุ่ม
- บริหารอารมณ์อย่าให้เกิดความเครียด เพราะความเครียดทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ มีผลต่อการเก็บไขมันของร่างกาย
- ควบคุมอาหาร โดยการลดพลังงานจากอาหารที่บริโภคลงประมาณ 500 แคลอรี่ จากพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน คำนวณจากน้ำหนักตัวคูณ 30 ลบด้วย 500 เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กก. x 30 = 1,800 แคลอรี่ต้องลบออกไปอีก 500 แคลอรี่ จึงเท่ากับควรได้รับแคลอรี่เพียง 1,300 แคลอรี่ในแต่ละวันเพื่อให้ควบคุมน้ำหนักได้
แต่เมื่อควบคุมอาหาร สารอาหารที่ร่างกายได้รับจะลดลง ฮอร์โมนต่างๆ ลดลง การเผาผลาญก็ลดลง ดังนั้น การลดปริมาณอาหารจึงต้องสัมพันธ์กับสารอาหารที่ร่างกายได้รับ และเพิ่มสัดส่วนอาหารประเภทผักผลไม้ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยเพิ่มขึ้น การลดปริมาณแคลอรี่ลงเพื่อให้น้ำหนักตัวลดลง จะต้องไม่ลดสารอาหาร เพราะการลดสารอาหารจะทำให้ฮอร์โมนลดลง และการเผาผลาญลดลงตามมา ถ้าเราไม่ลดสารอาหาร ก็จะทำให้ฮอร์โมนไม่ลดลงการเผาผลาญก็จะไม่ลดลงด้วย - ปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก่อนอาหาร
ที่ชอบ เพื่อให้รับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์น้อยได้ลดลง และเลือกอาหารประเภทที่มีไฟเบอร์สูงเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลและไขมันเข้าสู่ร่างกายช้าลง รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน หรือขนมอบประเภทเบเกอรีโดยเริ่มจากการตักคำเล็ก ๆ และเคี้ยวให้นาน ก็จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และทานเป็นมื้อไม่ทานจุกจิก หากทำร่วมกับ Intermittent Fasting ได้ ก็จะยิ่งเห็นผลดียิ่งขึ้น - ค่อย ๆ ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีแคลอรี่ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มมีรสหวานจากส่วนผสมของน้ำตาล หรือกาแฟที่ใส่น้ำตาล เพราะเครื่องดื่มรสหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การลดน้ำหนักไม่สำเร็จ
- การติดหวานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลดน้ำหนักได้ยาก คำแนะนำของการลดการบริโภคหวาน คือการหักดิบ ดูสัก 7 วันเพราะน้ำตาลยิ่งทานยิ่งติด ยิ่งอยากทานอีก แต่ถ้าไม่ทานก็จะไม่ติด และความอยากทานน้ำตาลจะลดลงอย่างมาก
- เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานของร่างกายให้มากขึ้น เดินให้มากขึ้นแทนที่จะขึ้นลิฟต์ ก็เปลี่ยนเป็นขึ้นบันไดเวลาจอดรถอาจจะจอดให้ไกลขึ้น เพื่อจะได้เดินได้มากขึ้น แทนที่จะนั่งทำงานอาจเปลี่ยนเป็นการยืนบ้าง เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง แทนที่จะ ขับรถไปทำงานอาจเปลี่ยนเป็นการใช้รถสาธารณะบ้าง เพื่อให้มีการเดินที่มากขึ้น
ลดอ้วน ลดโรคร่วมเรื้อรัง ที่ร้ายแรง
นอกจากภาวะน้ำหนักเกินที่เป็นสัญญาณความเสี่ยงของการเกิดโรคร่วมอื่น ๆ ตามมา ค่ากรดยูริกและอินซูลินที่สูงก็เป็นอีก 2 สัญญาณที่สำคัญไม่แพ้กัน การได้รับคำแนะนำจากแพทย์จะช่วยให้การประเมินภาวะความเสี่ยงแม่นยำขึ้น สามารถป้องกันและแก้ไขสาเหตุได้ตรงจุด ซึ่งถ้าพบปัญหาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ โอกาสของการใช้ยาในการรักษาโรคร่วมอื่น ๆ ที่ตามมาก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การควบคุมหรือลดน้ำหนักตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นการป้องกันการพัฒนาไปสู่โรคอื่น ๆ ที่ดีที่สุด
“เป็นความจริงที่ว่า ยิ่งกินมาก ร่างกายยิ่งเสื่อมมาก โรคเรื้อรังยิ่งถามหา และลงเอยที่อายุขัยสั้น ระบบเผาผลาญที่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อการเสื่อมในระดับเซลล์ การมีไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมการมีสุขภาพ ทั้งด้านอารมณ์ อาหาร และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะเป็นเกราะป้องกันการมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแบบที่ต้องการได้อย่างมีความสุข” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย